วันเสาร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2560

รีบรัด

๑๗๘

อันการทำศึกถ้าเห็นจะชนะ
ก็ควรรีบรัดทำการเสียแต่ต้นมือ

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 74

          ขงเบ้งยกทหารสามสิบหมื่นจะไปตีลกเอี๋ยงผ่านทางตำบลตันฉอง ทำกลอุบายให้เกียงอุยแสร้งไปเข้าด้วยโจจิ๋นจนต้องเสียปีเอียวไป โจจิ๋นจึงแต่งหนังสือไปแจ้งแก่พระเจ้าโจยอย สุมาอี้ทูลให้พระเจ้าโจยอยกำชับไปให้โจจิ๋นอย่ายกทหารล่วงหน้าไป ให้ยับยั้งดูท่วงทีชั้นเชิงขงเบ้งก่อน  โจจิ๋นปรึกษากับโกฉุยและซุนเล้ เห็นว่าน่าจะเป็นความคิดสุมาอี้จะช่วงชิงเอาความชอบ จึงไม่เชื่อฟังให้ซุนเล้ทำอุบายหวังจะไปเผาทหารขงเบ้ง ขงเบ้งจึงทำกลซ้อนเอาชัยชนะ ซุนเล้กลัวความตายพาทหารหนีไป โจจิ๋นก็เสียน้ำใจกำชับตรวจตราให้ทหารรักษาค่ายมั่นไว้ มิได้ยกออกสู้รบด้วยทหารขงเบ้ง ฝ่ายขงเบ้งใคร่ครวญดูเสบียงอาหารเบาบางลงก็ให้ตรวจตราตระเตรียมจะเลิกทัพกลับเมืองเสฉวน เอียวหงีจึงห้ามว่า สงครามมีชัยแก่ข้าศึกไฉนจึงจะยกทหารกลับเล่า ขงเบ้งจึงว่า เราได้เปรียบก็จริงแต่ทว่าเสบียงอาหารเบาบางแล้ว เกลือกว่าข้าศึกยกอ้อมไปปิดหลังจะเสียที  อันการทำศึกถ้าเห็นจะชนะก็ควรรีบรัดทำการเสียแต่ต้นมือ 

เวลา เป็นมิติที่สำคัญ
เวลาย่อมเปลี่ยนไป
เวลาที่เปลี่ยนไป สภาวะปัจจัยแลบริบทต่าง ๆ ย่อมเปลี่ยนแปลง

โอกาสของความสำเร็จขึ้นกับปัจจัยสภาวะแลบริบท
เมื่อสภาวะปัจจัยพร้อม จึงต้อง รีบรัด ทำให้ทันเวลา
เมื่อบริบทพร้อม จึงต้อง รีบรัด ทำให้ทันเวลา

หากทอดเวลาออกไป ย่อมต้องรอปัจจัยสภาวะใหม่
หากทอดเวลาออกไป ย่อมต้องรอบริบทใหม่

หลายคนจึง รอแล้วรออีก




สามก๊ก อ่านสามจบ ยังคบได้

          มีคำกล่าวล่ำลือถึงความเป็น สุดยอดตำราทางยุทธศาสตร์ ของ สามก๊ก ว่า อ่านสามจบคบไม่ได้  ฟังดูก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการนิยมยกย่องสักเท่าไร เพราะเหตุที่คบไม่ได้ มิใช่ว่าจะเป็นคนเก่งกล้าสามารถ แต่หากจะเป็นคน เจ้าเล่ห์แสนกล ด้วยสามก๊กนั้นเต็มไปด้วยกลอุบาย หรือที่คบไม่ได้อาจเป็นเพราะ ท่าทางจะเป็นคนโง่เหลือกำลัง ที่ทนอ่านอยู่ได้ตั้งสามจบ
          ผู้เขียนเองก็นับว่าอ่านสามก๊กมามากกว่าสามจบ ทั้งฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ฉบับ ยาขอบ และฉบับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็อ่าน อ่านทุกครั้งก็สนุกทุกครั้ง ไม่วิเคราะห์ไม่คิดมากให้เสียเวลา อ่านเอาสนุก อ่านเป็นนิยาย
          ก็คนเขียนเขาเขียนเป็นนิยาย จะไปอ่านเอาสาระทำไมกัน หาก หลอกว้านจง ผู้ประพันธ์ รู้เข้าก็คงจะงุนงงเป็นยิ่งนักที่สามก๊กกลายเป็นตำราพิชัยสงคราม ตำราการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไปได้
          ผู้เขียนฟัง อาปา เล่าเรื่องสามก๊กให้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไหวพริบของตัวละครต่างๆในสามก๊ก ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจอ่านสามก๊กเพื่อไปค้นหาข้อความที่อาปาเล่า ฉบับแรกที่อ่านก็เป็นฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มใหญ่หนาที่บ้านอาโกว 
          มานึกได้วันหนึ่งว่า น่าจะลองอ่านสามก๊กใหม่อีกสักหน คราวนี้จะลองอ่านแบบ อ่านเอาเรื่อง อ่านตรงที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน เพื่อยืนยันว่าอ่านอีกกี่จบก็น่าจะ ยังคบได้


ไม่มีความคิดเห็น: