วันจันทร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2556

ตะเกียบ


เห็นจะไม่ยากนัก อุปมาเหมือนเอาตะเกียบหยิบของกินในโต๊ะ


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 23

โจโฉยกทัพสิบห้าหมื่นไปรบอ้วนเสี้ยว เมื่อเผชิญกับทัพงันเหลียง ส่งนายทหารไปรบหลายนาย
แต่ทานฝีมืองันเหลียงไม่ได้ ซิหลงเสนอให้ส่งกวนอูไปรบ กวนอูไปดูท่าทีแล้วกลับมาบอกโจโฉว่า
จะไปตัดศรีษะงันเหลียงมาให้จงได้ โจโฉเตือนว่าอย่าเพ่อประมาทดูหมิ่นงันเหลียง กวนอูอวดว่า
เห็นจะไม่ยากนัก แค่เอาตะเกียบหยิบของกินในโต๊ะ

อาหารจีน มักเตรียมไว้ให้สามารถใช้ตะเกียบคีบใส่ปากแบบพอดีคำ
อาหารฝรั่ง มักต้องมีมีดและส้อมให้มาหั่นต่อบนโต๊ะ

อาหารจีน จึงสะดวกต่อผู้กิน กินอย่างราชา แค่คีบเข้าปาก
อาหารฝรั่ง ไม่ว่าราชาหรือยาจก ก็ต้องถือมีดกับส้อม เชือดเฉือนต่อเอาเอง

อาหารจีน  ผู้ปรุงจึงต้องคำนึงถึงความสะดวกคนกิน 
อาหารฝรั่ง ผู้ปรุงเพียงยึดตนเองเป็นหลัก

การทำงาน หากผู้ปฏิบัติเสนองานแบบ อาหารจีน คือ สะดวกและหลากหลาย ผู้บริหารก็เพียงแค่เลือก แล้วตัดสินใจ

หากเสนอแบบ อาหารฝรั่ง ผู้บริหารไม่เพียงต้องตัดสินใจเลือกก่อน ยังต้องใช้ความพยายามปรับแต่งภายหลัง

หรือ ควรเป็นแบบ อาหารไทย ต้มยำทำแกง แล้ว.....
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

หมายเหตุ

1. แม้อาหารจีนจะเตรียมมาพอดีคำ หรือตุ๋นเปื่อยชนิดแค่คีบก็หลุด แต่ให้ระวังอย่าคีบเพลิน อาจโดนก้างปลาติดคอได้

2. @นิดา สารสิน comment ในตอน ที่หนักที่เบา ในหน้า Facebook (ซึ่งเข้ากันได้พอดีกับตอนนี้) ว่า ระวังตะเกียบหลุดจากมือ.. 






สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้



ไม่มีความคิดเห็น: