วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2563

30 บาทรักษาทุกที่ นโยบายจับแพะชนแกะ

เมื่อได้รับฟังแนวคิดนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ทั้งรู้สึกตกใจและผิดหวัง ตกใจที่ใครนะ ช่างเสนอแนวคิดที่ถอยหลังลงคลองได้ถึงเพียงนี้ ผิดหวังที่แนวคิดนี้ไม่มีอะไรใหม่ เพียงแค่เอาความเคยชินของชาวบ้าน ที่วงการสาธารณสุขพยายามแก้ไขมาหลายทศวรรษ และเริ่มจะมีหนทางที่ดีขึ้น มาปั่นกระแสให้ยิ่งเลวร้ายขึ้น ความเคยชินของคนไทยที่ชอบหาหมอแบบ shopping around เกิดความสูญเสียทั้งทรัพย์สินเงินทองส่วนตนและทรัพยากรของรัฐ กำลังจะหมุนไป และตอนนี้กำลังจะหมุนมา

นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ชื่อบาดใจหลายคน ที่เคยส่งผลให้รัฐบาลยุคหนึ่งอาศัยใบบุญรับรางวัลจากองค์การสหประชาชาติ ถูกกระทำครั้งแรก ให้ยกเลิกการเก็บ 30 บาท ยกเลิกการมีส่วนร่วม (Copayment) ให้อิสระอยากจะไปหาหมออย่างไรก็ได้ มาคราวนี้โหดเหี้ยมหนักขึ้น คือไปรักษาที่ไหนก็ได้ โดยนัยยะ 30 บาทก็ไม่ต้องจ่าย เพราะเมื่อแก้กลับมาว่าต้องจ่าย 30 บาทก็ต้องเป็นไปโดยสมัครใจ

เมื่อประกาศนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในเบื้องต้นก็เริ่มมีคำถามข้อสงสัยมากมาย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าหน่วยบริการสุขภาพไม่ว่าของรัฐหรือเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งของกระทรวงสาธารณสุขเองไม่ค่อยให้การสนองตอบเพราะมองเห็นความหายนะอยู่เบื้องหน้า จึงต้องปรับแนวทางแก้เกี้ยว จับแพะชนแกะ ประกาศว่า รักษาที่ไหนก็ได้นั้นหมายถึง เฉพาะบริการปฐมภูมิ ยิ่งรู้สึกอนาถหนักขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเลขาธิการ สปสช. หน่วยงานที่ผลักดันแนวทางใช้เงินเป็นตัวขับเคลื่อนระบบสุขภาพ โดยพยายามจับคู่ประชากรกับหน่วยบริการมาตั้งแต่ก่อนตั้งองค์กรของตน ออกมาเป็นผู้ประกาศ

ทั้งนโยบายกระทรวงสาธารณสุขเองที่จะทำ คลินิกหมอครอบครัว ผลักดันให้มีหน่วยบริการปฐมภูมิ ให้ประชาชนจับคู่กับแพทย์ ให้ประชาชนทุกคน ทุกครอบครัวมีทีมหมอประจำตัว เน้นให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เป็นแพทย์คนแรกของประชาชน ถึงกับผลักดัน พรบ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.๒๕๖๒  ออกมา 

น่าเสียดายที่ผู้บริหารระดับนโยบายไม่เข้าใจแนวคิด เวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) ไม่รู้จัก แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (Family Doctor) ว่าเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่งที่เชี่ยวชาญในการดูแลสุขภาพ แบบองค์รวม (Holistic Care) คือดูแลทั้ง ร่างกาย จิตใจ และสังคม ดูแลแบบผสมผสาน (Comprehensive Care) คือทั้ง ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาโรค และฟื้นฟูสุขภาพ ดูแลแบบบูรณาการ (Integrated Care) โดยประสานความร่วมมือของ ท้องถิ่น สังคม และชุมชน รวมถึงอื่น ๆ เช่น สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ดูแลต่อเนื่อง (Continuity Care) คือ การจัดระบบให้มีทีมหมอประจำครอบครัว มีปัญหาสุขภาพพบและปรึกษาทีมหมอครอบครัวทีมเดิมต่อเนื่อง จัดระบบส่งต่อไปพบแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่น ทั้งส่งไปและรับกลับมาดูแลต่อ ไม่ใช่ตระเวนไปเริ่มรักษาที่ไหนก็ได้ตามความพึงพอใจ

ทีมหมอครอบครัว ใช้แนวคิด ดูแลคน ไม่ใช่ดูแลโรค รักษาคน ไม่ใช่รักษาโรค

กระทรวงสาธารณสุขผลักดันพรบ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.๒๕๖๒  ออกมา คาดหวังจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย  ๖ ประการ คือ
๑. ปรับเปลี่ยนระบบสุขภาพปฐมภูมิ  ให้มีชุดสิทธิประโยชน์สุขภาพปฐมภูมิ 
๒. สิทธิประชาชนด้านสุขภาพ ประชาชนทุกคนจะมี แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นแพทย์ประจำตัว ประชาชนเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพขั้นพื้นฐานและขั้นที่อาจทำให้ถึงล้มละลาย
๓. การพัฒนางานเวชศาสตร์ครอบครัวให้เข้มแข็งเป็นระบบหลักให้ระบบสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อสนับสนุนให้ระบบสุขภาพทุติยภูมิและตติยภูมิเข้มแข็งขึ้นตามลำดับ
๔. ระบบเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพ ให้กลับไปที่แพทย์ประจำตัว
๕. ระบบการเงินการคลัง ที่ปรับให้ทุกกองทุนสนองตอบต่อการบริการสุขภาพปฐมภูมิ
๖. ระบบสุขภาพประชาชน ให้ประชาชน ท้องถิ่นและสังคมเข้ามามีบทบาท มีส่วนร่วมการจัดการสุขภาวะของตน ส่งเสริมให้ประชาชนมีภูมิรู้ทางสุขภาพ (Health Literacy) สามารถจัดการตนเองด้านสุขภาพ (Health Self Management)

พรบ.กำหนดให้จัดให้มีหน่วยบริการปฐมภูมิ ดูแลประชาชนประมาณ ๑๐,๐๐๐ คนต่อหน่วยในเบื้องต้น ประเทศไทยต้องจัดให้มีหน่วยบริการปฐมภูมิประมาณ ๖,๕๐๐ หน่วย ในปี ๒๕๖๓ ตั้งเป้าดำเนินการ ๒,๖๐๐ หน่วยครบคลุมประชากร ๒๖ ล้านคน

น่าเสียดายและน่าเสียใจ ประชาชน ๒๖ ล้านคนที่เราเริ่มสร้างระบบให้มีแพทย์ประจำตัว กำลังถูก spoil ให้กลับไปสู่ระบบเดิมด้วยนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ไปที่ไหนก็ได้ตามที่ต้องการ ความพยายามสร้างระบบสุขภาพปฐมภูมิด้วยหลักการเวชศาสตร์ครอบครัว ของทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและทีมหมอครอบครัวที่พยายามสร้างความเชื่อมั่น (Trust) ต้องเหนื่อยยากมากขึ้น 

หากจะอ้างว่าเป็นการแก้ปัญหาทุจริตของคลินิกที่ร่วมงานกับสปสช.ในกทม. ก็ไม่ตรงสาเหตุ กลับยิ่งควรอาศัยจังหวะนี้เข้าไปจัดการระบบบริการปฐมภูมิในกทม.ให้เป็นไปตาม พรบ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.๒๕๖๒ เพื่อให้โอกาสคนกทม.ได้รับบริการปฐมภูมิ (ที่มิใช่มีแต่รักษาพยาบาลเพียงด้านเดียว)ได้ทัดเทียมคนต่างจังหวัดมากขึ้น ความยากในการจัดระบบบริการปฐมภูมิสำหรับคนกทม. ๘ ล้านคน ไม่อาศัยจังหวะนี้จะไปทำตอนไหน

ความเสียหายจากนโยบายนี้ พอสรุปได้คือ
๑.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ผ่านกระบวนการงานเวชศาสตร์ครอบครัว ทำงานยากขึ้น 
๒.ระบบส่งต่อ (Referal system) ได้รับผลกระทบเสียหาย
๓.แผนโครงสร้างระบบบริการ (Service Plan) ที่อุตส่าห์วางระบบไว้ให้มีการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ต่อเนื่อง ไม่ซ้ำซ้อน ประหยัดทรัพยากรชาติ ได้รับผลกระทบ 
๔.ปัญหาการเงินการคลังของโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่เริ่มดีขึ้น จะกลับมาด้วยการปรับการจัดสรร การขาดทุน ทั้งระยะสั้นระยะยาว การลงทุนที่ไม่คุ้มค่า

ถามคำเดียวว่า ใครได้ประโยชน์ 

และที่บอกกันว่า โกงอะไรก็โกงไป อย่าโกงเรื่องสุขภาพ อันนี้ไม่โกงก็เหมือนโกง







ไม่มีความคิดเห็น: