วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2549

สภากาแฟ


สภากาแฟ มีจุดเริ่มต้นมาจากการมาร่วมดื่มกาแฟกันที่ร้านกาแฟในชุมชน เมื่อมาพบปะกันก็จะพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูล แลกเปลี่ยนทัศนะ ซึ่งกันและกัน การพูดคุยจึงเป็นเรื่องสัพเพเหระ ทั้ง การบ้าน และ การเมือง ใครทำอะไร ใครเกิด ใครป่วย ใครตาย ใครบวช ใครแต่งงาน ลูกสาวบ้านไหนหนีตามหนุ่มบ้านไหน ก็จะรู้กันที่ร้านกาแฟ ที่ต่อมามีคนบัญญัติเป็นศัพท์ใหม่ว่า สภากาแฟ (ผมจำได้ว่า เมื่อผมเด็กๆ อาปา ต้องไปร้านกาแฟทุกเช้า ทั้งๆที่ชงกาแฟกินที่บ้านก็ได้ แล้วอาปาก็ไม่เคยตกข่าว ข้อมูล ความเคลื่อนไหวในตลาด ทั้งๆที่ตลอดวัน ตลอดเดือน ตลอดปี ไม่ได้ไปสุงสิงที่บ้านไหนเลย)

หน่วยราชการหลายแห่ง ได้นำรูปแบบของสภากาแฟมาใช้ในองค์กร เพื่อให้เกิดการสื่อสารในองค์กรแบบไม่เป็นทางการ ผมเชื่อว่าหากเราใช้รูปแบบของสภากาแฟจริง ไม่ดัดแปลง(ตามความถนัดของข้าราชการไทย) จนกลายเป็นเลียนรูปแบบสภาเช่น สภาผู้แทนราษฎร ที่จะต้องมีประธานสภา ต้องขออนุญาตพูด ต้องมีเลขานุการจดบันทึกการประชุม ฯลฯ เราก็จะได้ ความสัมพันธ์ในองค์กร ที่เป็นการได้มาแบบที่ผมเรียกว่าเป็นกระบวนการ ทางอ้อม

เพียงจัดสถานที่ไว้ให้เจ้าหน้าที่ได้พบหน้ากันก่อนจะเริ่มงานวันใหม่ ซดกาแฟ แกล้ม ปาท่องโก๋ หรือข้าวเหนียวสังขยา อยากคุยอะไรก็คุย อยากฟังก็ฟัง หรือจะอ่านหนังสือพิมพ์ก็ตามใจ จะมีโทรทัศน์ให้ตามข่าวสักหน่อยก็ได้ ไม่ต้องมีประธาน ไม่ต้องมีเลขาฯ ไม่ต้องมีใครเป็นเจ้าประจำหัวโต๊ะ ท่าทางมันจะมีความสุขไม่น้อยนะเนี่ย

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Gotoknow Blog Office 27 ตุลาคม 2549 14:38]

ไม่มีความคิดเห็น: