วันอังคารที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2555

โค่นต้นไม้ทำไร่



๑๑
อุปมาเหมือนโค่นต้นไม้ทำไร่
จะคิดเสียดายต้นไม้อยู่แล้วก็ไม่ได้ข้าวกิน


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 5

ตั๋งโต๊ะดำริจะย้ายเมืองหลวงจากเมืองลกเอี๋ยงไปเมืองเตียงฮัน
ขุนนางใหญ่น้อยพากันท้วงติง เกรงสิ้นเปลืองท้องพระคลัง เกรงเดือดร้อนประชาราษฎร
แต่ตั๋งโต๊ะยังยืนยันจะไปสร้างเมืองหลวงใหม่ แจ้งขุนนางทั้งปวงไม่ให้ยึดติดเมืองหลวงเดิม

เมื่อคิดทำการใหญ่ จำเป็นที่ต้องตัดใจสูญเสียบางส่วน

เปรียบดังจะทำไร่ทำนา ก็ต้องตัดต้นไม้ใหญ่ออก จึงจะมีที่ทำนา
จะสร้างเขื่อนก็ต้องยอมสูญเสียป่า
ทำการใหญ่ไม่ควรตระหนี่ ฆ่าควายอย่าเสียดายเกลือ

เมื่อต้องการผลงาน บางครั้งองค์กรจึงจำเป็นต้องจ่ายงบประมาณจำนวนมาก

เมื่อต้องการผลงาน บางครั้งองค์กรจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบุคลากร

อย่ามัวแต่เสียดาย หากไม่ยอมเสียสิ่งใดเลย จะได้สิ่งที่ดีกว่ามาได้อย่างไร
เอาเลยครับ ลุยเลยครับ



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้





ไม่มีความคิดเห็น: