วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

จินตนาการจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด(การบริหารจัดการโรงแรมดีที่สุดในนครหลวงทิเบต)


"เมื่อผู้พูดเป็นบุคคลในเครื่องแบบ คำพูดของเขาย่อมถูกต้อง"

การบริหารจัดการโรงแรมดีที่สุดในนครหลวงทิเบต
เอล็ด เลอ ซูเออร์ - สมพูน ปัณฑิตานนท์

ภาพลักษณ์คือ ภาพที่เกิดจากความนึกคิดหรือที่คิดว่าควรจะเป็นเช่นนั้น
ภาพลักษณ์ของผู้คน อาจเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นจะโดยตนเองหรือโดยผู้อื่น
ภาพลักษณ์ของผู้คน อาจถูกสร้างขึ้นโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว
ภาพลักษณ์ของผู้คน อาจทำให้ผู้อื่นรู้สึกทางบวกหรืออาจรู้สึกทางลบ

เมื่อผู้คนถูกนึกคิดในภาพลักษณ์นั้น ๆ แล้ว ย่อมเป็นการยากที่จะเข้าใจเป็นอื่น
หากไม่แก้ไขภาพลักษณ์ทางลบ จะมีแต่ลบลงเรื่อย ๆ
และหากไม่เสริมภาพลักษณ์ทางบวก ก็จะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่มีบวกเพิ่มขึ้น

พึงตรวจสอบภาพลักษณ์ของตน เสริมภาพลักษณ์เชิงบวก แก้ไขภาพลักษณ์เชิงลบ


ต้นเรื่อง

การบริหารจัดการโรงแรมดีที่สุดในนครหลวงทิเบต เป็นหนังสือเชิงสาระบันเทิงคดีของ เอล็ด เลอ ซูเออร์ ผู้ไปใช้ชีวิต 5 ปีในทิเบต เพื่อบริหารจัดการฮอลิเดย์อินน์ ลาซ่า ร่วมกับชาวต่างชาติ 10 คน เป็นฮอลิเดย์อินน์ที่ไม่น่าเป็นไปได้มากที่สุดในโลก ต้องเผชิญกับปัญหาความแตกต่างของวัฒนธรรม การเมือง และศาสนา ต้องพยายามทำให้รอดทั้งตนเองและกิจการโรงแรม


จินตนาการจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด




วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

จินตนาการผจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด(อัลมอนด์)


"แต่พอไม่มีโค้ชคอยควบคุม นักกีฬาจึงนิ่งนอนใจและเล่นไปตามที่สมองสั่งการเท่านั้น"

อัลมอนด์
Sonh Won Pyung - ภัททิรา

มนุษย์มีสมองใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่น
มนุษย์มีสมองใหญ่ก็เพื่อคิดและจินตนาการ ต่างจากสัตว์อื่นที่มีเพียงสัญชาตญาณ
หากมนุษย์มิใช้สมอง ในการคิดแลจินตนาการ เช่นนั้นก็ไร้ประโยชน์ 

มนุษย์ไม่คิดไม่จินตนาการ ก็ด้วยเหตุสองประการ
หนึ่งคือ มีผู้ควบคุมกำหนดไม่ให้คิด ไม่ให้จินตนาการ
หนึ่งคือ เกียจคร้านที่จะคิด ที่จะจินตนาการ ให้ผู้อื่นหรือแม้กระทั่งปัญญาประดิษฐ์คิดแทน จินตนาการแทน

ผู้ใดที่ไม่คิด ไม่จินตนาการ ไม่รู้จักใช้สมอง ในที่สุดก็จะเหลือเพียงสัญชาตญาณ
แล้วจะต่างอะไรกับสัตว์อื่น

หมั่นใช้สมองตนเองด้วยการคิดและจินตนาการ 
อย่าชี้นำแลควบคุมผู้อื่นมิให้ใช้สมอง


ต้นเรื่อง

อัลมอนด์ เป็นนวนิยายที่ให้บทบาทตัวเอกมีปัญหาที่สมองส่วนอะมิกดาลา (amygdala) ซึ่งมีลักษณะคล้ายเมล็ดอัลมอนด์ ทำหน้าที่ควบคุมเหตุผลและอารมณ์ ทำให้เป็นคนไร้อารมณ์ เล่าเรื่องของตนเองที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่มีแต่คนคอยทับถม แต่ก็ยังโชคดีที่มีทั้งแม่และยายคอยดูแล เมื่อวันหนึ่งยายและแม่ไม่สามารถดูแลได้ เขาจะอยู่อย่างไร


Quote ที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากหนังสือเล่มนี้

"คนอื่นน่ะ เวลาเห็นใครแตกต่างจากตัวเอง มักทนไม่ได้"
 
"การไม่รู้จักความกลัว ไม่ใช่ความกล้าหาญ"
 
 "ในโลกนี้ไม่มีคำตอบที่ตายตัว"
 
"การใช้ชีวิตรวมกลุ่มกันจำเป็นต้องมีแพะรับบาป"
 
"ก่อนเปิดอ่านหนังสือมันจะเงียบ เงียบเหมือนตายไปแล้ว แต่พอเปิดอ่าน เรื่องราวต่าง ๆ ก็จะหลั่งไหลออกมา"
 
"ในโลกนี้น่ะ คำถามเพียงคำถามเดียวสามารถตอบได้เป็นร้อยแบบ"

หมายเหตุ
จินตนาการจากเพื่อนเฟสบุ้คบางคน

@พนัส โสภณพงษ์
ศิษย์มีครูไม่เหมือนกับคนมีโค้ช 
ครูจะให้ปัญญา โค้ช จะใส่ความคิดตัวเอง

@Ratavuth Sukme
นักกีฬาสมัครเล่นไม่ต้องสนใจโค้ช เล่นเอามัน ออกกำลัง โชว์ สนุกออก

จินตนาการผจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด


วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

จินตนาการจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด(เหยี่ยวมารสยบสิบทิศ 2)


"อนาคตเป็นของคนที่เตรียมพร้อมอยู่ก่อน"

เหยี่ยวมารสยบสิบทิศ 2
หวงอี้ : น.นพรัตน์

การแข่งขันกีฬาหลายประเภท กรรมการจะเตือนให้นักกีฬาเตรียมพร้อมก่อนจะส่งสัญญานเริ่มแข็งขัน
แต่การแข็งขันในระหว่างการทำงาน มักไม่ให้โอกาสในการเตรียมพร้อม
ยิ่งเป็นเรื่องการแข็งขันกับตนเองในชีวิตตนเอง อย่าว่าแต่เตรียมพร้อม อาจไม่มีโอกาสแม้จะเตรียมตัว

การเตรียมตนให้พร้อม จึงเป็นเรื่องของผู้ที่รู้จักเป้าหมายของตน รู้จักวิเคราะห์ และรู้จักการวางแผน
การเตรียมตนให้พร้อม จึงหมายถึงพร้อมก่อนผู้อื่น พร้อมก่อนปัจจัยอื่น

หากรอให้ทุกสิ่งทุกอย่างพร้อม ก็สายไปเสียแล้ว


ต้นเรื่อง

เหยี่ยวมารสยบสิบทิศ เป็นผลงานของ หวงอี้ เป็นภาคสุดท้ายในไตรภาคถังรุ่งเรือง ดำเนินเนื้อเรื่องสืบต่อมาจาก เหยี่ยวมารสะท้านสิบทิศ และ เหยี่ยวมารสัประยุทธ์สิบทิศ หลังจากผ่านการเปลี่ยนแปลงมากมาย ในที่สุดพระนางบูเช็คเทียนตัดสินใจลงจากบัลลังก์ แผ่นดินจีนจึงผลัดเปลี่ยนจากราชวงศ์โจวกลับมาเป็นราชวงศ์ถังอีกครั้ง แต่ในชั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงย่อมเต็มไปด้วยขวากหนามที่ หลงอิง ผู้ทำตัวดั่เทพอธรรมค้ำบัลลังก์ทั้งสองราชวงศ์ให้เปลี่ยนผ่านไปได้ เรื่องราวดำเนินมาได้ถึงเล่มที่ 22 แต่หวงอี้ ผู้ประพันธ์ได้เสียชีวิตลงก่อน เรื่องราวไตรภาคถังรุ่งเรืองจึงยังไม่จบลงตามความตั้งใจของผู้ประพันธ์

Quote ที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากหนังสือเล่มนี้

"คนมีความต้องการไม่สิ้นสุด"
 
"ไม่สะกดกลั้นเรื่องเล็กน้อย จะกระทบถึงแผนการใหญ่"
 
"คิดฟาดหวดสุนัขต้องดูเจ้าของ"
 
"เรื่องที่ดูเหมือนซับซ้อนยากเข้าใจ อาจรวบรัดธรรมดาก็ได้"
 
"คนโง่เขลาคือคนโง่เขลา ไม่อาจรักษาเยียวยาได้"


จินตนาการจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด







วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

จินตนาการจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด(#อ่านความคิด ชีวิตการทำงานผ่านFB)


"ถ้าคนในองค์กร บุคลากรหมดกำลังใจ องค์กรจะเดินหน้าไปได้อย่างไร"

#อ่านความคิด ชีวิตการทำงานผ่านFB
นพ.โสภณ เมฆธน

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ที่มิได้มีความต้องการเพียง ด้านชีวภาพ อันสิ่งจำเป็นเพื่อการอยู่รอด มิได้มีความต้องการเพียง ด้านกายภาพ ที่อำนวยความสะดวกสบายต่อการดำรงชีวิต

หากแต่มนุษย์ยังมีความต้องการทาง ด้านจิตใจ ยังต้องการความรัก ยังต้องการการปลุกปลอบขวัญกำลังใจเมื่อผิดหวังหรือมีทุกข์ ยังต้องการการชื่นชมเมื่อมีความสำเร็จ และมนุษย์ยังมีความต้องการ ทางสังคม คือความสัมพันธ์อันดีกับผู้คนอื่น ๆ

คนทำงานจึงมิได้ทำงานเพียงตามบทบาทหน้าที่ มิได้ทำงานตามสัญชาตญาณ คนทำงานก็เป็นมนุษย์


ต้นเรื่อง

นพ.โสภณ เมฆธน อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นคนชอบบันทึกเรื่องราวที่ได้ไปศึกษาดูงาน อบรม หรือตรวจราชการ แม้กระทั่งเมื่อเสร็จสิ้นการประชุมในบางการประชุมที่มิใช่วาระประจำ ระยะหลังได้นำบันทึกโพสต์เผยแพร่ในเฟสบุ๊ค #อ่านความคิดชีวิตการทำงานผ่านFB เป็นรวบรวมบันทึกช่วงเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่มีประโยชน์ในการไปคิดต่อยอด

Quote ที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากหนังสือเล่มนี้

"ทุกอย่างสำเร็จด้วยความตั้งใจทำจริง"

หมายเหตุ
จินตนาการจากเพื่อนเฟสบุ้คบางคน

@พงศ์ศักดิ์ ฉิ่งสุวรรณโรจน์
“การเสริมพลัง” เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะต้องนำไปใช้กับบุคลากรที่กำลังอ่อนแรง


จินตนาการจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด












วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

จินตนาการจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด(ผีสาง คางแดง)


"คนสร้างแต่เวรแต่กรรมไม่มีใครเขาอยากเข้าใกล้ กลัวจะโดนลูกหลง"

ผีสาง คางแดง
เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คนเป็นสัตว์สังคม คือต้องมีความสัมพันธ์กับผู้คนอื่น
ผู้คนใดที่แตกต่างจากผู้อื่นอย่างชัดเจน อาจไม่มีผู้คนคบหาสมาคมด้วย

เป็นคนเลวกเฬวราก อาจไม่มีผู้คนคบหาสมาคมด้วย
เป็นคนดีเลอเลิศ ก็อาจไม่มีผู้คนคบหาสมาคมด้วย

เป็นคนธรรมดา ๆ ที่อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ 
ไม่เพียงแต่ตนจะมีความสุข สังคมก็ไร้ปัญหา สังคมก็เป็นสุข


ต้นเรื่อง

เสฐียรพงษ์ วรรณปก นักวิชาการคนสำคัญด้านพุทธศาสนา เล่าเรื่องภูตผีปีศาจหรือโลกหลังความตาย ที่หลายคนกล่าวว่าเป็นเรื่องงมงายไร้สาระ แต่ในอีกมิติหนึ่งอาจเป็นอุบายสำคัญที่เชื่อมความสัมพันธ์ของผู้คนให้อยู่ร่วมกันอย่างราบรื่นด้วยศีลธรรมที่สอดแทรกอยู่ในศรัทธา ผีสางคางแดง เป็นเรื่องราวของผี จากเรื่องเล่าที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยมาแยกแยะทำความเข้าใจ

Quote ที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากหนังสือเล่มนี้

"เทวดากินแต่บุญเก่า ไม่มีโอกาสสร้างบุญใหม่ มนุษย์กินทั้งบุญเก่าและมีโอกาสสร้างบุญใหม่ในโลกมนุษย์"
 
"ขึ้นชื่อว่าความชั่วไม่ควรทำเป็นอันขาด"


จินตนาการจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด




วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

จินตนาการจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด(มฤตยูสีขาว)


"ไพ่แจกแล้ว...ตอนนี้ทำอะไรไม่ได้อีก นอกจากเล่นไม่ว่าจะได้หรือเสีย"

มฤตยูสีขาว
Ken Follet - กานต์สิริ โรจนสุวรรณ

ก่อนการตัดสินใจลงมือทำการใด จำต้องวิเคราะห์ผลดีผลเสียให้ชัดเจน
เมื่อลงมือปฏิบัติแล้วจะได้มุ่งหน้าดำเนินการจนบรรลุผลสำเร็จ
ระหว่างดำเนินการหากประเมินว่าจำเป็น ก็เพียงปรับ มิใช่เปลี่ยน

ผู้บริหารบางคนตัดสินใจโลเลไม่แน่นอน อ้างโน่นอ้างนี่ เดี๋ยวทำเดี๋ยวไม่ทำ ทำ ๆ ไปก็ยกเลิก เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา น่ารำคาญ


ต้นเรื่อง

มฤตยูสีขาว นวนิยายระทึกขวัญ เรื่องราวของเชื้อไวรัสร้ายแรง ชนิดหากติดเชื้อโอกาสรอดชีวิตเท่ากับศูนย์ ที่หายไปจากห้องทดลองที่มีระบบป้องกันเข้มแข็ง ในคืนวันคริสต์มาส อดีตตำรวจหญิงผู้ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยห้องปฏิบัติการจะต้องจัดการติดตามหาไวรัสก่อนที่จะเกิดปัญหาใหญ่ของมวลมนุษยชาติ

Quote ที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากหนังสือเล่มนี้

"เราต่างแหกกฎกันเป็นครั้งคราวทั้งนั้น ชีวิตก็เป็นแบบนี้แหละ"

"เมื่อไพ่ไม่เข้าข้าง การหมอบไว้ก่อนนับว่าดีที่สุด"

"ไม่มีระบบไหนที่สมบูรณ์แบบ"

"เราต่างมีจุดอ่อนกันทั้งนั้น"

"ถึงมันจะเลวร้าย แต่ก็จะผ่านพ้นไปเอง"

หมายเหตุ
จินตนาการจากเพื่อนเฟสบุ้คบางคน

@Paiboon Ton 
ไพ่หงายหมดแล้วใครโกงเดี๋ยวรู้


จินตนาการจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด


วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

จินตนาการจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด(วินาทีชีวิต)


"ในโลกของเรานี้ เหตุการณ์ใด ๆ ที่เคยเกิด ล้วนมักเกิดซ้ำขึ้นไม่วันใดก็วันหนึ่ง"

วินาทีชีวิต
ชัญวลี ศรีสุโข

ธรรมชาติอาจเกิดซ้ำรอยเดิม
แต่การกระทำของผู้คน ย่อมแตกต่าง
ผู้คนใด แม้เคยกระทำอันใดสำเร็จ มิได้หมายความว่าหากกระทำซ้ำจะสำเร็จเช่นเดิม
ผู้คนใด แม้เคยกระทำอันใดล้มเหลว มิได้หมายความว่าหากกระทำซ้ำจะล้มเหลวเช่นเดิม

ประวัติศาสตร์ เป็นเพียงสิ่งเตือนใจ มิให้กระทำซ้ำในโอกาสที่จะล้มเหลว หรือควรกระทำซ้ำในสิ่งที่มีโอกาสสำเร็จ

อย่าคาดหวัง อย่ากังวล


ต้นเรื่อง

รวมเรื่องสั้นประสพการณ์ และความรู้สึกในห้องผ่าตัด ที่เขียนโดยแพทย์สูตินรีเวชวิทยา ถึงอารมณ์ความรู้สึกของทุกชีวิตที่เผชิญกับภาวะเสี่ยงในห้องผ่าตัด ที่ไม่มีใครอยากเข้าไปสัมผัส ไม่อยากใช้บริการ ทุกเรื่องราวเล่าได้อย่างจริงจัง จนเห็นภาพห้องผ่าตัดที่ทุกวินาทีคือความเป็นความตายของคนไข้

Quote ที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากหนังสือเล่มนี้

"อย่าคิดว่าเก่งที่คิดออก คนอื่นอาจทำมาแล้ว อย่าคิดว่าทำอีกไม่ได้ ถ้ามันดีก็ทำซ้ำ"

"ชื่อว่าที่ลับในโลก ย่อมไม่มีแก่ผู้กระทำบาปกรรม"


จินตนาการจากการอ่าน ช่างเพริศแพร้วยิ่งกว่าสิ่งใด