วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2545

โรค มือ เท้า ปาก

ได้ยินข่าว เรื่อง โรค มือ เท้า ปาก (Hand, Foot, and Mouth Disease) กันแล้ว หลายท่านโดยเฉพาะท่านที่มีบุตรหลานเล็กๆ ก็เกิดความตระหนก ตกใจ กันมาก บางท่านสงสัยว่ามันเกี่ยวอะไรกับโรค ปากและเท้าเปื่อย (Foot and Mouth disease) ในวัวในควาย หรือสัตว์เท้ากีบหรือไม่ แค่ชื่อเหมือนครับ เป็นคนละโรคกันครับ ส่วนโรค มือ เท้า ปากนั้น แม้ความจริงไม่มีอะไรน่ากลัว แต่ก็รู้วิธีการป้องกันไว้ดีกว่ากระมัง

ในโลกกว้างของเราใบนี้ มีอะไรมากมายที่เราไม่สามารถเข้าใจได้  อะไรก็ตามที่บอกว่า  เป็นเรื่องของ ธรรมชาติ นั่นก็แปลความหมายได้ว่า อธิบายไม่ได้ นั่นเอง

โรค มือ เท้า ปาก ก็เช่นกัน ทำไมมันต้องมามีอาการเป็นเฉพาะที่ มือ เท้า ปาก เท่านั้น ก็คงจะอธิบายท่านผู้อ่านไม่ได้ บอกได้แค่เพียงว่า มันเป็นธรรมชาติของโรค อย่าสงสัยอะไรมากเลยครับ

โรค มือ เท้า ปาก เป็นกลุ่มอาการของโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสหลายตัว(ไวรัสอีกแล้ว)  ที่พบเป็นสาเหตุบ่อยๆ ได้แก่  เอนเทอโรไวรัส ๗๑ (Enterovirus 71) และ  ค็อกแซคกีไวรัส เอ ๑๖ (Coxsackievirus A16) เป็นต้น

การติดต่อของโรค เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายโดยการสัมผัส คลุกคลีกับผู้ป่วย น้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระของผู้ป่วย  หลังจากนั้น ประมาณ ๓-๖ วัน ก็จะเริ่มมีอาการ (เรียกระยะนี้ว่า ระยะฟักตัวของโรค)
กลุ่มที่เสี่ยงต่อการเป็นโรค มือ เท้า ปาก หรือครับ ก็เป็นเด็กนั่นแหละ  เด็กที่อายุต่ำกว่า ๑๐ ปี (คนโตก็เป็นได้ ถ้าภูมิต้านทานไม่ดี) ส่วนฤดูกาลที่มีการระบาดนั้นไม่ชัดเจน มักพบในช่วงอากาศเย็น โดยเฉพาะในฤดูฝน และฤดูหนาว อ้อ โรคนี้ ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน นะครับ
อาการและอาการแสดง เริ่มด้วยมีไข้ต่ำๆ  เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมาอีก ๒-๓ วันมีอาการเจ็บปาก มีจุดหรือ ผื่นแดง ที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ต่อมามีผื่นแดง ตุ่มพอง(ไม่คัน) และมีแผลที่ ปาก มือ นิ้วมือ(มักอยู่ด้านข้างนิ้ว) ฝ่าเท้า(มักอยู่ที่ส้นเท้า) และอาจพบที่ก้นด้วย ผื่นนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส รอบๆแดง และแตกออกเป็นแผลตื้นๆ  จึงเรียกว่า โรคมือ เท้า ปาก ( ความจริงน่าจะเรียกได้ว่าโรค มือ ก้น ส้นตีน ปาก )

โดยทั่วไปโรค มือ เท้า ปาก จะมีอาการไม่รุนแรง และแทบไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิตเลย

การรักษา ง่ายครับ เพราะ ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง และหายเองได้ ป่วยนาน ๗-๑๐ วัน ให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ปวด ไม่มียาเฉพาะ เป็นแล้วเป็นอีกได้ จากเชื้อไวรัสตัวอื่น กรณีเป็นรุนแรง เช่นที่พบในสิงคโปร์  อาจมีอาการรุนแรง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาการแทรกซ้อนที่ปอด และเยื่อหุ้มสมอง หรือสมองอักเสบได้
การป้องกัน ก็ง่ายครับ แต่ทำไม่ค่อยได้ นั่นคือ การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น การล้างมือให้สะอาด หลังการขับถ่าย และก่อนรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำ หลอดดูด ร่วมกัน โดยเฉพาะในเด็กนักเรียน คุณพ่อคุณแม่ อย่าวางใจให้คุณครูดูแลคนเดียวนะครับ 

สำหรับโรค ที่เกิดอาการบาดเจ็บที่ปาก อันเนื่องมาจาก มือ และเท้า ไม่นับรวมอยู่ในกลุ่มอาการ โรค มือ เท้า ปาก และป้องกันไม่ได้ ด้วยวิธีที่ผู้เขียนแนะนำนะ  จะบอกให้


[พิมพ์ครั้งแรก ใบปลิว เมื่อ ๐๒-๐๗-๒๕๔๕]