วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เสือในป่า



อุปมาเหมือนเสืออันคะนองอยู่ในป่าใหญ่


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 35

ฝ่ายโจโฉครั้นได้สุมาอี้มาไว้เป็นที่ปรึกษา ก็มีใจกำเริบคิดยกกองทัพไปตี
หัวเมืองชายทะเลให้อยู่ในเงื้อมมือ แฮหัวตุ้นเสนอให้ไปตีเล่าปี่ ณ เมืองซินเอี๋ย
ชีซีจึงเตือนว่าอย่าประมาทดูเบาเล่าปี่ ด้วยเล่าปี่ได้ขงเบ้งมาไว้เป็นที่ปรึกษา
อุปมาเหมือนเสืออันคะนองอยู่ในป่าใหญ่

เสือ มีชีวิตอยู่ในป่า
ป่า เป็นที่อยู่ของเสือ
เสือกับป่า เป็นพลังซึ่งกันและกัน

เสือในกรง ไม่มีความน่าเกรงขาม
เสือในกรง ไร้ความสง่างาม
เสือในกรง จึงไม่มีศักดิ์ศรี

คนมีความสามารถ
หากไปอยู่ในองค์กรที่มีแต่ข้อจำกัด
คนมีความสามารถ ก็มิอาจแสดงพลัง
คนมีความสามารถ จึงอาจกลายป็นคนไร้คุณค่า

หาก กรงย่อมเป็นกรง
แต่งเติมอย่างไรก็เป็นกรง
มีแต่ออกไปอยู่ป่า เสือจึงจะเป็นเสือ
คนมีความสามารถ ต้องแสวงหาที่ทำงาน



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย

ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้



ไม่มีความคิดเห็น: