วันพุธที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2560

ขี้ฉ้อฉล



เอ๋ย สักวา ๔๘


สักวา น่าเบื่อ พวกขี้ตู่
ยึดตัวกู ของกู พวกกูนั่น
ประชาชน เป็นของกู ไม่แบ่งปัน
ใครทั้งนั้น ห้ามทำดี ทั่วสกล
คิดทำดี ใยต้องมี ที่แอบแฝง
หวังแก่งแย่ง ชิงตำแหน่ง ประโยชน์ผล
กลัวสูญเสีย หวงอำนาจ พรรคพวกตน
โถ...ก็แค่คน ขี้ฉ้อฉล เท่านั้นเอย

หมายเหตุ

เมื่องานที่ทำ ได้รับคำถามว่า ถามประชาชนหรือยัง
เราต่างก็ไม่เคยถามประชาชน
แต่พอไม่ได้ดั่งใจ
ทำไมชอบอ้างประชาชนจัง

วันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2560

กระบวนทัศน์

๑๕๗



ถ้ามิทำก็จะเสียขนบธรรมเนียมไป


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 62

          โจผีคิดฆ่าโจสิดน้องชาย บีบคั้นให้ว่าโคลงในเจ็ดก้าว โจสิดว่าโคลงเป็นใจความว่า คั่วถั่วเอากิ่งถั่วมาเป็นฟืนใส่ไฟ เมล็ดถั่วในกระทะจะไหม้ก็เพราะกิ่งถั่วต้นรากอันเดียวกันนั่นเอง เหตุใดจึงเร่งไฟเข้าให้หนักนัก โจผีได้ยินก็รำลึกถึงความรักพี่น้องก็ร้องไห้ มารดาต่อว่าโจผีว่า เหตุใดจึงเคี่ยวเข็ญน้องให้ได้ความเดือดร้อนนัก โจผีตอบมารดาว่า เป็นอย่างธรรมเนียมแผ่นดินผู้ใดผิดแล้วต้องทำโทษ ถ้ามิทำก็จะเสียขนบธรรมเนียมไป แล้วสั่งให้โจสิดไปเป็นเจ้าเมืองอันเหียง

ขนบธรรมเนียม แปลว่า แบบอย่างที่นิยมกันมา 
ขนบธรรมเนียม จึงคือ ความเหมาะสมที่กำหนดขึ้นในห้วงเวลาหนึ่ง
ขนบธรรมเนียม จึงคือ กระบวนทัศน์ (Paradigm)

กระบวนทัศน์ ก็คือ
กรอบความคิด ค่านิยม การรับรู้ และ การปฏิบัติ
ที่ชุมชนหนึ่ง ๆ มีหรือกระทำร่วมกัน

เมื่อเวลาเปลี่ยนไป
เมื่อสภาวะเปลี่ยนไป
กระบวนทัศน์เดิมไม่สามารถแก้ปัญหาให้ชุมชนได้
กระบวนทัศน์ใหม่ย่อมเกิดขึ้น

เมื่อเวลาเปลี่ยนไป
เมื่อสภาวะเปลี่ยนไป
ขนบธรรมเนียมเดิมไม่สามารถแก้ปัญหาให้ชุมชนได้
ขนบธรรมเนียมใหม่ย่อมเกิดขึ้น

หากยังหลงอยู่กับกระบวนทัศน์เก่า
หากยังหลงอยู่กับขนบธรรมเนียมเก่า
มิเพียงไม่สามารถแก้ปัญหา
หากยังลากพาให้ของเดิมที่ดีอยู่กลับแย่ลง


หมายเหตุ

กระบวนทัศน์ = Paradigm
กรอบความคิด = Conceptual Framework
ค่านิยม = Value
การรับรู้ = Perceptions
การปฏิบัติ = Practice
ที่ชุมชน = Community


วันเสาร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2560

รากเดียวกัน


๑๕๖


คั่วถั่วเอากิ่งถั่วมาเป็นฟืนใส่ไฟ
เมล็ดถั่วในกระทะจะไหม้
ก็เพราะกิ่งถั่วต้นรากอันเดียวกันนั่นเอง 
เหตุใดจึงเร่งไฟเข้าให้หนักนัก

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 62

          เมื่อโจโฉตาย โจผีขึ้นเป็นเจ้าว่าราชการแทน ฮัวหิมได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาบดีฝ่ายขวา ยุยงให้โจผีลงอาญาโจหิม โจสิดผู้เป็นน้องชายที่ไม่ไปทำการศพโจโฉผู้เป็นบิดา โจหิมตกใจกลัวอาญานักก็ผูกคอตาย ส่วนโจสิดให้เอาตะบองไล่ตีทหารที่โจผีส่งมานั้น โจผีโกรธนักจึงให้จับโจสิดมาจำไว้ ฝ่ายมารดาโจผีทราบข่าวจึงมาร้องไห้อ้อนวอนขอโทษกับโจผี ฮัวหิมยุยงว่า โจสิดคนนี้หลักแหลมอยู่ อันจะไว้ชีวิตนานไปจะเป็นอันตราย อันโจสิดนั้นมีคำเล่าลือว่าทำโคลงดีนัก ควรที่จะเอาตัวมาทำโคลงดู โจผีก็ให้หาตัวโจสิดเข้ามาแล้วสั่งว่า ถ้าโจสิดเก่งจริงจงเดินไปเจ็ดก้าว ว่าโคลงให้ได้เนื้อความในพี่น้อง ให้เอาเนื้อความอื่นมาเปรียบอย่าให้ออกชื่อพี่น้อง ถ้าทำได้จะยกโทษให้ ถ้าทำไม่ได้จะลงโทษถึงตาย โจสิดจึงเดินคิดว่าโคลงได้เจ็ดก้าวก็พอจบ เนื้อความว่า คั่วถั่วเอากิ่งถั่วมาเป็นฟืนใส่ไฟ เมล็ดถั่วในกระทะจะไหม้ ก็เพราะกิ่งถั่วต้นรากอันเดียวกันนั่นเอง เหตุใดจึงเร่งไฟเข้าให้หนักนัก


คนทำงานในองค์กร
ย่อมมีเป้าประสงค์เดียวกัน
คือทำงานให้บรรลุเป้าประสงค์ขององค์กร

คนทำงานในองค์กร จึงดั่งพี่น้องกัน
เกิดจากรากเดียว
แยกภารกิจตามบทบาท กิ่ง ก้าน ใบ ดอก ผล

ไม่ช่วยเหลือกัน ก็แล้วกันไป
แต่ถึงกับคิดร้ายทำลายกัน
เหยียบผู้ร่วมงานอื่นเพื่อก้าวต่อไป

ไม่มีใครทำร้ายเราได้เจ็บปวด
เท่าคนในครอบครัวเราเอง
ไม่มีใครทำร้ายเราได้เจ็บปวด
เท่าคนในองค์กรเราเอง



หมายเหตุ 1

โคลง 7 ก้าว ตามสำนวนเดิมของหลอกว้านจง(พร้อมคำอ่านเป็นภาษาแต้จิ๋ว) ว่า

煮豆燃豆萁 จู๋เต่าเหยียงเต่ากี
豆在釜中泣 เต่าต่อฮู้ตงขิบ
本是同根生 ปึ๊งสี่ตั่งกึงแซ
相煎何太急 เซียงเจี๊ยงห่อไท้กิบ

หมายเหตุ 2

ผู้เขียน เคยถอดความไว้เป็น กลอนห้า เลียนสำนวนจีน ความว่า

ต้มถั่วใช้เถาถั่ว
เจ้าเม็ดถั่วครวญขิบ
ต่างเกิดจากรากเดียว
ใยเร่งเคี่ยวกันฉิบ

หมายเหตุ 3

ผู้เขียน เคยถอดความเป็นบทสักวา ความว่า


สักวา ต้มถั่ว ใช้เถาถั่ว
เกลี่ยให้ทั่ว เป็นเชื้อ เพลิงลุกไหม้
เจ้าเม็ดถั่ว ร้องครวญคราง แสนปวดใจ
โอ้ไฉน ช่างคิดร้าย ทำลายกัน
ทั้งเมล็ด เถาต้นใบ ไปจากราก
จะดียาก ล้วนจากพ่อ แม่เดียวนั่น
เหตุใดจึง จ้องล่า ไล่ฟาดฟัน
ไทยทั้งนั้น หันกลับมา ดีกว่าเอย

หมายเหตุ 4

สำนวน C.H. Brewitt-Taylor ว่า

Cooking beans on a fire kindled with bean stalks,
The beans weep in the pot.
Originally born from the selfsame roots,
Why so eager to torture each other

หมายเหตุ 5

สำนวน ยาขอบ ว่า

ชาวบ้านต้มถั่วด้วยเพลิงที่เกิดจากเถาถั่ว
ฉะนั้นจึงมีเสียงคร่ำครวญขึ้นมาจากหม้อที่กำลังต้มถั่วว่า
โธ่ ไฉนเล่าเราเกิดมาจากรากเหง้าอันเดียวกัน
ควรหรือจะมาทำลายข้าพเจ้าด้วยโทสะร้อน

หมายเหตุ 6

สำนวน วรรณไว พัธโนทัย ว่า

เขาต้มถั่วด้วยถั่วเป็นต้นๆ
มันร้อนรนร้องลั่นจากอวยใหญ่
โอ้เกิดหน่อเดียวกันใช่ห่างไกล
เหตุไฉนเข่นฆ่าไม่ปราณี

วันเสาร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2560

4 ต้อง 2 ไม่ คลินิกหมอครอบครัว เอาไงดีแว้…

จากนโยบาย คลินิกหมอครอบครัว (PCC : Primary care Cluster) ของรัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข จะจัดแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวลงสู่ตำบล เพื่อให้บริการประชาชน ทุกคน ทุกอย่าง ทุกที่ ทุกเวลาด้วยเทคโนโลยี หลายท่านเป็นกังวล ว่าจะเอาอย่างไรดี ดูเหมือนมีปัญหาหลากหลาย

ด้วยคนกระทรวงสาธารณสุขเป็นคนเก่งคิด เก่งทำ ดังนั้นแม้จะเข้าใจหลักการ ก็ยังมักจะมีคำว่า แต่.....(ท่านรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขบอกว่า คนกระทรวงสาธารณสุขชอบบอกว่า Yes, But…)และชอบคิดแตกยอดไปจนสุดกู่ในมุมมองของแต่ละคน แล้วก็ต่างแสดงความคิดเห็นจนสับสนไปตาม ๆ กัน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่เสียหาย หากไม่ Drama ตีความสิ่งที่ตนคิดว่าเป็นสิ่งที่หน่วยนโยบายแอบแฝงไว้

สิ่งที่สำคัญคือ ต้องทำให้ประชาชนมั่นใจ เชื่อใจ ไว้วางใจ ในคลินิกหมอครอบครัวว่าสามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้จริง ประชาชนจะมีหมอประจำตัวที่สามารถปรึกษาได้ มีหมอเป็นญาติ ได้จริง

ดังนั้น ผู้บริหารทุกระดับ ตั้งแต่ระดับรัฐบาลจนถึงระดับพื้นที่ จึงควรทบทวนใน 4 ต้อง 2 ไม่ ต่อไปนี้

  สี่ต้อง  

1. ต้องคิดว่าเป็นการลงทุน ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2534 ความตอนหนึ่งว่า ...Our loss is our gain ขาดทุนของเราเป็นกำไรของเรา...ในการกระทำใด ๆ ถ้าเรายอมลงทุนลงแรงไปก็เหมือนเสียเปล่า แต่ในที่สุดเรากลับจะได้รับผลดี ทั้งทางตรง ทางอ้อม...

เมื่อเราจะทำธุรกิจอะไรสักอย่าง เห็นอยู่ว่าผลตอบแทนในอนาคตมีแน่นอน ถึงแม้วันนี้ไม่มีเงิน กู้มาลงทุนก็ต้องยอม เมื่อบทพิสูจน์จากหลายประเทศ จากหลายการศึกษาชัดเจนว่า การทำระบบสุขภาพปฐมภูมิให้ดี เป็นการเสริมสร้างสุขภาพ ประชาชนมีความรู้ทางสุขภาพ ลดป่วย ลดตาย ลดค่าใช้จ่าย ทั้งของภาครัฐและของประชาชน ถึงวันนี้ต้องทุ่มเทคน ทุ่มเทงบประมาณ ทุ่มเทสรรพกำลัง ก็ต้องลงมือทำ ไม่ทำวันนี้ก็มีแต่จมอยู่กับการพยายามแก้ปัญหาปลายทางอยู่ร่ำไป


ต้องมองในมุมที่เป็นประโยชน์ที่จะเกิดกับประชาชน และผลกระทบที่จะได้ต่อรัฐ ไม่ใช่เอาความกลัวขาดทุน กลัวสูญเสียอำนาจและกลัวสูญเสียบทบาทของตนมา เป็นตัวตัดสินใจในการดำเนินงาน

2.ต้องรวมองค์ เดิมเราต่างแยกทีมตาม ศสม./รพสต.ดูแลประชาชนในแต่ละศสม./รพสต. คนกระทรวงสาธารณสุขมักมีดีแบบแยกส่วน เรียกว่าแต่ละคนมี องค์ลง เมื่อร่วมกันเป็น ทีมหมอครอบครัว จะดูแลแบบองค์รวม ต้องรวมองค์ให้ได้ คือการรวมทีมเดิมของทุกคนใน ศสม./รพสต.มาเป็นทีมเดียวกัน คิดร่วมกันว่าจะดูแลคน 10,000 คนของเราทั้งหมดอย่างไร
3.ต้องตัดใจ การจัดบริการสุขภาพระบบเดิม เราพยายามจัดบริการให้ครอบคลุมผู้รับบริการทุกคน เราจึงทำได้แบบ มอง ๆ แล้วเขียนใบสั่งยา รอ 5 ชั่วโมง ได้พบหมอ 1 นาที แล้วออกไปรอรับยาต่ออีก 2 ชั่วโมง ทำไมรถไฟยังสามารถมีตู้ชั้นหนึ่งชั้นสองชั้นสามอยู่บนขบวนเดียวกันได้ ไม่มีเงิน จองตั๋วไม่ทัน อยากเดินทางก็ไปตีตั๋วยืนแออัดยัดเยียดแบบที่นั่งไม่มีเต็มชั้นสามโน่น ก็ไม่เห็นใครบ่นว่าอะไร แล้วทำไมเราต้องเป็นกังวลใจ จะดูแลประชาชนทุกคนให้ครบถ้วน ทั้งที่ ที่ผ่านมาก็ทำไม่ได้ดีอยู่แล้ว มีแต่รถไฟชั้นสามอยู่แล้ว ครั้งนี้จึง ต้องตัดใจ ตัดตอนมาทำทีละ 10,000 คน จัดคนดูแลประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ 10,000 คนให้ดี คนนอก catchment ให้อยู่กับระบบเดิมไปก่อน ไม่ต้องไปห่วง ทำดีเป็นทีม ๆ ไป ครบ 10 ปีก็มีคนไปดูแลครบถ้วนเองแหละ

4.ต้องคิดกลับหัว คือจะทำ PCC แต่ยังเอางานเดิมที่โดนสั่งมา เอากิจกรรมเดิม ๆ มาทำให้รกรุงรัง กังวลว่าจะขาดเนื้องานไปรายงาน ในที่สุดก็ ทำงานเดิมในชื่อใหม่ โยนเสื้อโหลที่ส่วนกลางตัดให้ ออกแบบตัดเสื้อให้เหมาะสมกับตัวเสียที คิดระบบบริการตามบริบทของพื้นที่ เอา Outcome เป็นตัวตั้ง ว่าต้องการให้ประชาชนใน catchment 10,000 คนของของเรามีสุขภาพดีอย่างไร มีความรู้ทางสุขภาพ (Health Literacy) อะไรบ้าง เอางานเดิมที่มีอยู่มากมายมาคัดสรรแต่ที่จำเป็น ร่วมกับกิจกรรมที่ควรดำเนินการใหม่ เป็น Input แล้วกำหนด Process ใหม่ ว่าจะทำอะไรบ้างดีกับประชาชน 10,000 คน ของเรา


  สองไม่  

1.ไม่คิดแยกส่วน เมื่อบอกจะเป็นหมอครอบครัว จะทำแบบ Holistic Care ทำแบบ Comprehensive Care แล้วทำไมยังไปแยกงานที่ทำเป็นส่วน ๆ เหมือนเดิม ไปสำรวจเด็กที ไปสำรวจวัยรุ่นที ไปตรวจเบาหวานที ตรวจความดันที แล้วกลับมาบอกว่ามีกลุ่มเสี่ยงเบาหวานกี่คน กลุ่มป่วยกี่คน ทำไมไม่ดูทั้งครอบครัว มีกี่คนก็ดูทุกคน มีกี่โรคก็ดูทุกโรค ทุกอวัยวะ แล้วสรุปให้ได้ว่า ดูไปกี่ครอบครัวแล้วในประชาชน 10,000 คน ที่เรารับผิดชอบ มีกี่ครอบครัวที่ปกติดี กี่ครอบครัวที่ป่วย ที่เสี่ยง ด้วยโรคต่าง ๆ จัดการให้ครอบครัวมีสุขภาวะที่ดีไปเท่าไร

2.ไม่ทำเอาใจนาย ปลัดกระทรวงมีนโยบายชัดเจนว่า เน้นคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ แปลว่าหากเราทำเยอะ ๆ แต่ไม่ได้คุณภาพ ประชาชนก็ไม่ได้รับในสิ่งที่แตกต่างที่ดีขึ้น ประชาชนก็ไม่ประทับใจ ไม่ใช้บริการ ก็เหมือนร้านอาหารเปิดสาขาเยอะแยะ แต่คุมคุณภาพไม่ได้ในที่สุดก็เจ๊งทุกสาขา ไม่ต้องแข่งกันรายงานปริมาณ แต่ควรแข่งกันรายงานคุณภาพ ใจเย็น ๆ มีเวลาตั้ง 10 ปี

ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องร่วมกันปฏิรูประบบบริการสุขภาพของประเทศ ทำสิ่งที่พวกเราชาวสาธารณสุขคิดและอยากทำมานานให้สำเร็จ เราเป็นสาธารณสุข 4.0 ต้องคิด ทำน้อยได้มาก เปลี่ยนปัญหาและความท้าทายให้เป็นศักยภาพและโอกาส สร้างความมั่นคงทางสุขภาพ นำไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ