วันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2561

ผู้ใหญ่-ผู้น้อย

๑๙๙

กลับเอาผู้ใหญ่เป็นผู้น้อย
มิได้ทำตามขนบธรรมเนียมบุราณ


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ ๘๗

          เมื่อเมืองเสฉวนเสียแก่สุมาเจียวแล้ว ฝ่ายขุนนางทั้งปวงจึงปรึกษากันว่า สุมาเจียวมหาอุปราชทำการได้เมืองเสฉวนมีความชอบมาก ควรที่จะเป็นที่จีนอ๋อง แล้วก็พากันไปทูลพระเจ้าโจฮวน พระเจ้าโจฮวนก็เห็นชอบด้วยตั้งสุมาเจียวเป็นที่จีนอ๋อง สุมาเจียวมีใจกำเริบคิดว่าแผ่นดินนี้เป็นของสุมาสูผู้พี่ บัดนี้สุมาเอี๋ยน สุมาฮิว ผู้บุตรก็จำเริญวัย ควรจะตั้งให้เป็นใหญ่ สุมาเอี๋ยนผู้พี่มีลักษณะดี แต่สุมาเจียวไม่ชอบจึงใคร่ตั้งสุมาฮิวผู้น้องให้เป็นที่ชีจู้ ขุนนางทั้งปวงจึงว่า จะสุมาฮิวตั้งผู้น้องเป็นที่ชีจู้นั้นมิชอบ ด้วยแผ่นดินแต่ก่อนเกิดจลาจลนั้นก็เพราะกลับเอาผู้ใหญ่เป็นผู้น้อยมิได้ทำตามขนบธรรมเนียมบุราณ จะตั้งให้น้องเป็นใหญ่กว่าพี่นั้นมิควร สุมาเจียวก็เห็นชอบ ตั้งสุมาเอี๋ยนเป็นเจ้าชีจู้

ผู้ใหญ่ คือผู้น้อยที่เติบโต พัฒนาการ แลสั่งสมประสบการณ์
ผู้น้อยต้องค่อย ๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่
ผู้น้อยต้องใช้เวลาในการสั่งสมประสบการณ์

ประสบการณ์แม้อาจเรียนรู้จากผู้อื่น แต่ก็มิได้ประสบด้วยตนเอง
ประสบการณ์ที่เรียนรู้จากผู้อื่น จึงเป็นเพียงความรู้
ความรู้อาจเรียนทันกันหมด แต่ประสบการณ์ต้องสั่งสมด้วยตนเอง

ผู้น้อยที่มีเพียงความรู้ หากไม่สั่งสมประสบการณ์ จึงอาจมิประสบผลสำเร็จ
ผู้ใหญ่ที่มีเพียงประสบการณ์ ไม่สั่งสมความรู้จึงอาจพ่ายแพ้แก่ผู้น้อย

เป็นผู้น้อยต้องสั่งสมประสบการณ์
เป็นผู้ใหญ่ต้องสั่งสมความรู้




สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

          มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ
          ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
          ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้
          ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 
          มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้

ไม่มีความคิดเห็น: