วันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2560

ยกตัวเอง

๑๖๐


แลยกตัวเองให้เป็นใหญ่ คนทั้งปวงจะนินทา

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 63

          เมื่อโจผีคิดขบถ ถอดพระเจ้าเหี้ยนเต้ชิงเอาราชสมบัติขึ้นเป็นพระเจ้าอ้วยโช่ ฝ่ายขงเบ้งจึงชักชวนเหล่าขุนนางกราบทูลเชิญพระเจ้าเล่าปี่ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เล่าปี่ไม่ยินยอม ขงเบ้งกราบทูลไปสองครั้งสามครั้งเล่าปี่ก็ไม่ยอม ขงเบ้งจึงวางแผนทำเป็นป่วยไม่เข้าเฝ้า เล่าปี่จึงไปเยี่ยม ขงเบ้งตัดพ้อว่า ตนออกจากบ้านมาก็เพื่อหวังมาช่วยเล่าปี่บัดนี้ได้เมืองเสฉวนมาครอง โจผีชิงราชสมบัติ หากเล่าปี่ไม่ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินเห็นทีเมืองเสฉวนจะขัดสนเสียมั่นคง เล่าปี่จึงว่า ที่ไม่ยอมเพราะเกรงราษฎรทั้งปวงไม่เห็นด้วย ขงเบ้งจึงว่า ถ้าคนหาสติปัญญาไม่ มิได้เป็นที่พึ่งราษฎรเลยราษฎรก็ไม่รักใคร่ แลยกตัวเองให้เป็นใหญ่ คนทั้งปวงจะนินทา แต่เล่าปี่หาใช่เช่นนั้นไม่


คนทำงาน จะมีตำแหน่งฐานะใหญ่โตสูงส่งขึ้น
ก็ย่อมด้วย วิธีใดวิธีหนึ่ง คือ

หนึ่ง อาศัยเส้นสายเชื่อมโยงกับผู้แต่งตั้ง
หนึ่ง อาศัยทรัพย์สินศฤงคารกับผู้แต่งตั้ง
หนึ่ง อาศัยความรู้ความสามารถแห่งตน

คนทำงาน ย่อมเลือกวิถีทางแห่งตนได้



คนทำงาน คิด ยกตัวเอง เป็นใหญ่
เลือกอาศัยเส้นสาย ย่อมถูกคนทั้งปวงนินทา

เลือกอาศัยทรัพย์สิน ย่อมถูกคนทั้งปวงนินทา

คนทำงาน เป็นใหญ่ตามเงื่อนไขความรู้ความสามารถ
ผู้คนย่อมชื่นชมยินดี

คนทำงาน พึงหยิ่งในการเลือกวิถีแห่งตน





สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

          มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ
          ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
          ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

          ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 
          มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้


ไม่มีความคิดเห็น: