วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

หาภัยใส่ตัว


ธรรมดายังหาภัยไม่ ก็อย่าให้คิดเอาภัยมาใส่ตัว

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 27

ซุนกวนขึ้นครองเมืองกันตั๋ง โจโฉวางแผนเอาใจซุนกวน กราบทูลพระเจ้าเหี้ยนเต้
ให้ตั้งซุนกวนเป็นเจ้าเมืองกันตั๋ง ซุนกวนก็เป็นใจเข้าด้วยโจโฉ ตัดไมตรีกับอ้วนเสี้ยว
อ้วนเสี้ยวโกรธคิดยกทัพไปรบโจโฉ เตียนห้องซึ่งถูกอ้วนเสี้ยวจับขังไว้ในคุกคราว
ทัดทานอ้วนเสี้ยวครั้งก่อน ยังเป็นห่วงเกรงอ้วนเสี้ยวจะปราชัยแก่โจโฉ ทำหนังสือ
เตือนอ้วนเสี้ยวว่า อย่าให้คิดเอาภัยมาใส่ตัว


คนในองค์กร ถูกกำหนดบทบาท แบ่งงาน มอบหมายหน้าที่ให้ต่างคนต่างรับผิดชอบ เชื่อมโยงกันเป็นระบบ

หากการทำงานของแต่ละบุคคลไม่สัมพันธ์กัน หรือ ทำงานก้าวก่ายกัน  งานก็สับสน วุ่นวาย

ผลร้าย นอกจากกระทบโดยรวมต่อองค์กรแล้ว ตนเองยังอาจได้รับภัยใส่ตัวอีกด้วย

เรียกได้ว่า หาเหาใส่หัว
คนเป็นเหา เสียทั้งสุขภาพตนเอง ทั้งสังคมรังเกียจ

เรียกได้ว่า แกว่งเท้าหาเสี้ยน 
เสี้ยนมันก็มีของมันอยู่ เท้าไม่อยู่นิ่งแกว่งไปแกว่งมา ก็ต้องโดนเข้าสักที บ่งเสี้ยนไม่ใช่เรื่องง่าย บ่งไม่ออกเจ็บลึกเจ็บนาน

เรียกได้ว่า เอามือซุกหีบ 
หีบ เอาไว้หีบอ้อย ต้องใช้โดยผู้ชำนาญการ ใช้ไม่เป็น ไปทำเข้าก็จะหีบเอามือไม้เละเทะไป

ตั้งใจทำงานในหน้าที่รับผิดชอบของตน ให้เต็มที่

ตั้งใจทำงานในหน้าที่รับผิดชอบของตน ให้ดีที่สุด

จะได้ไม่โดนสวนเอาได้ว่า

It is none of your business.



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน)
 ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้






ไม่มีความคิดเห็น: