วันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ขืนคำโบราณ

๑๗๐

แม้ขืนคำโบราณก็จะฉิบหายจนตัวตาย

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 71

          หลังเสร็จศึกเบ้งเฮ้ก ขณะพระเจ้าโจยอยขึ้นครองสมบัติได้กึ่งปี ขงเบ้งอาสาพระเจ้าเล่าเสี้ยนไปตีเมืองลกเอี๋ยง เมื่อขงเบ้งยกทัพถึงเขากิสาน พระเจ้าโจยอยให้โจจิ๋น กุยห้วย อองลอง ไปทำศึกกับขงเบ้ง อองลองคิดใช้การเจรจากับขงเบ้ง หาว่าขงเบ้งเป็นผู้มีความรู้ดีแต่ไปเข้ากับเล่าปี่ที่เป็นคนพาลชาติต่ำ ขงเบ้งเจรจาโต้ว่า พระเจ้าเล่าปี่ต่างหากที่มาจากเชื้อพระวงศ์ พระเจ้าโจยอยนั่นแหละคืออ้ายพวกโจรศัตรูราชสมบัติ อองลองจึงว่า อันประเพณีการแผ่นดิน จะยึดเอาเป็นเที่ยงนั้นไม่ได้ ผู้ใดมีวาสนามากได้สมบัติก็เรียกว่าเป็นกษัตริย์ คำโบราณกล่าวไว้ว่า เกิดเป็นคนในแผ่นดินให้พิเคราะห์ดูการ ถ้าเห็นผู้ใดมีบุญสมภารมาก ก็ให้เข้านอบนบเป็นข้าอยู่ด้วยผู้นั้นจึงจะได้ความสุข แม้ขืนคำโบราณก็จะฉิบหายจนตัวตาย

คนโบราณ ต้องอาศัยการสั่งสมความรู้
คนโบราณ ต้องทดสอบซ้ำแล้วซ้ำอีก
คนโบราณ จึงได้ประสบการณ์ และข้อสรุป

คำโบราณ จึงเป็นบทสรุปการประมวลผล
คำโบราณ จึงเป็นสิ่งที่คัดสรรแล้ว ทั้งผลบวกแลผลลบ

คนปัจจุบัน หากติดอยู่กับประสบการณ์ของคนโบราณ
คนปัจจุบัน หากติดอยู่กับความเคยชินของคนโบราณ
ก็ย่อมจมอยู่กับซากของความโบราณ

หากไม่กล้าคิดใหม่ หากไม่กล้าทำใหม่
เพียงเพราะเกรงว่าจะ ขืนคำโบราณ
แล้วจะมีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร

ขืนคำโบราณหรือไม่ อยู่ที่คิดไตร่ตรอง
เมื่อสิ่งที่คิดใหม่ เมื่อสิ่งที่ทำใหม่
ก่อเกิดประโยชน์ต่อสังคม
ใยต้องห่วงว่าจะ ขืนคำโบราณ

หรือเป็นเพียงเพราะว่า
สิ่งที่คิดใหม่ สิ่งที่ทำใหม่
แม้ก่อเกิดประโยชน์ต่อสังคม
แต่ยังให้เราเสียผลประโยชน์ส่วนตน

ไม่ขืนคำโบราณ ก็เป็นเพียงแค่ วาทกรรม



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

          มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ
          ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
          ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้
          ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 
          มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้

ไม่มีความคิดเห็น: