วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2545

ประชาคมเจ้าเล่ห์


ผู้เขียนเองนั้น นับได้ว่าเป็นผู้ที่มีแนวความคิดเป็นแบบ เผด็จการ (Dictator) เต็มตัว ยากที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อกระแสแนวทางการทำงานแบบประชาธิปไตยรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะกระบวนการประชาธิปไตยแบบที่เรียกว่า ประชาคม หรือ ประชาสังคม แพร่หลายมากขึ้น ผู้เขียนก็บังเกิดวิตกจริตมากขึ้น ว่าจะทำอย่างไรจึงจะดำรงความคิดแบบเผด็จการของตนไว้ให้ได้ โดยให้สอดคล้องกับในทางปฏิบัติตามกระแสสังคมปัจจุบัน

ประชาคม มีความหมายตามพจนานุกรมว่า ชุมชน , กลุ่มชนซึ่งอยู่รวมกันและมีการติดต่อสัมพันธ์กัน แต่ประชาคม หรือประชาสังคมที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในขณะนี้ แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า Civil Society มีความหมายที่ผู้รู้ให้ความหมายไว้แตกต่างกันมากมาย สรุปเป็นที่เข้าใจกันได้ว่า เป็นกระบวนการ คิดแก้ไขปัญหาหรือจัดการปัญหาร่วมกันของสังคมหรือชุมชน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (steak holder) โดยมีวัตถุประสงค์ อุดมคติ และความเชื่อร่วมกัน

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ผู้เขียนก็ยิ่งทำใจลำบาก เพราะถ้าใช้กระบวนการประชาคมในงานบริหารทุกๆงานแล้ว ผู้เขียน ในฐานะ ผู้บริหาร ก็คงจะไม่รู้จะวางตัวอย่างไร จำเป็นต้องใช้ ทฤษฎีภาวะผู้นำแบบใช้เล่ห์เหลี่ยม (Machiavellian Leadership) เข้ามาช่วย ซึ่งหลักการของทฤษฎีนี้จะสนับสนุน การใช้เล่ห์เหลี่ยม (Craft)  การตีสองหน้า (Duplicity) และ ความฉลาด แกมโกง(Cunning) เป็นหลักในการปกครองเพื่อเพิ่มอำนาจบารมีและความสำเร็จ และเพื่อเน้นประโยชน์เพื่อให้งานสำเร็จเป็นที่ตั้ง จึงไม่ต้องใส่ใจกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล คนก็เป็นเสมือนสิ่งของ ไม่ต้องสนใจพันธะสัญญาที่ควรจะเป็น

ในกระบวนการประชาคมแบบใช้เล่ห์เหลี่ยม จึงควรเป็นเช่นนี้ กระมังครับ

๑. จัดการจัดประชุมประชาคม( ภาษาประชาคมต้องเรียกว่า เวทีประชาคม ) ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้เขียน โดยการจัดองค์ประชุมให้สับสน ประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย หลายระดับ ยิ่งมีความสัมพันธ์ในแนวดิ่งยิ่งดี (แต่ให้ดูเหมือนเป็นไปตามแนวทางที่ถูกต้อง คือกลุ่มคนผู้ร่วมเวทีประชาคมอันเป็นองค์ประกอบพื้นฐาน ควรมาจากผู้ที่มีความสัมพันธ์กันในแนวราบ และมีส่วนร่วมในเรื่องที่จะพูดคุยกัน) และ ต้องพยายาม อย่าให้ ผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะแสดงความคิดเห็นตรงข้ามได้เข้าร่วมประชุมด้วย

๒. ใช้จุดอ่อนของประชาคมให้เป็นประโยชน์ จุดอ่อนของประชาคมคืออะไร จุดอ่อนของประชาคมก็คือจุดที่กระบวนการประชาคม คิดว่าแข็งที่สุดนั่นเอง ก็คือกระบวนการคิดของผู้มีส่วนร่วม แต่ ผู้มีส่วนร่วมในสังคมไทยเรา มักไม่ค่อยแสดงความคิดเห็น ทั้งจาก ความไม่กล้าแสดงออก ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยเฉพาะของคนไทย และ ความไม่รู้  ความขี้เกรงใจ ไม่ชอบโต้แย้ง โต้เถียงด้วยเหตุผล โดยเฉพาะ การเกรงใจต่อผู้อาวุโส (ทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ หรือ ธนวุฒิ) หรือผู้บังคับบัญชา

๓. ชี้นำประชาคม โดยต้องพยายามเข้าไปมีบทบาทในการนำประชาคมให้ได้ เช่นเป็นผู้นำในการประชุม (moderator) เมื่อนำได้  ก็จะสามารถชี้นำให้ประชาคมถกกันได้ในประเด็นที่เราต้องการ แต่ทำให้ดูเหมือน ประชาคมผู้มีส่วนร่วมนั้น มีอำนาจในการคิด การตัดสินใจ โดยใช้ทั้งวิธีการ คุกคาม ข่มขู่ ทุกรูปแบบ แต่นิ่มนวล เชือดเฉือนด้วยคำพูด ให้คิดตามเราให้ได้ ตัดบท เมื่อมีแนวโน้มว่าจะออกนอกทางที่เรากำหนด

๔. ชิงสรุป อาศัยช่วงเวลาที่ประชาคมกำลังสับสน ชิงสรุปในประเด็นที่เราต้องการ ส่วนใหญ่ขี้เกรงใจ ไม่ค่อยมีใครทักท้วง

๕. จัดประชุมประชาคม ในเรื่องเดียวกัน ในหลายๆกลุ่ม อย่าให้คนเดิมได้มีโอกาสเข้าร่วมบ่อยนัก เพื่อจะได้เติมประเด็นได้ในการสรุปในภายหลัง ก่อนที่จะเผยแพร่  ส่วนใหญ่ไม่ได้จดได้จำว่า เคยคุยกันไว้อย่างไร ถึงแม้จำได้ ก็สามารถอ้างได้ว่าเป็นบทสรุปจากการทำเวทีประชาคมครั้งที่ผู้ท้วงไม่ได้เข้าร่วม

ครับ ประชาคม แบบ Devil Society ที่ผู้เขียนวางแผนไว้นี้ ก็น่าสำเร็จได้ไม่น้อย ท่านรู้แล้วเฉยไว้นะครับ อย่าไปบอกใคร  อย่าแสดงตนให้รู้นะว่ารู้ทัน โกรธจริงๆด้วย

[พิมพ์ครั้งแรก ว.๘ เมื่อ ๑๒-๐๙-๒๕๔๕]

ไม่มีความคิดเห็น: