วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2555

หมีกับเสือ



ซึ่งจะฆ่าหมีเสียตัวหนึ่ง เสือจะร้ายขึ้น

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 4

ทหารอ้วนสุดคนหนึ่งว่าแก่อ้วนสุดว่า ซุนเกี๋ยนอุปมาดังเสือตัวหนึ่ง แลตั๋งโต้ะอุปมาดังหมี
หากอ้วนสุดยกทัพไปช่วยซุนเกี๋ยนฆ่าตั๋งโต๊ะ ซุนเกี๋ยนจู่ๆก็จะผงาดขึ้นมา

ไม่ว่า หมี หรือ เสือ ก็เป็น สัตว์ร้ายที่ไว้วางใจไม่ได้
แค่เจอตัวใดตัวหนึ่งก็นับว่าโชคร้าย
การเจอพร้อมกันสองตัว อาจกลับกลายเป็นโชคดี
ที่สัตว์ร้ายทั้งสองจะได้ห้ำหั่นกันเอง เรามีโอกาสหนีเอาตัวรอด
แต่หากเผลอไปช่วยตัวใดตัวหนึ่งด้วยความปรารถนาดี ตัวที่รอดมีหรือจะไม่จัดการเรา

หากคิดจะปราบคนเลวในองค์กร อย่าได้คิดไปค่อยๆเชือดทีละคน เพราะ 
1.คนที่เหลือจะมีพลังมากขึ้น
2.คนที่เหลือจะรู้ตัวว่าตนเองอาจเป็นรายต่อไป 

ดังนั้น ต้องจัดการทีเดียวทุกคนให้อยู่หมัด
ถ้ายังทำไม่ได้ ใจเย็นๆ ปล่อยไว้ก่อน เก็บตัวร้ายทุกตัวให้คานกันไว้
วางแผนให้แนบเนียน แล้วสยบในกระบี่เดียว



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ

ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้

ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 

มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้

ไม่มีความคิดเห็น: