วันเสาร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2560

คนดีคนชั่ว

๑๕๘


ที่ดีกลับเป็นชั่ว ที่ชั่วกลับเป็นดีก็มี

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 63

          เมื่อโจผีได้เป็นที่วุยอ๋องแทนโจโฉผู้บิดามาได้หกปี ขุนนางผู้ใหญ่ประมาณสี่สิบคนพากันเข้าไปเฝ้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ยังเมืองฮูโต๋ ฮัวหิมทูลว่าขอให้พระเจ้าเหี้ยนเต้มอบราชสมบัติให้แก่โจผีเสียเถิด ฝ่ายพระเจ้าเหี้ยนเต้มิยินยอม บอกว่าการจะยกราชสมบัติอันเป็นของพระญาติวงศ์สืบต่อกันมานั้นให้แก่โจผียังไม่ควร อองลองจึงว่า เป็นประเพณีมีมาแต่โบราณ ที่ดีกลับเป็นชั่ว ที่ชั่วกลับเป็นดีก็มี เหมือนหนึ่งบ้านเมืองมั่งคั่งบริบูรณ์อยู่แล้ว เกิดศึกกลับยับเยินไปก็มี ที่ยับเยินไปแล้วกลับมั่งคั่งบริบูรณ์อยู่เย็นเป็นสุขไปก็มี


คนดี มิได้หมายความว่าจะดีเสมอไป

คนชั่ว มิได้หมายความว่าจะชั่วเสมอไป

คนดี กลับเป็นคนชั่วได้
คนชั่ว กลับเป็นคนดีได้

คนชั่วกลับเป็นคนดี
มีแต่คนสรรเสริญยกย่อง
คนดีกลับเป็นคนชั่ว
มีแต่คนก่นว่านินทา

ทำดีมาชั่วชีวิต
ทำเลวหนเดียว ก็กลายเป็นคนมหาเลว

ทำเลวมาชั่วชีวิต
ทำดีหนเดียว กลับกลายเป็นคนแสนดี

ทำเลว กลับตัว ทำดี ย่อมได้ดี
ทำดี ไม่มีสิทธิทำเลว

ที่น่ากลัว คือ คนที่ไม่รู้ว่าตนเองชั่ว

ที่น่ากลัวกว่า คือ คนที่คิดว่าคนอื่นชั่ว ตัวเองดี

ที่น่ากลัวที่สุด คือ คนชั่ว ที่ผลักให้คนดีกลายเป็นคนชั่ว


สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

          มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ
          ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
          ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้
          ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 
          มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้


ไม่มีความคิดเห็น: