วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2556

พินิจพิเคราะห์


๖๘

อ้ายจัญไรโฉดเขลาหาปัญญามิได้ ธรรมเนียมมีหรือ
เกิดมาเป็นชายมิได้พินิจพิเคราะห์ ได้แต่หนังสือแล้วก็เชื่อฟังเอา


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 33

เทียหยกทำหนังสือปลอมเป็นลายมือมารดาของชีซี เรียกร้องให้ชีซี
กลับมาอยู่กับโจโฉ มิฉะนั้นมารดาอาจถูกโจโฉทำร้ายเอาได้ ชีซี
หลงเชื่อลาจากเล่าปี่มาอยู่ด้วยโจโฉ ฝ่ายมารดาชีซี ครั้นเห็นชีซี 
มาคุกเข่าคำนับหมอบอยู่ตรงหน้า ก็โกรธร้องด่าชีซีว่า
อ้ายจัญไรโฉดเขลาหาปัญญามิได้ ธรรมเนียมมีหรือ เกิดมา
เป็นชายมิได้พินิจพิเคราะห์ ได้แต่หนังสือแล้วก็เชื่อฟังเอา

พระพุทธองค์ทรงสอนหลัก กาลามสูตร

อย่าเชื่อ โดยฟังตามกันมา
อย่าเชื่อ โดยถือว่าเป็นของเก่าเล่าสืบกันมา
อย่าเชื่อ เพราะข่าวเล่าลือ
อย่าเชื่อ โดยอ้างคัมภีร์หรือตำรา
อย่าเชื่อ โดยคิดเดาเอาเอง
อย่าเชื่อ โดยคิดคาดคะเนอนุมานเอา
อย่าเชื่อ โดยตรึกเอาตามอาการที่ปรากฏ
อย่าเชื่อ เพราะเห็นว่าต้องกับความเห็นของตน
อย่าเชื่อ เพราะผู้พูดควรเชื่อได้
อย่าเชื่อ เพราะผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา
แต่จงเชื่อ ก็ต่อเมื่อได้ศึกษาและวิเคราะห์
พิสูจน์ได้ด้วยข้อเท็จจริงและด้วยเหตุด้วยผล


การทำงาน จึงไม่พึงฟังแต่รายงาน
เชื่อข้อมูลโดยไม่ศึกษาและวิเคราะห์
เชื่อโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริง

พึงพินิจพิเคราะห์ มีสติ รู้เหตุผล ไม่เชื่อง่าย

หมายเหตุ
ในยุคสมัย Social Media กำลังร้อนแรง
อย่าเชื่อ เพราะเป็นข้อความที่ share ต่อๆกันมา
อย่า share เพราะเชื่อ โดยยังมิได้ พินิจพิเคราะห์ ตรวจสอบข้อเท็จจริง

การ share บ่งบอกถึง วุฒิภาวะ
การ share บ่งบอกถึง จิตภาวะ



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย

ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้

1 ความคิดเห็น:

สามก๊กวิทยา กล่าวว่า...

บทความทันสมัย ทันเหตุการณ์มากครับ ช่วงนี้ข่าวShare จากโซเชี่ยลฯ เชื่อถือไม่ได้เลย