วันอังคารที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2557

อุบาย



อันตัวเจ้านี้มีฝีมือกล้าหาญก็จริง
แต่ทว่าเสียดายทำอุบายมิตลอด


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 37



เล่าปี่เกณฑ์ไพร่พลอาณาประชาราษฎรอพยพออกจากเมืองซินเอี๋ยหนีทัพโจโฉ
ทหารโจโฉเข้าล้อมเล่าปี่ไว้ เตียวหุยตีฝ่าเข้าไปช่วยพาเล่าปี่หนีออกมาได้ แต่ต้อง
พลัดพรากจากบุตรภรรยา ส่วนจูล่งย้อนตีฝ่าไปกลางทัพโจโฉเพื่อตามหาครอบครัว
เล่าปี่ เตียวหุยโกรธนัก เข้าใจว่าจูล่งเอาใจออกห่าง คุมทหารม้ายี่สิบรีบกลับไปตาม
จูล่ง วางแผนตัดเอากิ่งไม้ผูกหางม้าสั่งว่าถ้าทหารโจโฉตามมา ให้ตีม้าวิ่งวกเวียน
ให้ฝุ่นตลบลวงให้ทหารโจโฉเข้าใจว่ามีทหารมาก แต่เมื่อจูล่งพาอาเต๊าบุตรเล่าปี่
หนีกลับมาได้ โจโฉตามมาเจอกลของเตียวหุยเข้าใจว่าขงเบ้ง วางกำลังพลไว้
รับมือจำนวนมาก เตียวหุยกลับรีบหนีข้ามสะพานแล้วชักกระดานสะพานเสีย
เมื่อกลับไปรายงานเล่าปี่ เล่าปี่จึงว่าแก่เตียวหุยว่า อุตส่าห์ทำกลลวงโจโฉ
แต่ไม่ลวงให้ตลอด ชักสะพานหนี ทำให้โจโฉจับได้ว่าไม่มีทหารซุ่มอยู่จริง


อุบาย แปลว่า วิธีการอันแยบคาย เล่ห์กล เล่ห์เหลี่ยม

การทำอุบาย จึงเป็นการวางแผนที่จะให้ผู้อื่นลุ่มหลง และทำไปตามที่กำหนด ด้วยวิธีอันแยบคายอย่างไม่รู้ตัว อย่างไม่รู้เท่าทัน


การทำอุบาย จึงต้องแฝงไปด้วย เล่ห์เหลี่ยม เล่ห์กล


ผู้บริหารหลายคน ชอบใช้อุบาย เพื่อให้ผู้ปฏิบัติผลิตผลงานได้ตามที่ต้องการ


เมื่อใช้อุบายแล้วก็ต้องใช้ต่อเนื่องไปให้ตลอด หากหยุดใช้ ก็จะถูกจับได้ว่าเป็นคน เจ้าเล่ห์เพทุบาย


เพื่อมิให้เป็นคนเจ้าเล่ห์เพทุบาย

ผู้บริหารหลายคน จึงแอบอ้างว่าเป็นการใช้ กุศโลบาย

ไม่ว่าจะเป็น กุศโลบาย หรือ อกุศโลบาย ก็คือ อุบาย


คนใช้อุบาย จึงเป็นคนที่ ไม่มีความจริงใจ


หมายเหตุ

หลายคนชอบให้ผู้อื่นใช้อุบายด้วย เพราะการใช้อุบายต้องอ้อมค้อม ดูดี ตรงข้ามกับวิธีการที่ตรงไปตรงมา




สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย

ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้



2 ความคิดเห็น:

สามก๊กวิทยา กล่าวว่า...

ชื่นชอบบทความของคุณหมอเหมือนเดิม แต่ขัดใจตรงที่ "อุบายอันเป็นกุศล" ต้องกลายเป็น "ไม่จริงใจ" ไปด้วย
แต่ก็นั่นแหละครับ อาจเพราะ "ความจริงใจ" ใช้ไม่ได้กับคนหรือลูกน้องบางประเภท
"อุบาย" จึงจำเป็นสำหรับผู้เป็นนาย

Boonchai65 กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ อาจเป็นเพราะสังคมปัจจุบันทำให้ไม่สามารถไว้เนื้อเชื่อใจใครได้สักคนกระมังครับ