วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552

อุบาทว์ลง


คำเตือนก่อนอ่าน

ข้อเขียนต่อไปนี้ เป็นเพียงการสรุปบทเรียน ตามความเข้าใจของผู้เขียน ไม่ใช่ ข้อคิด ของผู้เขียนเอง
ผู้อ่าน พึงระมัดระวังในการตีความด้วยความบริสุทธิ์ใจ เด้อครับ

พระราชบัณฑิต รองเจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม บรรยายในหัวข้อ คุณธรรมสำหรับผู้บริหาร (เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๒ โรงแรมศรีอู่ทองแกรนด์ สุพรรณบุรี) ได้เล่านิทานสอนใจเรื่องหนึ่ง สรุปใจความได้ว่า

พระราชา ได้รับข้อมูลว่ามีบ้านหลังหนึ่งต้องร้างลงด้วยเหตุ อุบาทว์ลง ด้วยความเป็นพระราชาที่ดี เป็นห่วงว่าตัวอุบาทว์จะไปทำร้ายประชาชน จึงให้เหล่าเสนาอำมาตย์ช่วยกันไปจับเจ้าตัวอุบาทว์มาให้ได้ หากไม่ได้ก็จะลงโทษเหล่าเสนาอำมาตย์แทน (ตามสูตรของผู้มีอำนาจเขาละ......อันนี้ผู้เขียนว่าเอง)

เมื่อครบกำหนดเวลา ก็ยังไม่สามารถหาตัวได้ ร้อนถึงพระฤาษีต้องออกมาช่วยเหลือ จับเจ้าตัวอุบาทว์ใส่กระบอกไม้ไผ่ให้อำมาตย์นำไปถวายพระราชา พระฤาษีกำชับว่าเมื่อไปถึงให้ค่อยๆแง้มดูทีละคน โดยให้เริ่มที่พระราชานั่นแหละ 

พระราชาดูแล้วก็บอกว่า เจ้าตัวอุบาทว์นี่มันหน้าตาเหมือนตุ๊กแก แล้วก็เวียนดูกันทั่วถึง ต่างคนก็ต่างถกเถียงกันให้วุ่นวายถึงรูปร่างหน้าตาของเจ้าอุบาทว์ ถึงขั้นชกต่อยกันวุ่นวายหน้าพระที่นั่ง(แปลว่าพระราชาไม่ได้ลงมาชกต่อยด้วย.....ผู้เขียน) 

แสดงถึงฤทธิ์ร้ายของตัวอุบาทย์ ขนาดมาตัวเดียว แง้มๆดูยังวุ่นวายขนาดนี้

พระราชาจึงสั่งให้ผ่ากระบอกออกมาดูตัวอุบาทว์ พบว่า เจ้าตัวอุบาทว์ ก็คือชานหมากของพระฤาษีนั่นเอง

ท่านเจ้าคุณ เฉลยว่า อุบาทว์ ก็คือ ความเห็นที่ไม่ตรงกัน ทิฐิของคน ที่ถือตัว ถือตน ไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ยึดแต่ความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ 

ท่านผู้บริหารครับ ระวัง อุบาทว์ลง ในที่ทำงานท่านนะครับ

หมายเหตุ ๑   อุบาทว์ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ แปลว่า อัปรีย์ จัญไร ความไม่เป็นมงคล (ฉะนั้นท่านผู้อ่านอาจแทนที่เป็น อัปีรย์ลง หรือ จัญไรลง ก็แล้วแต่สะดวกครับ)

หมายเหตุ ๒   ไม่รู้ว่า เจ้าตัวอุบาทว์  นี่มันเหมือนกับตัว ประชาธิปไตย ที่ถกเถียงกันอยู่ทุกวันนี้หรือเปล่า

1 ความคิดเห็น:

ศ.สังคม กล่าวว่า...

เรียนท่านผู้เขียน
แสดงว่าเจ้าตัวอุบาทว์เกิดจาก...การมองที่ต่างกรรมต่างวาระกันในมุมแคบ...ซึ่งน่าจะทำให้การรับรู้ อารมณ์ จิตใจและความรู้สึกถูก-ผิด ในการมอง "เจ้าตัวอุบาทว์" เอาตนเองเป็นที่ตั้ง (อัตวิสัย)ก็เป็นเรื่องที่เป็นจริง...หากเปิดโอกาสหรือเปิดมุมกว้างโดยการ "ผ่า"กระบอกไม้ไผ่(พื้นที่สาธารณะ)ให้อำมาตย์ดูพร้อม ๆ กันและพระราชาก็เป็นพยายาน...ก็น่าจะเห็นปรากฏการณ์บางอย่างที่น่าสนใจอยู่บ้าง เช่น อาจจะไม่ถกเถียงกันเลยด้วยความเห็นพร้องต้องกัน หรือถกเถียงกันมากขึ้น...เพราะต้องการสร้างอำนาจในพื้นที่สาธารณะว่าให้รู้เลยว่า"ไผ่เป็นไผ่" คงลำบากใจของผู้บริหารไม่น้อยว่าจะทำยังไงกับกระบอกไม้ไผ่ดี....