วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2559

อภัย

เอ๋ยสักวา ๓๘




สักวา โดนใส่ร้าย โดนป้ายสี
แม้คนดี สีเปื้อนเปรอะ ก็เลอะสิ้น
สีเปื้อนตัว เช็ดขัดล้าง ไร้มลทิน
รอยราคิน สีเปื้อนใจ ไม่มลาย
สุขิตา โหนตุ ญาตะโย
จงสุขโข สุขขัง ญาติทั้งหลาย
อะเวรา โหนตุ สิ้นเวรไป
ก็แค่อภัย ให้พวกมัน เท่านั้นเอย

หมายเหตุ

1. เมื่อได้อ่าน https://www.facebook.com/pradthanadr/posts/1317486251613068 โดย นพ.สสจ.สิงห์บุรี ปรารถนา ประสงค์ดี จึงเกิดความคิดนี้ขึ้นมา

2. เมื่อย้อนกลับไปอ่าน แผ่เมตตา บทความที่เคยบันทึกไว้เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2553 ขณะทำงานที่อุทัยธานี http://buabangbai.blogspot.com/2010/11/blog-post_9.html ก็น่าจะยิ่งมีบทสรุปที่ชัดเจนขึ้น

หมายเหตุของหมายเหตุ 2.
หากต้องการอ่านข้อ comment ที่มีผู้แสดงความคิดเห็นด้วย รวมทั้ง หมอปรารถนา ต้องย้อนไปอ่านที่ Gotoknow https://www.gotoknow.org/posts/407294

วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2559

เสือต่อเสือ

๑๒๙


เมื่อแลเสือต่อเสือจะมาเกิดจลาจลขึ้นฉะนี้
การของเราจะมิเสียไปหรือ

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 51

เล่าปี่เตรียมยกทัพจากด่านโปยสิก๋วนไปตีเมืองเสฉวน
ทหารเข้ามาบอกว่าเล่าเจี้ยงส่งทัพมารักษาเมืองลกเสีย
ไว้แล้วให้เหลงเปา เตงเหียน คุมทหารมาตั้งค่ายอยู่ที่
ช่องแคบระหว่างทาง เล่าปี่ถามหาคนอาสาไปตีค่่าย
ช่องแคบ ฮองตงก็รับอาสา เมื่อเล่าปี่อนุญาต อุยเอี๋ยน
เข้ามาว่าแก่เล่าปี่ว่า ฮองตงชรามากแล้ว ขอให้อยู่ค่าย
เถิด ตนจะออกรบแทนเอง ฮองตงไม่พอใจเกิดการโต้
เถียงกับอุยเอี๋ยน ถึงขั้นให้บ่าวไปเอาง้าวมาจะสู้กับอุยเอี๋ยน
เล่าปี่เห็นดังนั้นจึงห้ามว่า เมื่อแลเสือต่อเสือจะมาเกิด
จลาจลขึ้นฉะนี้ การของเราจะมิเสียไปหรือ



เสือ เป็นสัตว์ป่า
มีพฤติกรรมการสร้างและป้องกันอาณาเขตของตนเอง
ไม่ยินยอมให้ใครล่วงล้ำอาณาเขตแห่งตน

เมื่อ เสือต่อเสือ ย่อมเกิดจลาจล
จึงไม่อาจเลี้ยงเสือไว้ในกรงเดียวกัน


คนเก่ง ก็เช่นเสือ
มักมีอาณาเขตเป็นของตนเอง
ใครจะมาล่วงล้ำอาณาเขตของตนไม่ได้
เมื่อ คนเก่งต่อคนเก่ง ก็อาจเกิดจลาจล
จึงไม่อาจให้คนเก่งทำงานร่วมกันได้

คนเก่ง ก็เช่นเสือ
ไม่เพียงไม่ยินยอมให้ผู้อื่นล่วงล้ำอาณาเขต
หากมีโอกาส มักลุกล้ำอาณาเขตของผู้อื่น

เพื่อให้งานขององค์กรประสบผลสำเร็จ
จึงต้องหาคนทำหน้าที่ประสานระหว่างคนเก่ง

คนที่จะประสานกับคนเก่งได้ดี
ต้องเป็นคนไม่เก่ง
คนที่จะประสานกับคนเก่งได้ดี
ต้องเป็นคนที่ไม่คิดว่าตนเองเก่ง

คนที่คิดว่าตนเองเก่ง ร้ายกว่าคนเก่ง

วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559

สมองหาย

เอ๋ย สักวา...๐๓๗



สักวา ก่อนนี้ มีสมอง
แม้บกพร่อง ยังพอใช้ ได้สร้างสรรค์
ได้วิพากษ์ ได้วิจารณ์ สารพัน
จู่จู่ดัน สมองหาย ใบ้บัดดล
ได้แต่นั่ง นิ่งเงียบ เปรียบดังหุ่น
งงงันงุน แล้วแต่ท่าน บันดาลผล
เหี่ยวหดห่อ รอวัน คืนตัวตน
ทนทุกข์-ทน จนกว่า เปลี่ยนแปลงเอย

วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2559

ไม่กลัวตาย

๑๒๘


อันเกิดมาเป็นมนุษย์นี้
ก็ย่อมกอบไปด้วยความตาย
ใครจะพ้นจากอันตรายก็หาไม่

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 51

เล่าเจี้ยงแจ้งว่าเล่าปี่ยกทหารเข้าตีเอาด่านโปยสิก๋วน
จึงให้เหลงเปา เล่ากุ๋ย เตียวหยิม เตงเหียน คุมทหาร
ไปตั้งขัดไว้ ณ เมืองลกเสีย เมื่อมาถึงกลางทาง เล่ากุ๋ย
ขอแวะดูชะตากับจีโฮโต้หยิน ที่ตำบลเขากิมปิสานให้รู้
ว่าร้ายแลดี เตียวหยิมจึงว่า อันเกิดมาเป็นมนุษย์นี้ก็ย่อม
กอบไปด้วยความตาย ใครจะพ้นจากอันตรายก็หาไม่
เป็นชายชาติทหารจะมาวิตกกังวล ไปถามให้เป็นลางแก่ตัวทำไม


ในสงคราม ผลของการรบมีได้เพียงสี่รูปแบบ
หนึ่งคือ ชนะ
หนึ่งคือ พ่ายแพ้
หนึ่งคือ ไม่ชนะไม่พ่ายแพ้ เลิกรากันไป
หนึ่งคือ ไม่ชนะไม่พ่ายแพ้ พักรบ รอกลับมารบกันใหม่

การสงครามไม่มีคำว่า เสมอ
การทำงานในองค์กร มีผลลัพธ์เพียงสองรูปแบบ
หนึ่งคือ สำเร็จ
หนึ่งคือ ล้มเหลว

สำเร็จ คือ ชนะ
ล้มเหลว คือ พ่ายแพ้

ทุกคนย่อมต้องพบกลับความตาย
กลัวตาย ได้แต่นอนรอความตาย

ไม่กลัวตาย จึงรอด

เมื่อล้มเหลว จึงต้อง ทบทวนหาสาเหตุ
แล้วย้อนกลับไปทำใหม่ ให้สำเร็จ
หากยังคงล้มเหลว ก็ทบทวนหาสาเหตุ
แล้วย้อนกลับไปทำใหม่ ให้สำเร็จ

การทำงานในองค์กร ไม่เพียงไม่มีคำว่า เสมอ
การทำงานในองค์กร ยังไม่มีคำว่า ยอมแพ้

ต้องกล้าล้มเหลว จึงจะสำเร็จ


หมายเหตุ
กล้าล้มเหลว มิใช่ล้มเหลวแล้วจึงหาทางแก้ไข
กล้าล้มเหลว คือ ต้องเตรียมการรับความล้มเหลว


วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2559

เถาถั่วต้มถั่ว

เอ๋ย สักวา...๐๓๖



สักวา ต้มถั่ว ใช้เถาถั่ว
เกลี่ยให้ทั่ว เป็นเชื้อ เพลิงลุกไหม้
เจ้าเม็ดถั่ว ร้องครวญคราง แสนปวดใจ
โอ้ไฉน ช่างคิดร้าย ทำลายกัน
ทั้งเมล็ด เถาต้นใบ ไปจากราก
จะดียาก ล้วนจากพ่อ แม่เดียวนั่น
เหตุใดจึง จ้องล่า ไล่ฟาดฟัน

ไทยทั้งนั้น หันกลับมา ดีกว่าเอย



สักวา ต้มถั่ว ใช้เถาถั่ว
เกลี่ยให้ทั่ว เป็นเชื้อ เพลิงลุกไหม้
เจ้าเม็ดถั่ว ร้องครวญคราง แสนปวดใจ
โอ้ไฉน ช่างคิดร้าย ทำลายกัน
ทั้งเมล็ด เถาต้นใบ ไปจากราก
จะดียาก ล้วนจากพ่อ แม่เดียวนั่น
เป็นพี่น้อง จ้องฆ่า ไล่ฟาดฟัน
ไทยทั้งนั้น หันกลับมา ดีกว่าเอย

หมายเหตุ

เดิมเขียนไว้และ Post บน Facebook ได้รับความสนใจจากเพื่อน นพ.พงษ์เกียรติ



ต่อมาอีกหลายเดือน 20 June 2016 จึงได้มาทบทวนปรับแก้ใหม่ เฉพาะส่วนที่มีคำว่า พี่น้อง และคำว่า ฆ่า (อาปาเล่าให้ฟังว่า โจผีสั่งโจสิดให้แต่งโคลงภายใน 7 ก้าวโดยไม่ให้มีสองคำดังกล่าว)
จาก

The seven-step Poem ( โคลง ๗ ก้าว )
Cao Zhi (192-232) (โจสิด)


煮豆燃豆萁 
豆在釜中泣
本是同根生
相煎何太急



สำนวน C.H. Brewitt-Taylor

Cooking beans on a fire kindled with bean stalks,
The beans weep in the pot.
Originally born from the selfsame roots,
Why so eager to torture each other


สำนวน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ว่า

คั่วถั่วเอากิ่งถั่วมาเป็นฟืนใส่ไฟ

เมล็ดถั่วในกระทะจะไหม้
ก็เพราะกิ่งถั่วต้นรากอันเดียวกันนั่นเอง
เหตุใดจึงเร่งไฟเข้าให้หนักนัก

สำนวน ยาขอบ ว่า

ชาวบ้านต้มถั่วด้วยเพลิงที่เกิดจากเถาถั่ว
ฉะนั้นจึงมีเสียงคร่ำครวญขึ้นมาจากหม้อที่กำลังต้มถั่วว่า
โธ่ ไฉนเล่าเราเกิดมาจากรากเหง้าอันเดียวกัน

ควรหรือจะมาทำลายข้าพเจ้าด้วยโทสะร้อน


สำนวน วรรณไว พัธโนทัย ว่า

เขาต้มถั่วด้วยถั่วเป็นต้นๆ
มันร้อนรนร้องลั่นจากอวยใหญ่
โอ้เกิดหน่อเดียวกันใช่ห่างไกล
เหตุไฉนเข่นฆ่าไม่ปราณี


เคยถอดความเป็นกลอนห้า ล้อกลอนจีนของโจสิดไว้ว่า

ต้มถั่วใช้เถาถั่ว
เจ้าเม็ดถั่วครวญขิบ
ต่างเกิดจากรากเดียว
ใยต้มเคี่ยวกันฉิบ






วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2559

ธาตุแท้

๑๒๗



บัดนี้ท่านได้ทำผิดเกินไปแล้ว
จะกลับทำดีไปภายหน้า
อันความรังเกียจนั้นก็จะไม่หาย


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 50


เล่าปี่มีหนังสือถึงเล่าเจี้ยง ขอทหารสามหมื่นกับเสบียงสิบหมื่นถัง
อ้างว่าจะไปช่วยซุนกวนรบกับโจโฉ  เอียวหวยกับเล่าป๊าทักท้วง
จนเล่าเจี้ยงแคลงใจ เสียมิได้จึงจัดทหารที่สูงอายุสี่พันกับข้าวหมื่น
ถังให้ เมื่อได้รับแจ้ง เล่าปี่โกรธลุกขึ้นด่าว่า เสียแรงมาช่วยป้องกัน
รักษาเมือง แล้วเอาหนังสือซึ่งเล่าเจี้ยงแจ้งมานั้นฉีกทิ้งเสีย บังทอง
จึงว่าแก่เล่าปี่ว่า แต่ก่อนน้ำใจสุภาพ แต่มาทำหยาบช้าเช่นนี้คนทั้ง
ปวงรู้เข้าจะเสียประโยชน์เสียเปล่า เล่าปี่ถามว่า เมื่อได้ประมาทผิด
พลั้งไปแล้วจะทำประการใดได้ บังทองจึงว่า บัดนี้ท่านได้ทำผิด
เกินไปแล้ว จะกลับทำดีไปภายหน้าอันความรังเกียจนั้นก็จะไม่หาย



คนทำเลวมาตลอด ปรับตัวทำดี
ย่อมได้รับการยกย่องชมเชย
หากหวลกลับไปทำเลวอีก
ย่อมส่อถึง กมลสันดาน

คนทำดีมาตลอด วันใดเผลอทำเลว
ย่อมเปิดเผยให้เห็นธาตุแท้
แม้จะพยายามกลับไปทำดี
ผู้คนย่อมไม่สนิทใจ

เลว สามารถกลับเป็นดี
ดี ต้อง ดีให้ตลอด