วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กรรมเก่า

๑๘๔

ธรรมดาคนทั้งปวงจะทำสิ่งใด
ก็ย่อมสำเร็จด้วยความคิด
แม้การไม่ตลอดก็เพราะผู้นั้นมีกรรมอยู่

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 78

          ขงเบ้งยกทัพไปเขากิสานเพื่อเผด็จศึกกับเมืองลกเอี๋ยง พระเจ้าโจยอยให้สุมาอี้ตั้งมั่นไว้ ฝ่ายขงเบ้งมิได้เห็นสุมาอี้ออกรบพุ่งเป็นช้านาน จึงวางแผนให้อุยเอี๋ยนคุมทหารไปท้ารบแล้วล่อให้สุมาอี้เข้าไปในช่องแคบที่วางหญ้าฟางเชื้อเพลิงอยู่เป็นอันมาก เมื่อสุมาอี้หลงกลเข้าไปในช่องแคบ ก็จุดคบเพลิงติดชนวนแลดินประสิวไหม้ทหารทั้งปวงก็ตายด้วยเพลิงเป็นอันมาก สุมาอี้เห็นดังนั้นก็สิ้นสติ ตกจากหลังม้าเข้ากอดบุตรร้องไห้ร่ำว่าชีวิตนี้จะถึงที่ตายเป็นมั่นคง แล้วเผ่นขึ้นม้าตกม้าถึงสามครั้งสี่ครั้ง พอเกิดลมพายุใหญ่พัดมาฟ้าผ่าฝนตกลงมาห่าใหญ่เพลิงนั้นดับไปสิ้น น้ำในหุบเขาท่วมประมาณศอกหนึ่ง ฝ่ายขงเบ้งอยู่บนเนินเขา ขณะเมื่อเห็นอุยเอี๋ยนล่อสุมาอี้เข้ามาในหุบเขาเฮาโลก๊กนั้น คิดว่าครั้งนี้สุมาอี้จะตายในเพลิงเป็นมั่นคงแล้ว ครั้งฝนตกลงมาสุมาอี้รอดออกไปจากหุบเขา ขงเบ้งทอดใจใหญ่แล้วว่า ธรรมดาคนทั้งปวงจะทำสิ่งใดก็ย่อมสำเร็จด้วยความคิด แม้การไม่ตลอดก็เพราะผู้นั้นมีกรรมอยู่

กรรม คือ การกระทำที่ส่งผลร้ายมายังปัจจุบัน
กรรม คือ การกระทำซึ่งจะส่งผลร้ายไปในอนาคต
หลายคนเชื่อในเรื่องของกรรม
หลายคนอ้างว่า งานไม่สำเร็จเพราะกรรม
หลายคนอ้างว่า ไม่มีความก้าวหน้าเพราะกรรม
ยอมรับกรรม คือ ยอมรับการกระทำที่ผ่านพ้นไปในอดีต

ติดอยู่ในกรรม ก็คือ ติดอยู่ในกรอบ
เพราะติดกรอบเดิม จึงทำงานไม่สำเร็จ
กรอบเดิม ย่อมใช้แก้ปัญหาที่เวลาเดิม
เมื่อเวลาผันเปลี่ยนไป ปัจจัยย่อมเปลี่ยนแปลง
ติดอยู่กับกรอบเก่า ย่อมทำงานไม่สำเร็จ

ไม่ออกจากกรอบเก่า คือยอมจมอยู่กับกรรม
กรรมเก่าที่ผูกพันติดตามไปเป็นกรรมใหม่ในอนาคต
นี่จึงอาจไม่เพียงเป็นกรรมของตนเองเท่านั้น
หากคงเป็นกรรมของคนร่วมงานรอบข้าง



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

          มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ
          ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
          ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

          ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 
          มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้

ไม่มีความคิดเห็น: