วันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2560

วาสนาหัวหน้า

๑๖๘


อันประเพณีการแผ่นดิน จะยึดเอาเป็นเที่ยงนั้นไม่ได้
ผู้ใดมีวาสนามากได้สมบัติก็เรียกว่าเป็นกษัตริย์

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 71

          หลังเสร็จศึกเบ้งเฮ้ก ขณะพระเจ้าโจยอยขึ้นครองสมบัติได้กึ่งปี ขงเบ้งอาสาพระเจ้าเล่าเสี้ยนไปตีเมืองลกเอี๋ยง เมื่อขงเบ้งยกทัพถึงเขากิสาน พระเจ้าโจยอยจึงตั้งให้โจจิ๋นเป็นแม่ทัพ ให้กุยห้วยเป็นปลัดทัพ ให้อองลองเป็นที่ปรึกษา ครั้นยกทัพไปถึง อองลองให้ทหารม้าใช้ไปร้องเชิญแม่ทัพออกมาเจรจา ขงเบ้งจึงขึ้นเกวียน แต่งตัวอย่างมหาอุปราชออกไปเจรจาด้วย เมื่อต่างคนต่างคำนับกันแล้ว อองลองจึงว่าแก่ขงเบ้งว่า เป็นคนมีวิชารู้ขนบธรรมเนียม เหตุใดจึงเข้าเป็นพวกอ้ายคนพาลชาติต่ำ ขงเบ้งจึงตอบว่า เหตุใดจึงเจรจาเช่นนี้ พระเจ้าเล่าปี่ต่างหากที่มาจากเชื้อพระวงศ์ พระเจ้าโจยอยนั่นแหละคืออ้ายพวกโจรศัตรูราชสมบัติ อองลองจึงว่า อันประเพณีการแผ่นดิน จะยึดเอาเป็นเที่ยงนั้นไม่ได้ ผู้ใดมีวาสนามากได้สมบัติก็เรียกว่าเป็นกษัตริย์

ในที่ทำงานหนึ่ง ๆ 
คนเก่ง มีได้หลายคน
แต่หัวหน้าย่อมมีเพียงคนเดียว

คนเก่ง มีได้หลายคน
แต่คนเก่งทุกคนเป็นหัวหน้าไม่ได้
เป็นหัวหน้าได้ จึงเพียงมีความเก่งบางอย่าง

เป็นหัวหน้า จึงมิใช่เก่งทุกอย่าง
เป็นหัวหน้า เป็นเพราะสถานการณ์ต้องการความเด่นนั้น
เป็นหัวหน้า เป็นเพราะมีวาสนา ที่สอดคล้องสถานการณ์นั้น
เป็นหัวหน้า จึงมิใช่เพราะเก่งทุกอย่าง

เมื่อหัวหน้า มิได้เก่งทุกอย่าง
หัวหน้า จึงอย่ามองว่าคนอื่นไม่เก่ง
หัวหน้า จึงพึงรวบรวมความเก่งทุกอย่างจากทุกคน

สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

          มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ
          ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
          ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

          ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 
          มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้


ไม่มีความคิดเห็น: