วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ปล่อยเสือเข้าป่า ปล่อยจระเข้ลงน้ำ


อุปมาเหมือนปล่อยเสือเข้าป่า แลปล่อยจระเข้ลงในแม่น้ำ


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 19

อ้วนสุดยกทัพจะไปเข้ากับอ้วนเสี้ยว เล่าปี่เห็นได้โอกาสหนีพ้นเอื้อมมือโจโฉ
จึงอาสาโจโฉไปสกัดตีอ้วนสุด เร่งยกกองทัพไปทั้งกลางวันกลางคืน
เทียหยกกับกุยแกทราบข่าวรีบกลับมาจากการหาเสบียง เทียหยกทักท้วงโจโฉว่า
การที่โจโฉปล่อยให้เล่าปี่หลุดมือไป เหมือนปล่อยเสือเข้าป่าปล่อยจระเข้ลงน้ำ
ต่อไปคงจะจับตัวได้ยาก และจะเป็นภัยต่อโจโฉแน่นอน


เสือเป็นสัตว์ป่า แม้เลี้ยงไว้ตั้งแต่เกิด เมื่อปล่อยคืนสู่ป่า สัญชาตญาณ สัตว์ป่าก็จะแสดงออก
จระเข้เป็นสัตว์ร้าย แม้เลี้ยงไว้ตั้งแต่เกิด เมื่อปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำ สัญชาตญาณ สัตว์ร้ายก็จะแสดงออก

แต่หากปล่อยเสือหรือจระเข้ไปอยู่ในสภาวะที่ไม่มีกลิ่นอายของธรรมชาติเดิม
ก็ไม่อาจเร่งเร้าให้เสือและจระเข้คืนความดุร้าย

ปัจจัยของการแสดงออกของสัญชาตญาณ จึงอยู่ที่
1. พันธุกรรม
2. สภาวะแวดล้อม

คนไม่ดีในองค์กร จึงมิใช่อยู่ที่ความเป็นคนไม่ดีเท่านั้น ยังเพราะ สภาวะแวดล้อมในองค์กร ด้วย

หากจำเป็นต้องปล่อย คนไม่ดีในองค์กร ไปอยู่ในสังคมใหม่ ให้ไกลหูไกลตา
ต้องมีระบบควบคุมที่ดี
อย่าให้มีโอกาสใช้ พันธุกรรม ไปก่อกวนหมู่คนดีให้วุ่นวาย
อย่าให้สภาวะแวดล้อมกระตุ้น พันธุกรรม จนควบคุมไม่ได้

หากวางระบบคุมไม่ได้ ต้องเก็บไว้ใกล้ตัว
หากเอาไว้ใกล้ตัวยังไม่ได้ ก็ต้อง ไม่เก็บเอาไว้เลย




สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้

ไม่มีความคิดเห็น: