วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2560

อยู่ที่สูง

๑๗๖

ถ้าจะรบศึกให้อยู่ที่สูงถึงจะต่อด้วยศัตรูก็ได้เปรียบ

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 72

          ม้าเจ้กอาสาขงเบ้งไปรักษาเกเต๋ง เมื่อม้าเจ้กมาถึงยังเกเต๋งก็พิเคราะห์ดูภูมิฐานแล้วก็หัวเราะว่าตำบลเกเต๋งมีซอกห้วยธารเขาเป็นอันมาก ขงเบ้งเกรงสุมาอี้เกินไป อองเป๋งจึงว่าขงเบ้งกำชับมาว่าเกเต๋งเป็นที่คับขันอยู่อย่าได้ประมาท อองเป๋งเสนอให้ตั้งค่ายครอบปากทางไว้ ม้าเจ๊กจึงว่า อันจะตั้งค่ายลงในกลางทางนี้หามีธรรมเนียมไม่...เราจะยกทหารขึ้นไปตั้งซุ่มบนยอดเขาจะมิดีกว่าหรือ อองเป๋งจึงว่า จะละทิ้งที่สำคัญเสียไม่เห็นด้วย ถ้าข้าศึกรู้ยกทหารมาล้อมไว้ทั้งสี่ด้านจะมิจนเสียหรือ ม้าเจ๊กหัวเราะแล้วว่าโบราณว่าไว้ถ้าจะรบศึกให้อยู่ที่สูงถึงจะต่อด้วยศัตรูก็ได้เปรียบ อาจเอาชัยชนะได้โดยเร็วเหมือนผ่าไม้ไผ่

จะรบศึกต้องอยู่ที่สูง
อยู่ที่สูงคือสามารถมองไกล
มองไกล จึงสามารถเห็นข้าศึกได้ล่วงหน้า
มองไกล จึงสามารถเตรียมพร้อม ได้มากกว่า
มองไกล จึงสามารถทำดีที่สุด
ทำดีที่สุดคือสามารถเอาชนะข้าศึก

การทำงานก็ต้องอยู่ที่สูง
อยู่ที่สูงคือ การมองการณ์ไกล
มองการณ์ไกลคือ มีวิสัยทัศน์
มองการณ์ไกล จึงมีการเตรียมการณ์ที่ดี
มองการณ์ไกล จึงสามารถทำดีที่สุดสู่ความสำเร็จ

หมายเหตุ

คติพจน์ของลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ (Senior Scout) มองไกล (Look wide) คือการมองให้กว้างและไกล  วิเคราะห์และสามารถกำหนดทิศทางเป้าหมาย วางแผน ได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน

คติพจน์ของลูกเสือสามัญ (Scout) จงเตรียมพร้อม (Be prepared) คือการเตรียมพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ที่รับผิดชอบ ทำให้ถูกต้องในทุกกิจกรรมทุกขั้นตอน คำนึงเสมอว่าอาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้และพร้อมรับมือกับปัญหานั้น ๆ ในทุกสถานการณ์


คติพจน์ของลูกเสือสำรอง (Cub Scout) ทำดีที่สุด (Do Our Best)  คือทำหน้าที่ของตนที่มีอยู่ให้ดีที่สุด เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับการบริการที่ดีที่สุด ทำดีที่สุดในทุกสถานการณ์ 

http://buabangbai.blogspot.com/2006/10/blog-post.html


สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

          มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ
          ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
          ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้
          ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 
          มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้

ไม่มีความคิดเห็น: