วันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ผู้จะเป็นขบถ

๑๗๒

ผู้จะเป็นขบถคิดร้ายต่อท่าน
แม้ท่านไม่รู้ตัวจึงทำการได้สะดวก

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 72

          ทหารคอยเหตุเอาเนื้อความไปแจ้งแก่ขงเบ้งว่า บัดนี้พระเจ้าโจยอยให้สุมาอี้ยกกองทัพไปบรรจบกับพระเจ้าโจยอย ขงเบ้งได้ฟังก็ตกใจสะดุ้งขึ้น แล้วแต่งหนังสือไปกำชับเบ้งตัดให้ระมัดระวังตัวต่อสุมาอี้ เมื่อเบ้งตัดอ่านหนังสือแจ้งในใจความก็หัวเราะแล้วว่า ความคิดขงเบ้งดีจริงแต่คิดสูงเกินกว่าการไป แล้วแต่งหนังสือกลับไปยังขงเบ้งว่ามิได้กลัวต่อสุมาอี้ จะรบเอาชัยชนะให้จงได้ ขงเบ้งแจ้งในหนังสือก็โกรธ แล้วว่าเบ้งตัดคิดการดูหมิ่นฉะนี้จะตายเพราะฝีมือสุมาอี้เป็นมั่นคง ม้าเจ๊กจึงถามว่า เหตุใดขงเบ้งจึงว่าฉะนี้ ขงเบ้งจึงว่า คำโบราณกล่าวไว้ว่า ผู้จะเป็นขบถคิดร้ายต่อท่าน แม้ท่านไม่รู้ตัวจึงทำการได้สะดวก 

ผู้จะเป็นขบถ ย่อมต้องรอจังหวะ
จังหวะที่ดีที่สุดคือ เมื่อผู้ถูกขบถไม่รู้ตัว
ผู้ถูกขบถไม่รู้ตัว ก็เพราะชะล่าใจ

การทุจริตในองค์กร

คนจะทุจริต ย่อมต้องรอจังหวะ
จังหวะที่ดีที่สุดคือ เมื่อผู้บังคับบัญชาไม่รู้ตัว
ผู้บังคับบัญชาไม่รู้ตัว ก็เพราะชะล่าใจ
ชะล่าใจเพราะ ความเคยชิน
ชะล่าใจเพราะ ความไว้วางใจ
เคยชินมากเกินไป  จึงมีโอกาสพลาด
ไว้วางใจมากเกินไป จึงมีโอกาสพลาด

หากตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาท
หากมีกระบวนการตรวจสอบ และหมั่นตรวจสอบสม่ำเสมอ
คนจะทุจริต ย่อมไม่มีจังหวะ
ไม่มีจังหวะ ย่อมไม่มีโอกาส
ไม่มีจังหวะ ไม่มีโอกาส จึงไม่พลาด

ไม่มีจังหวะ ไม่มีโอกาส ไม่พลาด จึงไม่มีทุจริต
เว้นแต่ ผู้บังคับบัญชา ตั้งใจร่วมทุจริต



สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

          มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ
          ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
          ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้
          ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 
          มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้

ไม่มีความคิดเห็น: