วันอังคารที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2557

อุบาย



อันตัวเจ้านี้มีฝีมือกล้าหาญก็จริง
แต่ทว่าเสียดายทำอุบายมิตลอด


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 37



เล่าปี่เกณฑ์ไพร่พลอาณาประชาราษฎรอพยพออกจากเมืองซินเอี๋ยหนีทัพโจโฉ
ทหารโจโฉเข้าล้อมเล่าปี่ไว้ เตียวหุยตีฝ่าเข้าไปช่วยพาเล่าปี่หนีออกมาได้ แต่ต้อง
พลัดพรากจากบุตรภรรยา ส่วนจูล่งย้อนตีฝ่าไปกลางทัพโจโฉเพื่อตามหาครอบครัว
เล่าปี่ เตียวหุยโกรธนัก เข้าใจว่าจูล่งเอาใจออกห่าง คุมทหารม้ายี่สิบรีบกลับไปตาม
จูล่ง วางแผนตัดเอากิ่งไม้ผูกหางม้าสั่งว่าถ้าทหารโจโฉตามมา ให้ตีม้าวิ่งวกเวียน
ให้ฝุ่นตลบลวงให้ทหารโจโฉเข้าใจว่ามีทหารมาก แต่เมื่อจูล่งพาอาเต๊าบุตรเล่าปี่
หนีกลับมาได้ โจโฉตามมาเจอกลของเตียวหุยเข้าใจว่าขงเบ้ง วางกำลังพลไว้
รับมือจำนวนมาก เตียวหุยกลับรีบหนีข้ามสะพานแล้วชักกระดานสะพานเสีย
เมื่อกลับไปรายงานเล่าปี่ เล่าปี่จึงว่าแก่เตียวหุยว่า อุตส่าห์ทำกลลวงโจโฉ
แต่ไม่ลวงให้ตลอด ชักสะพานหนี ทำให้โจโฉจับได้ว่าไม่มีทหารซุ่มอยู่จริง


อุบาย แปลว่า วิธีการอันแยบคาย เล่ห์กล เล่ห์เหลี่ยม

การทำอุบาย จึงเป็นการวางแผนที่จะให้ผู้อื่นลุ่มหลง และทำไปตามที่กำหนด ด้วยวิธีอันแยบคายอย่างไม่รู้ตัว อย่างไม่รู้เท่าทัน


การทำอุบาย จึงต้องแฝงไปด้วย เล่ห์เหลี่ยม เล่ห์กล


ผู้บริหารหลายคน ชอบใช้อุบาย เพื่อให้ผู้ปฏิบัติผลิตผลงานได้ตามที่ต้องการ


เมื่อใช้อุบายแล้วก็ต้องใช้ต่อเนื่องไปให้ตลอด หากหยุดใช้ ก็จะถูกจับได้ว่าเป็นคน เจ้าเล่ห์เพทุบาย


เพื่อมิให้เป็นคนเจ้าเล่ห์เพทุบาย

ผู้บริหารหลายคน จึงแอบอ้างว่าเป็นการใช้ กุศโลบาย

ไม่ว่าจะเป็น กุศโลบาย หรือ อกุศโลบาย ก็คือ อุบาย


คนใช้อุบาย จึงเป็นคนที่ ไม่มีความจริงใจ


หมายเหตุ

หลายคนชอบให้ผู้อื่นใช้อุบายด้วย เพราะการใช้อุบายต้องอ้อมค้อม ดูดี ตรงข้ามกับวิธีการที่ตรงไปตรงมา



วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2557

น้อยนำดี สังคมดีด้วย ช่วยจรรโลง


เอ๋ยสักวา...๐๐๓



สักวา สังคม จะอยู่ได้
เกิดจากใคร ในสังคม ปมกังขา
มากนำน้อย น้อยนำมาก ลากนำพา
ใครเดินหน้า ใครเดินหลัง ช่างงุนงง
แท้ที่จริง คนส่วนมาก ไม่อยากคิด
มักตามติด คนส่วนน้อย คอยนำโขลง
น้อยนำดี สังคมดีด้วย ช่วยจรรโลง
น้อยขี้โกง สังคมดับ อับจนเอย

วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2557

ประเพณี


ประเพณีผู้มีปัญญาปรารถนาจะคิดทำการใหญ่หลวงนั้น
ก็ย่อมจะปกป้องอาณาประชาราษฎรทั้งปวงเป็นเค้ามูล
จึงจะสำเร็จประโยชน์

สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 36

เมื่อโจโฉยกทัพมาตีเล่าปี่ที่เมืองซินเอี๋ย เล่าปี่จึงเกณฑ์ไพร่พลอาณาประชาราษฎร
อพยพไปเมืองอ้วนเซีย การเคลื่อนย้ายทำไปได้ด้วยความเชื่องช้าด้วยคนจำนวนมาก
ทัพโจโฉใกล้ตามติดทัน ทหารทั้งปวงจึงแนะนำให้ทิ้งครอบครัวแลประชาราษฎรเสีย
เล่าปี่ร้องไห้พลางตอบว่า ประเพณีผู้มีปัญญาปรารถนาจะคิดทำการใหญ่หลวงนั้น
ก็ย่อมจะปกป้องอาณาประชาราษฎรทั้งปวงเป็นเค้ามูลจึงจะสำเร็จประโยชน์


เด็ก คือ คนที่เกิดหลัง
ผู้ใหญ่ คือ คนที่เกิดก่อน

เด็ก คือ คนที่เป็นลูกน้องในการงาน

ผู้ใหญ่ คือ คนที่เป็นหัวหน้าในการงาน

เด็ก คือ บุคคลชั้นผู้ใต้บังคับบัญชา

ผู้ใหญ่ คือ บุคคลชั้นผู้บังคับบัญชา

กว่าจะเติบโตมาได้จากความเป็น เด็ก

ต้องอาศัย ผู้ใหญ่ ปกปักรักษา เลี้ยงดู

หากมิได้ ผู้ใหญ่ ปกปักรักษา เลี้ยงดู

ย่อมไม่มีโอกาสเติบโตเป็น ผู้ใหญ่ ในวันนี้

ผู้ใหญ่ จึงมีหน้าที่ดูแล เด็ก ในวันนี้

ให้เติบโตไปเป็น ผู้ใหญ่ ในวันหน้า

ผู้ใหญ่  ในวันนี้ จึงมีหน้าที่ดูแล เด็ก ในวันนี้

ผู้ใหญ่ จึงไม่ควรผลักภาระ ความเสี่ยง ไปให้เด็ก

ผู้ใหญ่หลายคน ให้เด็กปกป้อง รักษาดูแล



วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2557

ชี้ล้อมคอก มิใช่ร่วม สร้างปัญหา


เอ๋ยสักวา...๐๐๒



สักวา ไทยแลนด์ เมืองน่าอยู่
อยากจะรู้ ว่าน่าอยู่ อยู่ตรงไหน
หากประชา ยังป่วยกาย ยังป่วยใจ
แถมซ้ำร้าย ป่วยสังคม ป่วยปัญญา
หน้าที่เรา ชาวสา'สุข คือลุกบอก
ชี้ล้อมคอก มิใช่ร่วม สร้างปัญหา
หากซ้ำเติม ผลักภาระ ไม่นำพา
แล้วเพรียกหา เมืองน่าอยู่ หดหู่เอย

วันเสาร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2557

สังคมที่ล้มเหลว

สังคม หมายถึง กลุ่มคนสองคนขึ้นไป ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันภายใต้การกำหนดกฎเกณฑ์ระเบียบกติกาเดียวกัน กำหนดบทบาทหน้าที่ของคนทุกคนในสังคมให้ดำเนินชีวิตไปอย่างสอดคล้องกัน โดยมีวัตถุประสงค์ให้ทุกคนในสังคมอยู่รอดปลอดภัยร่วมกัน

เมื่อใดก็ตามที่คนในสังคม ไม่ยึดถือกฎระเบียบกติกาที่กำหนดร่วมไว้ ต่างคนต่างกระทำในสิ่งที่ตนต้องการ สังคมนั้นย่อมดำรงอยู่ไม่ได้ สังคมนั้นจึงเป็น สังคมที่ล้มเหลว


อะไรบ้างที่สังคมพึงต้องยึดเป็นกติกาของสังคมร่วมกัน เพื่อให้สังคมหนึ่งๆเดินหน้าไปได้อย่างปกติสุข


สังคมอาจกำหนดกฎเกณฑ์กติกามากน้อยอย่างไรก็ได้ แต่อย่างน้อยคนในสังคมต้องเข้าใจลึกซึ้งของคำสามคำ คือ หน้าที่ สิทธิ และ ส่วนตัว


หน้าที่ แปลว่า กิจที่จะต้องทำด้วยความรับผิดชอบ


สิทธิ แปลว่า อำนาจอันชอบธรรม อํานาจที่จะกระทําการใดๆได้อย่างอิสระโดยได้รับการรับรองจากกฎหมาย
ส่วนตัว แปลว่า เฉพาะตัว เฉพาะบุคคล
ทั้ง 3 คำ จึงมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน

สังคม ย่อมต้องแบ่งบทบาทหน้าที่ของคนในสังคมให้ต่างรับผิดชอบให้สอดคล้องกัน เพื่อให้ทุกภาระกิจมีคนรับผิดชอบ เฉกเช่น มดหรือปลวก แบ่งบทบาทหน้าที่ใน สังคมมด สังคมปลวก เป็น นางพญา มีหน้าที่ออกไข่ มดงานปลวกงาน มีหน้าที่หาอาหาร มดทหารปลวกทหาร มีหน้าที่ป้องกันศัตรู ในสังคมมนุษย์มีความสลับซับซ้อน จึงยิ่งต้องมีการแบ่งบทบาทหน้าที่กันมากยิ่งขึ้น องค์กรหรือที่ทำงาน ก็คือสังคมย่อยๆของมนุษย์ก็ต้องแบ่งบทบาทหน้าที่กันไปแม้ไม่ละเอียดเท่าสังคมใหญ่คือสังคมประเทศและสังคมโลก แต่ก็ต้องมีระบบที่ชัดเจน


คนในสังคมจึงต้องรู้หน้าที่ของตน คือรู้ว่าอะไรคือกิจของตน อะไรไม่ใช่กิจของตน และต้องทำกิจของตนนั้นด้วยความรับผิดชอบ และ ทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของผู้อื่น ไม่งดเว้นการทำหน้าที่ของตน ให้ตกเป็นภาระหน้าที่ของผู้อื่น การทำงานไม่ตรงกับหน้าที่ ย่อมก่อให้เกิดความสับสน วุ่นวาย ดังให้มดงานปลวกงานไปออกไข่ หรือให้นางพญาไปหาอาหาร ย่อมทำไม่ได้ ทั้งก่อให้เกิดความวุ่นวายสับสนทั้งสังคม


เมื่อแต่ละคนในสังคมต่างมีบทบาทหน้าที่ เหมือนกันบ้างแตกต่างกันบ้าง สังคมจึงต้องกำหนดสิทธิของคนแตกต่างกันไป เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ของตนอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง สิทธิจึงแบ่งง่ายๆออกเป็น 2 ส่วนคือ สิทธิพื้นฐาน และ สิทธิอันเกิดเนื่องมาจากหน้าที่


สิทธิพื้นฐาน เป็นสิทธิที่เป็นอำนาจอันชอบธรรมที่จะทำการใดๆได้อย่างอิสระ สิทธิอันเกิดเนื่องมาจากหน้าที่ เป็นสิทธิที่สังคมยอมให้บุคคลนั้นมีมากกว่าหรือน้อยกว่าบุคคลอื่น เนื่องจากต้องรับผิดชอบในหน้าที่ที่แตกต่างจากบุคคลอื่นในสังคม สิทธิทั้ง 2 ส่วน ย่อมต้องมีกฎกติกาหรือระเบียบของสังคมรองรับ บุคคลในสังคมจึงไม่อาจอ้างได้ว่าตนมีหรือไม่มีสิทธิใด ทั้งไม่อาจอ้างได้ว่าบุคคลอื่นมีหรือไม่มีสิทธิใด บุคคลย่อมเลือกที่ใช้หรือไม่ใช้สิทธิอันเป็นของตนนั้น แต่ไม่อาจห้ามหรือกีดกันการใช้หรือไม่ใช้สิทธิของบุคคลอื่น


เรื่องอื่นใดนอกเหนือไปจากหน้าที่และสิทธิอันกำหนดโดยกฏกติกาของสังคมแล้วจึงเป็นเรื่อง ส่วนตัว คือเป็นเรื่องเฉพาะตัว เรื่องเฉพาะบุคคล ที่ไม่มีความสัมพันธ์กับสังคม ไม่มีผลกระทบต่อสังคม หากจะเกิดผลในทางดีหรือทางร้าย ก็มีผลกระทบต่อบุคคลนั้นในสังคมเพียงส่วนเฉพาะตนเท่านั้น


คนไทยมีนิสัยประจำชาติอยู่อย่างหนึ่ง ที่ภาคภูมิใจกันนักหนาคือ การตีความแบบที่เรียกว่า ศรีธนญชัย เป็นการตีความแบบฉลาดแกมโกง ตีความแบบเข้าข้างตนเอง ตามแต่ที่ตนพอใจ หากจะพูดว่า ความเป็นศรีธนญชัยมีอยู่ในตัวตนของคนไทยทุกคน ก็คงจะไม่ผิดนัก คนในองค์กรเรา คนในสังคมเรา คนในประเทศเรา จึงมักตีความคำสามคำดังกล่าว อย่างให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองเป็นหลัก จึงทำให้สังคมมีแต่ความวุ่นวาย สับสน ปะปน ในความเป็น หน้าที่  สิทธิ และ ส่วนตัว


คนในสังคมเรา มักอ้างเอาความเป็นส่วนตัวว่าเป็นสิทธิ ไม่ยอมทำหน้าที่ อ้างว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ก้าวก่ายหน้าที่ของผู้อื่น โดยอ้างว่าเป็นสิทธิของตน ริดรอนสิทธิของผู้อื่น เพราะเข้าใจว่าเป็นสิทธิของตน ฯลฯ


สังคมใดที่ปล่อยให้เกิดความวุ่นวายสับสนเช่นนี้ คือ  ไม่รู้หน้าที่ของตนและผู้อื่น ไม่เข้าใจสิทธิของตนและผู้อื่น ไม่เห็นความเป็นส่วนตัวของตนและความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น สังคมนั้นจึงเป็น สังคมที่ล้มเหลว 


มีแต่คนในสังคมเท่านั้นที่จะหยุดความเป็น สังคมที่ล้มเหลว องค์กรที่ล้มเหลว ประเทศที่ล้มเหลว ได้ ด้วยการกลับไปยืนอยู่ในบทบาทหน้าที่ของตน ไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของผู้อื่น เคารพในสิทธิของตนและผู้อื่น ยอมรับในความเป็นส่วนตัวของทุกคน สังคมยังมีโอกาส ก่อนที่จะล้มเหลวและสูญสลายไป




วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2557

คนดี ดูที่ไหน


เอ๋ยสักวา...๐๐๑



สักวา คนดี ดูที่ไหน
ดีอย่างไร ดีเท่าไร ใครบอกหรือ
แล้วคนเลว เลวอย่างไร ใครบอกฤา
หน้าไหนคือ เลวดี หรืออยู่ที่เรา
เกิดเป็นคน มันมีดี มีเลวบ้าง
คนไม่ต่าง มีสีดำ ปนสีขาว
แท้จริงคน ดีปนเลว สีเทาเทา
เทาบางเบา หรือเทาเข้ม เท่านั้นเอย



สักวา คนดี ดูที่ไหน
ดีอย่างไร ดีเท่าไร ใครบอกหรือ
แล้วคนเลว เลวอย่างไร ใครบอกฤา
รึอยากชี้ หน้าไหนคือ ตามใจเรา
เกิดเป็นคน มันมีดี มีเลวบ้าง
คนไม่ต่าง มีสีดำ ปนสีขาว
แท้จริงคน ดีปนเลว สีเทาเทา




วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

เป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่



ตัวท่านเป็นเด็กจะรู้ไปกว่าผู้ใหญ่นั้นไม่ชอบ จงสงบปากอยู่ก่อน


สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 36

เมื่อเล่าปี่ทราบว่า เล่าเปียวถึงแกความตายแล้ว เล่าจ๋องขึ้นครองเมืองเกงจิ๋ว
และนำเมืองเกงจิ๋วกับหัวเมืองทั้งเก้าไปยกให้กับโจโฉ ก็ร้องไห้รักเล่าเปียว
จนสลบไป ครั้งเล่าปี่ฟื้นสมประดีขึ้น เตียวหุยจึงเสนอให้ยกทัพไปฆ่าเล่าจ๋อง
แลชัวมอเสีย จะได้ทำการสงครามไปหน้าเดียว เล่าปี่จึงห้ามเตียวหุยว่า
ตัวท่านเป็นเด็กจะรู้ไปกว่าผู้ใหญ่นั้นไม่ชอบ จงสงบปากอยู่ก่อน
อันการงานทั้งปวงนั้นเราก็ตรึกตรองแล้ว

เด็ก คือ คนที่เกิดหลัง
ผู้ใหญ่ คือ คนที่เกิดก่อน

เด็ก คือ คนที่เป็นลูกน้องในการงาน

ผู้ใหญ่ คือ คนที่เป็นหัวหน้าในการงาน

เด็ก คือ บุคคลชั้นผู้ใต้บังคับบัญชา

ผู้ใหญ่ คือ บุคคลชั้นผู้บังคับบัญชา

เกิดก่อน จึงมีประสบการณ์มากกว่า

เป็นหัวหน้า จึงมีประสบการณ์มากกว่า
เป็นผู้บังคับบัญชา จึงมีประสบการณ์มากกว่า

เด็ก ย่อมไม่ใช่ ผู้ใหญ่ที่ตัวเล็ก

ผู้ใหญ่ ย่อมไม่ใช่ เด็กที่ตัวโต

เกิดก่อนหลัง ปรับแก้ไขไม่ได้

หากแต่ประสบการณ์ สร้างได้ เรียนรู้ได้

เรียนรู้ประสบการณ์ ไม่จำเป็นต้องทดลองด้วยตนเอง

เรียนรู้ประสบการณ์ อาจเรียนจากประสบการณ์ของผู้อื่น

เด็กบางคน จึงอาจเป็นผู้ใหญ่

ผู้ใหญ่บางคน จึงอาจเป็นเด็ก