วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555

นกเลือกป่า



ธรรมดานกก็ย่อมอาศัยป่าซึ่งมีผลไม้มากจึงเป็นสุข

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 3

ลิซกผู้เป็นเพื่อนเก่าบ้านเกิดของลิโป้ เกลี้ยกล่อมลิโป้ให้ตีจากเต๊งหงวนบิดาเลี้ยงไปอยู่กับตั๋งโต๊ะ
เพราะทราบซึ้งดีว่าลิโป้นั้นกล้าแข็งก็จริง แต่เป็นคนหยาบช้า ไม่รู้คุณคน โลภเห็นแก่ได้
การจูงใจจึงต้องเน้นผลประโยชน์เป็นหลัก

ป่าที่มีผลไม้มาก คือ ป่าที่อุดมสมบูรณ์
ป่าที่อุดมสมบูรณ์ คือ ป่าที่มีความสมดุลของระบบนิิเวศ
มีไม้ใหญ่ มีไม้เล็ก มีสัตว์ใหญ่ มีสัตว์เล็ก ปะปนกัน อยู่ร่วมกันอย่างสมดุล

ป่าไหนมีแต่ไม้ใหญ่ ย่อมไม่น่าอยู่
ป่าไหนมีแต่ไม้เล็ก ย่อมไม่น่าอยู่
ป่าที่แห้งแล้ง ยิ่งไม่น่าอยู่

ป่าไหนมีแต่สัตว์ใหญ่ ย่อมไม่น่าอยู่
ป่าไหนมีแต่สัตว์เล็ก ย่อมไม่น่าอยู่
ยิ่งป่าที่ สัตว์เล็กพยายามใหญ่ ยิ่งไม่น่าอยู่
ที่ทำงานก็เหมือนกัน


สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้







ไม่มีความคิดเห็น: