วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ขึ้นเขาลงเขา



ระหว่างเดินออกกำลังกายที่ สวนไผ่ เพชรบูรณ์ เห็นเด็กวิ่งแข่งขัน
ทำให้นึกถึงเมื่อไปเที่ยว น้ำตกแม่พูล ลับแล อุตรดิตถ์
ไม่สามารถวิ่งขึ้นเนินเขา ต้องค่อยๆเดิน ต้องค่อยๆลัดเลาะหาเส้นทางที่พอไปได้ ที่สุดจึงสามารถตามเพื่อนไปจนถึงยอดเนิน
ขาลงเห็นทางสะดวกจึงวิ่งลงจากเนิน ต้องพบกับอัตราเร่งจากแรงโน้มถ่วง กว่าจะหยุดได้ก็เหนื่อยเกือบตาย

การทำงานก็เหมือนกัน

หากยากนักก็อย่าเร่งรีบ ฝืนมากไปก็ไม่สำเร็จ ต้องค่อยๆหาช่องทาง เร่งมากแม้ถึงยอดเขาได้ก็อาจหมดแรงที่จะทรงตัว ประคับประคองงานให้อยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง
งานง่ายก็อย่าชล่าใจ ไล่ต้อนเป็นนักมวยเจอหมู โดนน้อคไม่รู้ตัว


วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วินัย VS น้ำใจ


มีคำกล่าวว่า คนไทยเป็นคนมีน้ำใจ และ คนญี่ปุ่นเป็นคนมีวินัย

เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ สึนามิของญี่ปุ่น กับ น้ำท่วมในเมืองไทย

ภาพคนญี่ปุ่นเข้าแถวเรียงคิวรับของแจก กับ คนไทยมะรุมมะตุ้มแย่งรับของแจก รับแล้วรับอีก ไม่เหลือเผื่อแผ่ให้ผู้ร่วมตกทุกข์ได้ยาก

ภาพคนไทยทะเลาะกัน เพื่อทำลายพนังกั้นน้ำให้น้ำท่วมโดยเท่าเทียม

พิสูจน์เห็นชัดเจนว่า  วินัย สำคัญกว่า น้ำใจ





วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554

หงายกะลา



เมื่อวันอังคารที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๔ ทีมสาธารณสุขอำเภอ จังหวัดเพชรบูรณ์ นำโดย คุณวัฒนศักดิ์ จันทร์แปลง สาธารณสุขอำเภอบึงสามพัน ให้โอกาสผู้เขียนร่วมไปศึกษาดูงาน โครงการสนองน้ำพระราชหฤทัยในหลวงทรงห่วงใยสุขภาพประชาชน ที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองอุบลราชธานี

คุณธานินทร์ ไชยานุกูล สาธารณสุขอำเภอเมืองอุบลราชธานี บรรยายสรุปได้ดี มีความชัดเจน เห็นภาพ สามารถนำไปปฏิบัติตามได้ ฟังแล้วสามารถนึกเปรียบเทียบงานของผู้ฟัง และคิดงานต่อยอดได้โดยทันที

ขณะฟังบรรยาย ผู้เขียนจึงเกิดอาการ ซาโตริ ขึ้นกับตัวเอง ที่มักเริ่มแคบเข้าไปทุกที เริ่มไม่ใส่ใจกับความคิดของผู้อื่น เริ่มมองตนเป็นหลัก ทำตนเป็น ชาล้นถ้วย เป็น กบในกะลาครอบ ว่า สมควรต้องปฏิบัติการ หงายกะลา เสียที

อย่างไรที่เรียกว่าหงายกะลา และเมื่อหงายกะลาออกไปแล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่ไปเจอกะลาใหม่ครอบอยู่อีก ผู้เขียนจึงคิดว่าต้องทำอย่างน้อย ๔ ประการด้วยกันคือ ดูงาน อ่านคนดัง ฟังคนอื่น กลืนอัตตา

ดูงาน หมายถึง การศึกษาดูงานหน่วยงานอื่น เป็นการเปิดโลกทัศน์ ให้เห็นว่าคนอื่น หน่วยอื่น ประเทศอื่น เขาอยู่กันอย่างไร เขาทำกันอย่างไร เพื่อจะได้เปรียบเทียบกับตนเอง การศึกษาดูงานไม่จำกัดว่าจะต้องไปดูสิ่งที่ดีกว่า สิ่งที่เท่ากันหรือที่แย่กว่า ก็ให้มุมมองที่แตกต่าง ในสิ่งเลวอาจมีสิ่งดี ในสิ่งดีอาจมีสิ่งดีกว่าที่คาดไม่ถึง

อ่านคนดัง คือ การติดตามอ่านบทความ ข้อคิด ข้อเขียน ตลอดจนชีวประวัติของคนเด่นคนดังในองค์กร ในสังคม ในโลกใบนี้ ว่าคนดังๆเหล่านั้นเขามีวิธีคิด วิธีปฏิบัติอย่างไร ทั้งการปฏิบัติตนและปฏิบัติงาน เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่น โดยไม่ต้องลองถูกลองผิดด้วยตนเอง ยิ่งอ่านคนดังหลากหลาย ก็ยิ่งสามารถประยุกต์แนวทาง และมีทางเลือกในการแก้ไขปัญหาหลากหลายเช่นกัน

ฟังคนอื่น การฟังคนอื่น จะมีประโยชน์ในสองด้าน หนึ่งคือได้รู้จักเป็นนักฟังเสียบ้าง หลายท่านเป็นนักพูด พูดมากก็ไม่มีเวลาคิดไม่มีเวลาทำ อาจกลายเป็นดีแต่พูด เมื่อฟังคนอื่นจะได้มีเวลา คิดตามหรือคิดแย้ง ซึ่งก่อให้เกิดปัญญาทั้งสิ้น หนึ่งคือเป็นการให้โอกาสคนอื่นได้แสดงความคิดเห็น เป็นการให้โอกาสของการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

กลืนอัตตา คำว่ากลืนมีความหมายตามพจนานุกรมว่า อดกลั้นไม่สําแดงให้ปรากฏออกมา หลายท่านยึดแต่ความคิดความเห็นของตนเป็นหลัก ดูหมิ่นดูแคลนผู้อื่น ว่าคิดไม่เป็น ทำไม่ถูก มีแต่ตนเท่านั้นที่เป็นจอมขมังเวทย์ สุดยอดในโลกา ท่านเหล่านี้ต้องหัดอดกลั้น แม้จะคิดก็ขอให้อยู่ในใจ อย่าให้สำแดงออกมาให้ปรากฎ ผู้เขียนไม่คาดหวังให้ ลบอัตตา หรือไม่มีอัตตา ขอเพียงแค่กลืนไว้ในลำคอเท่านั้น

ผู้เขียนเชื่อว่าแนวทาง ดูงาน อ่านคนดัง ฟังคนอื่น กลืนอัตตา จะช่วยให้กะลาที่ครอบไว้ก็จะหงายออกได้ และแม้เจอกะลาใหม่ครอบซับซ้อน ก็อาจพลิกหงายได้ทุกครั้งไป


อโหสิกรรม


อโหสิกรรม หมายถึง การเลิกแล้วต่อกัน การไม่เอาโทษกัน การเลิกจองเวรกัน เมื่อต้องการให้ผู้อื่นยกโทษให้ เรียกว่า ขออโหสิกรรม 

โดยทั่วไป มักขออโหสิกรรม ที่ตั้งใจกระทำหรือไม่ตั้งใจกระทำใน ๓ กรรม คือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม 

ปัจจุบันเห็นจะต้องเพิ่มอีกหนึ่งกรรม ได้แก่ ลิขิตกรรม 

กรรมที่เกิดจาก การเขียน การ post ไม่ว่าจะทาง Facebook Twitter Webboard etc
[รูปจาก http://www.benjarong.net/index.php?main_page=product_info&products_id=470]


[โพสต์ครั้งแรกที่ My Idea Gotoknow 06 ตุลาคม 2554 11:45 ]