วันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เสียน้อยได้มาก

๑๖๔

ผู้มีความคิดย่อมเสียน้อยได้มาก

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 65

          เล่าปี่ตั้งค่ายรายตามริมน้ำสี่สิบค่าย ยาวถึงเจ็ดพันเส้น ทหารทั้งปวงก็เลินเล่อ ลกซุนจึงให้ตุนอิตั๋นคุมทหารห้าพันเข้าไปตีค่ายเปาเตียวให้ได้ ฝ่ายตุนอิตั๋นสู้เปาเตียวไม่ได้ต้องเกาทัณฑ์ขับม้าถอยหนีเข้าไปหาลกซุน แล้วร้องไห้ขอโทษที่แตกทัพมา ลกซุนจึงว่า ไม่เอาโทษเพราะตนแกล้งให้ไปเพื่ีอหวังจะดูกำลังของเล่าปี่ บัดนี้จะได้ไล่ตีทัพเล่าปี่ให้แตกไป ซีเซ่ง เตงฮองจึงว่า ทัพของเล่าปี่เข้มแข็งดีมาก จะตีเข้าไปให้แตกนั้นเห็นจะยาก จะเสียทหารเป็นอันมาก ลกซุนจึงหัวเราะแล้วว่า ประเพณีรบศึกหรือจะไม่ตาย แต่ผู้มีความคิดย่อมเสียน้อยได้มาก

กำไร คือ ผลที่ได้เกินต้นทุน
ขาดทุน คือ ผลที่ได้น้อยกว่าต้นทุน
เสียน้อยได้มาก จึงเรียกว่า กำไร
ทำการค้า ต้องมีกำไร
ทำการค้า จึงต้องคำนึงถึงกำไรขาดทุน

แต่การทำงานเพื่อประชาชน ย่อมมิใช่การค้า
เมื่อมิใช่การค้า จึงมิต้องคำนึงถึงกำไรขาดทุน
หากแต่ต้องคำนึงถึง ประสิทธิผล ประสิทธิภาพ

ประสิทธิผล คือ ผลสำเร็จที่เกิดขึ้น
ประสิทธิภาพ คือ ความสามารถที่ทำให้เกิดผล

บางคน ทำงานแม้ได้ประสิทธิผล แต่ไม่มีประสิทธิภาพ
บางคน ทำงานมีประสิทธิภาพ แต่ไม่ได้ประสิทธิผล
บางคน ทำงานมีทั้งประสิทธิภาพ และได้ประสิทธิผล
บางคน ทำงานไม่ได้ประสิทธิผล ทั้งไม่มีประสิทธิภาพ

หวังประสิทธิภาพมากเกินไป อาจไม่ได้ประสิทธิผล



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

          มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ
          ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
          ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้
          ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 
          มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้


ไม่มีความคิดเห็น: