คนไทยเราฉลองปีใหม่กัน
๒ ครั้ง คือ ปีใหม่สากล และ ปีใหม่ไทย(สงกรานต์)
ทั้งสองครั้งเป็นการฉลองที่ทำกันอย่างเอิกเกริก มีวันหยุดราชการยาวนาน
คนไทยพากันเฉลิมฉลอง ตามอุปนิสัยของคนไทย ที่เป็นคนประเภท สุขนิยม แสวงหาความพึงพอใจอันเนื่องมาจากประสาทสัมผัสทั้งห้า
คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยเชื่อว่า การมี ความสุขทางประสาทสัมผัส นี้ ย่อมทำให้
เกิดความสุขทางใจ ตามมา บางท่านถึงกับถือคติว่า
จงกินและดื่มเถิด
พรุ่งนี้เราก็ตาย
Eat and Drink for tomorrow
we die.
คนไทยจึงอาศัยเทศกาลปีใหม่
เที่ยว ดื่ม กิน กันอย่างไม่บันยะบันยัง จนกระทั่งเกิดการตายในช่วงเทศกาลอย่างมโหฬาร
เป็นการตายที่ไม่สมศักดิ์ศรี ตายด้วยอุบัติเหตุจราจร ตายด้วยสาเหตุที่ป้องกันได้
ตายกันมากจนถึงขั้นต้องจัดวันรณรงค์ กำหนดว่าในแต่ละเทศกาล
ราชการจะอนุญาตให้ตายได้จำนวนกี่ราย วันปีใหม่ที่ควรจะเป็นวันแห่งความสุข ก็กลายเป็นวันอันตราย
เรียกสัปดาห์เฉลิมฉลองปีใหม่และสงกรานต์ว่า ๗ วันอันตราย
ญาติพี่น้องลูกหลานเดินทางช่วงปีใหม่หรือสงกรานต์ เหมือนไปสงคราม
ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตรอดจากท้องถนนหรือไม่ ทำไมเราต้องเครียดขนาดนั้น
ทำไมเราต้องทุกข์ขนาดนั้น ถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องหันกลับมาช่วยกัน
ไม่ปล่อยให้เป็นภาระของราชการที่ต้องกลายเป็นผู้รับผิดชอบ
ถึงเวลาที่ทุกคนต้องช่วยกัน ป้องกัน ภาวะอันตรายเหล่านี้เสียที
อุบัติเหตุจราจร มีสาเหตุจาก ๓ ปัจจัยที่สำคัญ
คือ รถ คนขับรถ และ สภาพแวดล้อม การแก้ไขจึงต้องดำเนินการในทุกปัจจัย จึงจะสามารถป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุได้
ดังนี้
การป้องกันก่อนเกิดอุบัติเหตุ
มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ตามปัจจัยสาเหตุหลัก ๓ ปัจจัย
คือ
๑. ปัจจัยด้านคนขับรถ
คนขับรถจะต้องมีความพร้อมในการขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นการขับขี่รถยนต์ หรือ
รถจักรยานยนต์ คนขับรถจะต้องมีความพร้อมใน ๓ ด้าน คือ
ความพร้อมด้านร่างกาย
จะต้องมีร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคที่อาจเป็นอุปสรรคในการขับรถ ต้องไม่ง่วง
ไม่เหนื่อย ไม่เพลีย ไม่ดื่มสุรา(เมาหรือไม่เมา ไม่ใช่สาระ
เพราะไม่เคยเห็นคนเมาที่ไหนยอมรับว่าตัวเองเมา มีแต่บอกว่า...กูม่ายมาวววว...)
ความพร้อมด้านจิตใจ จะต้องมี
สติสัมปชัญญะ คือ มีความรู้สึกตัวด้วยความรอบคอบ
ไม่เผลอตัว ควบคุมอารมณ์ตนเองได้เมื่อเผชิญสถานการณ์ต่างๆ(เช่นภรรยาบ่นอยู่ข้างๆ)
ความพร้อมด้านความสามารถ คนขับรถต้องรู้กฎจราจร
และต้องขับรถตามกฎจราจร ปฏิบัติตามสัญญาณจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขับรถเร็ว
ไม่แซงในที่คับขัน ต้องรู้วิธีที่จะแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน คาดเข็มขัดนิรภัย
หรือสวมหมวกกันน็อก(สวมหมวกกันน็อกต้องเลือกหมวกที่มีมาตรฐาน และรัดคางให้แน่นหนา)
โปรดเข้าใจว่าการคาดเข็มขัดนิรภัยและสวมหมวกกันน็อก ไม่ช่วยป้องกันอุบัติเหตุ
แต่จะช่วยลดความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
๒. ปัจจัยด้านรถ รถจะต้องอยู่ในสภาพใช้งาน
เหมาะสมกับสภาพถนน ต้องหมั่นตรวจสอบสภาพสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ เบรก สัญญาณไฟ แตร ลมยาง
ฯลฯ
๓. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม แม้ว่าคนขับรถจะมีความพร้อมเพียงใด
สภาพรถจะดีอย่างไร หากเจอสภาพถนนหรือสิ่งแวดล้อมที่มีปัญหาก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้
ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแบ่งออกเป็น ๓ ด้าน คือ
ด้านถนน เช่น
ถนนโค้งหักข้อศอก ถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ
ถนนที่สร้างไม่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรมการจราจร ทางขึ้นเขา ลงเขา เป็นต้น
ด้านกายภาพอื่นๆ เช่น หมอก ควัน ฝนตก
แสงสว่างที่ไม่เพียงพอ
ด้านอื่นๆ เช่น
เครื่องหมายจราจรที่ไม่ชัดเจน(บางป้ายติดไว้เหมือนกลัวคนจะเห็น) เครื่องกั้น
สัญญาณ ต่างๆ ป้ายโฆษณา(โดยเฉพาะป้ายที่เป็นภาพปลุกใจ นุ่งน้อยห่มน้อย
เกิดอุบัติเหตุมาแยะ) ด่านตำรวจก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจเพิ่มอุบัติเหตุได้
หากบังเอิญตั้งอยู่ในที่คับขัน หรือซุ่ม จู่โจม รวมทั้งผู้โดยสารที่นั่งไปด้วยก็ถือเป็นสิ่งแวดล้อม
ที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ อาทิ ผู้โดยสารที่ขี้บ่น หรือชอบเชียร์ให้ขับเร็วๆ
เชียร์ให้แซง เป็นต้น
ทั้งหมดนั้นเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
หากผู้ที่เกี่ยวข้องใส่ใจที่จะร่วมกันป้องกันในส่วนที่ตนรับผิดชอบ
อุบัติเหตุจราจรก็ไม่ควรจะเกิดขึ้น แต่หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้ว
ก็จำเป็นที่จะต้องเตรียมพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์นั้น
การป้องกันเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว
มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันอันตรายต่อชีวิต เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นแล้ว โดยมีหลักการสำคัญคือ
พบผู้ป่วยให้เร็วที่สุดและช่วยเหลือให้การรักษาถูกต้องครบถ้วน
เป็นการลดอัตราการพิการและอัตราการตาย ภารกิจนี้ เป็นของหน่วยงาน สาธารณสุขรวมถึงหน่วยงานอาสาสมัครทั้งหลาย
แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนที่สำคัญ คือ
๑. ภายนอกสถานพยาบาล
เป็นการเตรียมทีมเพื่อรับผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ จากข้อมูลพบว่า
ผู้ป่วยจากอุบัติเหตุจำนวนไม่น้อยมีอาการรุนแรงขึ้น อาจพิการ หรือถึงกับเสียชีวิต
เนื่องมาจากการช่วยเหลือที่ผู้ช่วยเหลือไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอ
จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้มีความรู้ไปช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุ ซึ่งอาจเป็นทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล
ศูนย์กู้ชีพ มูลนิธิ องค์กรการกุศล ที่รับการฝึกอบรมแล้ว โดยขณะนี้
ประเทศไทยใช้หมายเลขโทรศัพท์เพื่อการเรียกใช้ศูนย์กู้ชีพ
หมายเลขเดียวกันทั่วประเทศคือ ๑๖๖๙
๒. ภายในสถานพยาบาล
เป็นบทบาทหน้าที่ของแต่ละสถานบริการที่จะต้องเตรียมความพร้อมทั้งกำลังคน อุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์
ให้พร้อมที่จะรับมือกับการเกิดอุบัติเหตุได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม
แม้ว่าหน่วยงานด้านการแพทย์พยาบาลจะเตรียมพร้อมแค่ไหน
ก็ไม่อาจช่วยเหลือชีวิตท่านได้เสมอไป จึงยังคงต้องกลับไปพิจารณาแนวทางป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุข้างต้นอย่างจริงจัง
ปีใหม่นี้จึงต้อง อย่าเผลอ
เตือนตนเองขณะขับรถเสมอว่า อย่าเผลอ
เตือนญาติและมิตรสหายว่า อย่าเผลอ
หากท่านเผลอ
คุณค่าในตัวท่านจะเหลือแค่เพียง จำนวนศพที่หน่วยราชการจะนับเพิ่มขึ้นเป็นสถิติประจำปี
เท่านั้นเอง
ฉุกเฉิน เรียก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น