วันพุธที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2549

คติพจน์ของลูกเสือ กับ การพัฒนาองค์กร


คติพจน์ หมายถึง ถ้อยคำที่เป็นแบบอย่าง ที่สามารถนำไปยึดถือ เป็นแนวปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิตได้

คติพจน์ของลูกเสือ เป็นที่รู้จักกันดี แต่อาจจะลืมเลือนไป หากนำมาทบทวนก็จะพบว่า มีความทันสมัย สามารถที่จะนำมาประยุกต์ใช้ได้ในทุกหน่วยงานหรือองค์กรทุกระดับ เป็นการเตรียมความพร้อมของร่างกาย จิตใจ ตลอดจนแนวคิดพื้นฐาน ของบุคลากร เพื่อนำไปสู่การพัฒนาองค์กรตามแนวทางกระบวนการมาตรฐานอื่นๆต่อไป

คติพจน์ของลูกเสือ ประกอบด้วย 4 คติพจน์ เรียงลำดับตามความง่ายยากของการปฏิบัติ เป็นไปตามระดับของลูกเสือ ซึ่งแบ่งตามระดับอายุ คือ ลูกเสือสำรอง(Cub Scout) อายุ 8-11 ปี ลูกเสือสามัญ(Scout) อายุ 11-16 ปี ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่(Senior Scout)อายุ 14-18 ปี และ ลูกเสือวิสามัญ(Rover) อายุ 16-25 ปี ความยากง่ายในการนำคติพจน์ของลูกเสือมาประยุกต์ใช้ ก็น่าจะเรียงไปตามลำดับของลูกเสือเช่นกัน ดังนี้

ทำดีที่สุด (Do Our Best) เป็นคติพจน์ของลูกเสือสำรอง หมายถึงการปฏิบัติหน้าที่ของตนที่มีอยู่ให้ดีที่สุด เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับการบริการที่ดีที่สุด ไม่สนใจเปรียบเทียบหรือแข่งขันผลงานกับผู้อื่น ไม่ใส่ใจว่าผลที่ได้รับจะเป็นชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ เพียงให้ผลงานเป็นตัวพิสูจน์การกระทำ ทำดีที่สุดในทุกสถานการณ์ 

จงเตรียมพร้อม (Be prepared) เป็นคติพจน์ของลูกเสือสามัญ หมายถึง การเตรียมพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นการเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ คือ การเตรียมร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ และ ตื่นตัว ให้พร้อมที่สุด ที่จะปฏิบัติหน้าที่ที่รับผิดชอบ ทบทวนเพื่อให้เกิดความถูกต้อง และทำให้ถูกต้องในทุกกิจกรรมทุกขั้นตอน คำนึงเสมอว่าอาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้และพร้อมรับมือกับปัญหานั้นๆในทุกสถานการณ์ พร้อมทุกขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ และพร้อมที่จะเสี่ยงอันตรายเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น

มองไกล (Look wide) เป็นคติพจน์ของลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ หมายถึง การมองให้กว้างและไกล ฉลาดที่จะมองเห็นความจริงของสิ่งต่างๆ ว่าผลจากการกระทำภารกิจของตน อาจส่งผลกระทบถึงภารกิจอื่น บุคคลอื่น จะประสบผลดี ผลเสียต่อองค์กรส่วนรวม หรือไม่อย่างไร วิเคราะห์และสามารถกำหนดทิศทางเป้าหมาย วางแผน ได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน

บริการ (Service) เป็นคติพจน์ของลูกเสือวิสามัญ หมายถึง การกระทำด้วยความตั้งใจ ที่จะให้ผู้อื่นมีความสะดวกหรือลดปัญหา หรือความทุกข์ หวังเพียงให้ผู้รับบริการได้รับในสิ่งที่เหมาะสมที่สุดเสมอ โดยไม่หวังรางวัลหรือสิ่งตอบแทนใด ๆ 

หากองค์กรทุกระดับ นำคติพจน์ของลูกเสือ ทั้ง 4 ประการ มาประยุกต์ใช้ในภารกิจปกติ ย่อมเป็นการเตรียมความพร้อมของบุคลากร ตั้งแต่การทำดีอย่างเดียว โดยไม่พะวงถึงสิ่งอื่นใด การพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ การมีวิสัยทัศน์(Vision) และ มีจิตใจพร้อมบริการ(Service mind) การพัฒนาองค์กร ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด กระบวนการใด ก็ไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินไป สำหรับทุกองค์กร


[Ref.0007 491011 http://www.scoutthailand.org/ , http://www.inquiry.net/ideals/b-p/motto.htm ,http://www.moe.go.th/scout/knowlage_scout.htm]

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Notes on Weblog Gotoknow 11 Oct 2549 17:16]

ไม่มีความคิดเห็น: