วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559

โลภ

๑๔๓


อันธรรมดาคนนี้เดิมคิดว่าจะหาแต่หนึ่ง

ครั้นได้หนึ่งแล้วก็คิดกำเริบ
จะหาสองต่อขึ้นไปเพราะโลภ

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 55

เมื่อโจโฉตีเมืองฮันต๋งได้ แลปราบปรามหัวเมืองซึ่งขึ้นแก่เมืองฮันต๋ง
ราบคาบสิ้นแล้ว ก็เตรียมจะเลิกทัพกลับ สุมาอี้ซึ่งเข้ามาอยู่ด้วยโจโฉ
แต่เมื่อยังอยู่เมืองฮูโต๋ ทำหน้าที่สมุห์บัญชีทหารเลว เข้าไปคำนับโจโฉ
แล้วว่า โจโฉยกทัพมาด้วยความยากลำบาก เมื่อตีฮันต๋งได้ควรยกไปตี

เมืองเสฉวนที่เล่าปี่ยึดจากเล่าเจี้ยงให้ได้ในครั้งนี้ทีเดียวจึงค่อยยกทัพ
กลับไป โจโฉได้ฟังสุมาอี้ก็ทำทอดใจใหญ่แล้วแกล้งว่า อันธรรมดาคนนี้ 

เดิมคิดว่าจะหาแต่หนึ่ง ครั้นได้หนึ่งแล้วก็คิดกำเริบจะหาสองต่อขึ้นไปเพราะโลภ 

ความโลภ แปลว่า ความอยากได้ไม่รู้จักพอ
ความโลภ จึงคือ ความอยากได้ที่ไม่คำนึงถึงความเป็นจริง

หากรู้ตนเอง ว่า ความเป็นจริงคืออย่างไร
หากรู้ตนเอง ว่า ความเป็นจริงคือควรได้แค่ไหน
ความอยากได้นั้น เกินกว่าความเป็นจริงหรือไม่
หากความอยากได้ เกินกว่าความเป็นจริง เรียกว่า โลภ

คนในองค์กร
หากอยากได้เงินเดือนเพิ่ม
หากอยากได้ตำแหน่งเพิ่ม
หากอยากได้ให้เหมือนผู้อื่น
หากอยากได้ให้มากกว่าผู้อื่น
โดยไม่ทบทวนตนเองถึงความเป็นจริง

เป็นความอยากได้ที่เกินกว่าความเป็นจริง
ความอยากได้ เกินกว่าความเป็นจริง เรียกว่า โลภ

การทำงาน
ผู้บังคับบัญชา อยากได้ผลของงานมากยิ่งขึ้น
หากความอยากได้ ไม่คำนึงถึงคนทำงานหากความอยากได้มากกว่าปัจจัยนำเข้า

เป็นความอยากได้ ที่เกินกว่าความเป็นจริง
ความอยากได้ เกินกว่าความเป็นจริง เรียกว่า โลภ



หมายเหตุ

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔

โลภ : น. ความอยากได้ไม่รู้จักพอ (ป.,ส.)





สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ
ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 
มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้



ไม่มีความคิดเห็น: