วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ลัดหรือเลี่ยง

อนึ่งซึ่งคิดทำการใหญ่หลวง
แลจะรีบลัดให้สำเร็จโดยเร็วนั้นจะได้หรือ


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 38


ขงเบ้งไปเจรจากับซุนกวนหวังให้ซุนกวนแตกกับโจโฉมาเข้าด้วยเล่าปี่
เตียวเจียวที่ปรึกษาใหญ่ซุนกวนเย้ยว่า คำเล่าลือที่ว่าขงเบ้งเก่งนักหนา
คงไม่เป็นจริง ตั้งแต่เล่าปี่ได้ขงเบ้งมาก็ได้รับความเดือดร้อน หนีโจโฉ
หัวซุกหัวซุน แผ่นดินสักเท่าใบพุทราก็ไม่มีที่จะอยู่ ขงเบ้งเอามือปิดปาก
หัวเราะตอบว่า ธรรมดาผู้มีปัญญาอันพิสดาร แม้จะคิดการสิ่งใดก็ลึกซึ้ง
ผู้มีปัญญาน้อยหาหยั่งรู้ถึงตลอดไม่ อุปมาเหมือนพญาครุฑ แม้จะไปทิศ
ใดก็ย่อมบินโดยอากาศอันสูงสุดสายเมฆมิได้บินต่ำเหมือนสกุณชาติซึ่ง
มีกำลังน้อย อันผู้มีสติปัญญาน้อยนั้นก็เหมือนนกทั้งปวงอันมีกำลังน้อย
มิอาจบินสูงเสมอพญาครุฑได้ อนึ่งซึ่งคิดทำการใหญ่หลวง
แลจะรีบลัดให้สำเร็จโดยเร็วนั้นจะได้หรือ



ลัด แปลว่า ตัดตรงไปเพื่อย่นทางย่นเวลา


ทางลัด จึงต้องเป็นทางที่ตัดตรงไปเพื่อย่นทางย่นเวลา แต่จุดหมายคือ ที่เดิม
การทำงานลัด จึงต้องเป็นการทำงานที่ลดขั้นตอน หรือลดเวลา แต่เป้าหมายยังคงเป็น เป้าหมายเดิม


การทำงานลัด จึงอาจไม่ลดทรัพยากร ยิ่งอาจใช้ทรัพยากรมากกว่าเดิม
การทำงานลัด จึงอาจมิใช่ ทางเลือก เสมอไป

การทำงานลัด แม้ลดขั้นตอน ลดเวลา ได้เป้าหมาย แต่อาจบังเกิด ผลลัพธ์ที่ ไม่ยั่งยืน
การทำงานลัด จึงอาจมิใช่ ทางเลือก เสมอไป

ทำการใหญ่ ยิ่งต้องระมัดระวัง สิ่งที่คิดว่าเป็น ทางลัด อาจกลายเป็นเพียง ทางเลี่ยง

เลี่ยง แปลว่า ลักษณะอาการที่เบี่ยงออกไปจากทางหรือแนวเดิม



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ


ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย

ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้

ไม่มีความคิดเห็น: