วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ลูกเสือลูกจระเข้


๑๔๗

เมื่อเราตามมาพบซุ้มเสือแล้ว
จะไม่รีบเข้าจับลูกเสือให้ได้นั้น
จะละไว้ให้มีกำลังไปหรือ


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 56


ฮองตงทำกลอุบายแตกทัพถอยแฮหัวชงกับฮันโฮเป็นหลายครั้ง 
ฝ่ายฮันโฮกับแฮหัวชงก็มีใจประมาท ถอดเกราะแก้อานม้าเสีย 
มิได้ตรวจตรารักษาค่าย ฮองตงก็พาเล่าฮองคุมทหารออกไปโจม 
ตีค่ายแฮหัวชงกับฮันโฮ ฆ่าฟันทหารล้มตายเป็นอันมาก ฮองตง


ไล่
ตามตีค่ายรายทางได้ทั้งสามค่าย แลจะไล่ตามแฮหัวชงกับฮันโฮไป 
เล่าฮองจึงห้ามว่าทแกล้วทหารอิดโรยนัก จงหยุดพักให้ทหารมี


กำลัง
จึงค่อยตามไป ฮองตงจึงตอบว่า เมื่อเราตามมาพบซุ้มเสือแล้ว 
จะไม่รีบเข้าจับลูกเสือให้ได้นั้น จะละไว้ให้มีกำลังไปหรือ

ลูกเสือ เมื่อโตขึ้นย่อมเป็นเสือ
ลูกจระเข้ เมื่อโตขึ้นย่อมเป็นจระเข้
เสือกับจระเข้เป็นสัตว์ป่า อาจแว้งกัดได้เสมอ
โบราณจึงว่า ลูกเสือลูกจระเข้เลี้ยงไม่ได้
มิเพียงเลี้ยงไม่ได้ เพื่อความมั่นใจให้จับฆ่าทิ้งเสีย

คนทำงานในองค์กร
หากเป็นคนไม่ดี ทุจริต โกงเล็กโกงน้อย
วันนี้โกงเล็กโกงน้อย วันหน้าย่อมโกงใหญ่โกงโต
วันนี้โกงเล็กโกงน้อย วันหน้าโกงชาติโกงเมือง

เลวเมื่อยังเล็ก โตไปย่อมยิ่งเลว
ต้องควบคุม มิให้เติบใหญ่มีอนาคต
จะแต่งตั้งผู้ใดให้มีตำแหน่งใหญ่โต
ต้องสืบดูว่ามิใช่ ลูกเสือลูกจระเข้
เว้นแต่คนแต่งตั้ง เป็นพ่อเสือแม่จระเข้เสียเอง

อย่าใจอ่อนให้กับคนไม่ดี
หากแต่ต้องมั่นใจว่า การตัดสินคนนั้นไม่ผิดพลาด
ต้องมั่นใจว่า ได้พิจารณาโดยไม่มีอคติ

หมายเหตุ

อคติ 4 คือ ความลำเอียง(prejudice) 4 อย่างคือ

1. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะชอบ(prejudice caused by love)
2. โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง(prejudice caused by hatred)
3. โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลง(prejudice caused by delusion)
4. ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว(prejudice caused by fear)



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ
ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้
ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 
มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้


ไม่มีความคิดเห็น: