วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

คนไข้หนัก



๘๔

อุปมาเหมือนคนไข้หนัก หมอผู้พยาบาลก็แจ้งอยู่ว่า

โรคนั้นจะบรรเทาด้วยยาทุเลา ครั้นจะประกอบยาให้
กล้า กำลังคนไข้ก็น้อย จะสู้กำลังยามิได้ จำจะค่อย
วางยาทุเลาให้ผ่อนไปแต่วันละเวลา พยายามไปกว่า
คนไข้จะถืออาหารได้มากมีกำลังแล้ว หมอก็จะ
ประกอบยาให้มีภาษีขึ้นไปกว่าเก่า โรคนั้นก็จะหาย



สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 38

ขงเบ้งไปเจรจากับซุนกวนหวังให้ซุนกวนแตกกับโจโฉมาเข้าด้วยเล่าปี่
เตียวเจียวที่ปรึกษาใหญ่ซุนกวนเย้ยว่า คำเล่าลือที่ว่าขงเบ้งเก่งนักหนา
คงไม่เป็นจริง ตั้งแต่เล่าปี่ได้ขงเบ้งมาก็ได้รับความเดือดร้อน หนีโจโฉ
หัวซุกหัวซุน แผ่นดินสักเท่าใบพุทราก็ไม่มีที่จะอยู่ ขงเบ้งตอบว่า อนึ่ง
ซึ่งคิดทำการใหญ่หลวง แลจะรีบลัดให้สำเร็จโดยเร็วนั้นจะได้หรือ
อุปมาเหมือนคนไข้หนัก หมอผู้พยาบาลก็แจ้งอยู่ว่าโรคนั้นจะบรรเทา
ด้วยยาทุเลา ครั้นจะประกอบยาให้กล้า กำลังคนไข้ก็น้อย จะสู้กำลัง
ยามิได้ จำจะค่อยวางยาทุเลาให้ผ่อนไปแต่วันละเวลา พยายามไป
กว่าคนไข้จะถืออาหารได้มากมีกำลังแล้ว หมอก็จะประกอบยา
ห้มีภาษีขึ้นไปกว่าเก่า โรคนั้นก็จะหาย

หมอรักษาคนไข้ตามอาการ
คนไข้อาการหนัก ก็ต้องใช้ยาแรง
คนไข้อาการเบา ก็เพียงใช้ยาอ่อน

หากจำเป็นต้องใช้ยาแรง แต่กำลังคนไข้ไม่ไหว
ก็ต้องบำรุงร่างกายให้แข็งแรงก่อน จึงจะให้ยาได้

การทำงานในองค์กร
หากผู้ปฏิบัติมีปัญหา เป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่จะจัดการ
หนักเบา ตามกำลังแห่งอาการของปัญหา

ปัญหารุนแรง ก็ต้องแก้ไขแบบเฉียบขาด รุนแรง
ปัญหาบางเบา ก็แก้ไขแบบนิ่มนวล ประนีประนอม

ปัญหารุนแรง แก้ไขแบบยาอ่อน
ไม่เพียงแก้ไขไม่ได้ กลับลุกลามเป็นปัญหาใหญ่โต

ปัญหาบางเบา แก้ไขแบบยาแรง
อาจไม่ได้แก้ปัญหา กลับเกิดผลกระทบยากยิ่งที่จะเยียวยา

ผู้บริหารหลายคน หมอหลายคน วินิจฉัยปัญหาสับสน
ไม่เพียงใช้ยาแรง ยังเอาคนไข้ไม่มีกำลัง ไปวางยาผ่าตัด

หมอก็อาจเอาตัวไม่รอด

เป็นหมอพึงรักษาคนไข้ตามอาการ
ไม่พึงรักษาตามความต้องการ

เป็นผู้บริหาร พึงแก้ไขปัญหาตามสภาพปัญหา
ไม่พึงแก้ไขตามจินตนาการ


สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ


ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย

ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้


ไม่มีความคิดเห็น: