วันเสาร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2560

อับจน

๑๘๒

ท่านจงยกหนุนไปข้างหลัง
ถึงอับจนก็จะได้แก้ไขง่าย

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 77

          ขงเบ้งยกทัพไปเขากิสานเพื่อเผด็จศึกกับเมืองลกเอี๋ยง สุมาอี้ใช้ให้แต้บุ่นแต่งกลอุบายไปเป็นไส้ศึกในทัพขงเบ้ง ขงเบ้งรู้ทันขู่ให้แต้บุ่นเขียนหนังสือนัดแนะสุมาอี้ให้ออกมาปล้นค่ายขงเบ้ง สุมาอี้ก็อ่านทวนไปทวนมาหลายกลับว่าลายมือแต้บุ่นมิได้สงสัย จึงหลงกลยกทหารพาสุมาสู สุมาเจียวผู้บุตรออกปล้นค่ายขงเบ้ง สุมาสูจึงเตือนว่า อย่าเพิ่งเชื่อหนังสือแต้บุ่นก่อน หากขงเบ้งคิดอ่านซ้อนกลก็จะมีอันตราย ขอให้แต่งนายทหารยกไปปล้น ท่านจงยกหนุนไปข้างหลัง ถึงอับจนก็จะได้แก้ไขง่าย

การทำสงคราม ต้องวางแผนการศึก 
แผนการศึกที่ดี ต้องมีทั้งแผนรุกแลแผนรับ
แผนการศึกที่ดี ต้องระวังหน้าป้องกันหลัง
แผนการศึกที่ดี ต้องพร้อมชนะพร้อมแพ้พ่าย
หากชนะ จะเดินหน้าตีเมืองใดต่อ
หากพ่ายแพ้ จะหลบหนีไปที่ใด
แผนการศึกที่ดี แม้อับจน ก็ยังมีหนทาง

การทำงาน ก็ต้องวางแผนการทำงาน
แผนการทำงานที่ดี ต้องมีทั้งแผนรุกแลแผนรับ
แผนการทำงานที่ดี ต้องพร้อมสำเร็จกล้าล้มเหลว
แผนการทำงานที่ดี ต้องรู้ว่าปัจจัยใดนำไปสู่ความสำเร็จ
แผนการทำงานที่ดี ต้องรู้ว่าปัจจัยใดนำไปสู่ความล้มเหลว
เพิ่มจุดแข็งซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จ
ปิดจุดอ่อนซึ่งนำไปสู่ความล้มเหลว

รู้จุดแข็ง ระมัดระวังจุดอ่อน
แม้อับจน ก็ยังมีหนทาง





สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

          มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ
          ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
          ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้
          ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 
          มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้

ไม่มีความคิดเห็น: