วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2560

น้ำน้อย

๑๕๔



เหมือนหนึ่งจะเอาน้ำในจอกอันน้อย
ไปดับไฟกองใหญ่นั้นจะดับหรือ

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 61

          กวนอูถูกซุนกวนล้อมไว้เป็นที่อับจนอยู่ ณ เมืองเป๊กเสีย จึงส่งเลียวฮัวถือหนังสือไปเมืองซงหยงขอความช่วยเหลือจากเล่าฮอง เบ้งตัดเตือนเล่าฮองว่า ทหารเมืองกันตั๋งมีกำลังนัก ทั้งโจโฉก็ยกกองทัพมาสี่สิบห้าสิบหมื่น เล่าฮองจะยกไปช่วยกวนอูเห็นจtต้านทานมิได้ เล่าฮองเห็นด้วยจึงปฏิเสธกับเลียวฮัว ฝ่ายเลียวฮัวตกใจนักถามว่าหากเล่าฮองไม่ยกไปช่วยครั้งนี้ กวนอูจะมิเป็นอันตรายเสียหรือ เบ้งตัดจึงตอบว่า อันข้าศึกครั้งนี้อุปมาเหมือนกองไฟอันใหญ่ แลซึ่งจะให้เล่าฮองยกไปช่วย เหมือนหนึ่งจะเอาน้ำในจอกอันน้อยไปดับไฟกองใหญ่นั้นจะดับหรือ

โบราณว่า น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ
ถ้าอย่างนั้น น้ำมากย่อมชนะไฟหรือ
อาจไม่แน่นอนเสมอไป

น้ำมาก หากใช้ไม่เป็น ก็อาจไม่สามารถดับไฟได้
น้ำน้อย หากมีกลยุทธของการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
น้ำน้อย ก็อาจดับไฟกองใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิผล

การทำงาน
จึงมิได้อยู่ที่ คนมาก
จึงมิได้อยู่ที่ ทรัพยากรมาก
หากอยู่ที่ กลยุทธการใช้คน
หากอยู่ที่ กลยุทธการใช้ทรัพยากร
หากอยู่ที่ การเลือกใช้คน
หากอยู่ที่ การเลือกใช้ทรัพยากร
หากอยู่ที่ การจัดการ



การจัดการ ย่อมสามารถใช้คนจำนวนมาก
ให้ได้ผลงานเพียงน้อยนิดได้
การจัดการ ย่อมสามารถใช้ทรัพยากรจำนวนมาก
ให้ร่อยหรอลงโดยได้ผลงานเพียงน้อยนิดได้


การจัดการ จึงสามารถใช้คนที่มีอยู่จำกัด
ให้ได้ผลสำเร็จของงานได้
การจัดการ จึงสามารถใช้ทรัพยากรที่มีจำนวนจำกัด
ให้ได้ประสิทธิผลมากได้


เพียงแต่
ปล่อยให้คนจัดการ มีอิสระในการจัดการ



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ
ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้
ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 
มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้

ไม่มีความคิดเห็น: