วันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2560

กระบวนทัศน์

๑๕๗



ถ้ามิทำก็จะเสียขนบธรรมเนียมไป


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 62

          โจผีคิดฆ่าโจสิดน้องชาย บีบคั้นให้ว่าโคลงในเจ็ดก้าว โจสิดว่าโคลงเป็นใจความว่า คั่วถั่วเอากิ่งถั่วมาเป็นฟืนใส่ไฟ เมล็ดถั่วในกระทะจะไหม้ก็เพราะกิ่งถั่วต้นรากอันเดียวกันนั่นเอง เหตุใดจึงเร่งไฟเข้าให้หนักนัก โจผีได้ยินก็รำลึกถึงความรักพี่น้องก็ร้องไห้ มารดาต่อว่าโจผีว่า เหตุใดจึงเคี่ยวเข็ญน้องให้ได้ความเดือดร้อนนัก โจผีตอบมารดาว่า เป็นอย่างธรรมเนียมแผ่นดินผู้ใดผิดแล้วต้องทำโทษ ถ้ามิทำก็จะเสียขนบธรรมเนียมไป แล้วสั่งให้โจสิดไปเป็นเจ้าเมืองอันเหียง

ขนบธรรมเนียม แปลว่า แบบอย่างที่นิยมกันมา 
ขนบธรรมเนียม จึงคือ ความเหมาะสมที่กำหนดขึ้นในห้วงเวลาหนึ่ง
ขนบธรรมเนียม จึงคือ กระบวนทัศน์ (Paradigm)

กระบวนทัศน์ ก็คือ
กรอบความคิด ค่านิยม การรับรู้ และ การปฏิบัติ
ที่ชุมชนหนึ่ง ๆ มีหรือกระทำร่วมกัน

เมื่อเวลาเปลี่ยนไป
เมื่อสภาวะเปลี่ยนไป
กระบวนทัศน์เดิมไม่สามารถแก้ปัญหาให้ชุมชนได้
กระบวนทัศน์ใหม่ย่อมเกิดขึ้น

เมื่อเวลาเปลี่ยนไป
เมื่อสภาวะเปลี่ยนไป
ขนบธรรมเนียมเดิมไม่สามารถแก้ปัญหาให้ชุมชนได้
ขนบธรรมเนียมใหม่ย่อมเกิดขึ้น

หากยังหลงอยู่กับกระบวนทัศน์เก่า
หากยังหลงอยู่กับขนบธรรมเนียมเก่า
มิเพียงไม่สามารถแก้ปัญหา
หากยังลากพาให้ของเดิมที่ดีอยู่กลับแย่ลง


หมายเหตุ

กระบวนทัศน์ = Paradigm
กรอบความคิด = Conceptual Framework
ค่านิยม = Value
การรับรู้ = Perceptions
การปฏิบัติ = Practice
ที่ชุมชน = Community



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

          มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ
          ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
          ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้
          ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 
          มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้


ไม่มีความคิดเห็น: