วันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

รวนเร



๘๙

แต่จะรวนเรอยู่ฉะนี้ ดีร้ายนานไปข้างหน้าภัยก็จะมาถึงตัว หาทันรู้ไม่

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 38


ขงเบ้งไปเจรจากับซุนกวนหวังให้ซุนกวนแตกกับโจโฉมาเข้าด้วยเล่าปี่ เห็นซุนกวนลังเล
ด้วยเหล่าที่ปรึกษา เห็นว่าไม่อาจสู้โจโฉได้ ควรยอมไปนบนอบโจโฉ หากตัวซุนกวนเอง
มีความรังเกียจอยู่ว่า จะเอาบ้านเมืองไปยกให้อ่อนน้อมแก่โจโฉนั้น จะได้รับความอัปยศ
ไปภายหน้า ขงเบ้งวิจารณ์ซุนกวนว่า ซึ่งการที่ซุนกวนเอาแต่จะรวนเรอยู่ฉะนี้ ดีร้ายนานไป
ข้างหน้าภัยก็จะมาถึงตัว หาทันรู้ไม่

การทำงานในองค์กร เมื่อถึงคราวคับขัน
ผู้บริหารต้องทำหน้าที่ ตัดสินใจ

การตัดสินใจต้อง รู้ข้อมูล
ข้อมูลต้อง ถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอ
รู้ข้อมูล การตัดสินใจ จึงจะชัดเจน และนำไปสู่ความสำเร็จ

ข้อมูลดี ตัดสินใจถูก
ข้อมูลไม่ดี ตัดสินใจผิด
เมื่อไม่มั่นใจในข้อมูล จึงตัดสินใจ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่แน่นอน
เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่แน่นอน เรียกว่า รวนเร

การตัดสินใจต้อง รู้กำลังของผู้ปฏิบัติ
ผู้ปฏิบัติต้องมีความรู้ความสามารถในเนื้องาน
รู้กำลังผู้ปฏิบัติ การตัดสินใจ จึงจะชัดเจน และนำไปสู่ความสำเร็จ

ประเมินกำลังผู้ปฏิบัติถูก ตัดสินใจถูก
ประเมินกำลังผู้ปฏิบัติผิด ตัดสินใจผิด
เมื่อไม่มั่นใจในผู้ปฏิบัติ จึงตัดสินใจ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่แน่นอน
เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่แน่นอน เรียกว่า รวนเร

ตัดสินใจผิด แล้วกล้าตัดสินใจใหม่
ดีกว่า
ตัดสินใจรวนเร คือไม่กล้าตัดสินใจ



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ


ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย

ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้

ไม่มีความคิดเห็น: