วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

ทารก


อุปมาเหมือนทารก
ถ้ามารดามิให้นมกินแล้ว ทารกนั้นก็จะสิ้นแรงไป


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 6

อ้วนเสี้ยวได้รับการยกย่องจากทัพหัวเมืองทั้งหลายให้เป็นแม่ทัพใหญ่ กอบกู้เอกราชจากตั๋งโต๊ะ
แต่ไม่สามารถผนึกกำลังรวมตัวกันได้ กลับแตกแยกชิงดีชิงเด่นกัน
ครั้งเมื่อแย่งชิงตราหยก อ้วนเสี้ยวเห็นทัพหัวเมืองแก่งแย่งทำร้ายกัน
อ้วนเสี้ยวจึงนำทัพไปพักอยู่ที่เมืองโห้ลาย ฮันฮกเจ้าเมืองกิจิ๋วทราบข่าวจึงจัดแจงเสบียงส่งไปให้
ต่อมาอ้วนเสี้ยวคิดยึดเมืองกิจิ๋ว ลอบให้กองซุนจ้านยกทัพไปตีกิจิ๋ว
พื่อให้ฮันฮกมาเชื้อเชิญตนไปช่วยรักษาเมือง
เก๋งบูเตือนฮันฮกว่า อ้วนเสี้ยวเป็นคนสิ้นคิด ที่อยู่ได้เพราะฮันฮกคอยส่งเสบียงให้

ทารก มีชีวิตอยู่ได้ก็จากการเลี้ยงดูของมารดา หากมารดาไม่มีนมให้กิน หรือมีแต่ไม่ให้กิน ทารกก็จะไม่สามารถมีชีวิตยืนยาวไปได้ และสิ้นชีวิตไป
เว้นแต่ ใครจะเก็บมาเลี้ยงป้อนน้ำป้อนนมให้แทนมารดา

การเติบโตเป็นหัวหน้าคนต้องฝึกฝนงานทุกระดับและค่อยๆไต่เต้า เมื่อเป็นหัวหน้าจึงมีความสามารถทำทุกอย่างได้ สั่งการได้ สอนงานได้ เมื่อจำเป็นยังสามารถลงมือทำเองได้

เมื่อทำงาน ต้องไม่เพียงหวังพึ่งพาผู้อื่นเท่านั้น
หากผู้อื่นจับได้ว่า เราไม่มีความสามารถใด ต้องอาศัยการพึ่งพาอยู่เป็นนิจ
เพียงแค่เขาหยุดให้การช่วยเหลือ งานทั้งหมดของเราก็จะจบสิ้นลง

คนที่ทำตัวต้องพึ่งพาคนอื่นตลอดเวลา เหมือนทารกต้องพึ่งนมมารดา เรียกว่า ลูกแหง่

อย่าทำตัวเป็นลูกแหง่

อย่าให้ใครเห็นว่าเป็นลูกแหง่



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้






ไม่มีความคิดเห็น: