วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Pitbull



ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง สุนัขพันธุ์พิตบูล (Pitbull) ให้สัมภาษณ์กรณี ข่าวสุนัขพันธุ์พิตบูลกัดเจ้าของเสียชีวิต ว่า

สุนัขพันธุ์พิตบูลจะทดสอบ เจ้าของ ว่ามี ภาวะผู้นำ หรือไม่ หากไม่มี มันจะแสดงความเหนือกว่าเจ้าของ และจะยึดอำนาจตนเองเป็นจ่าฝูง 


น่าจะหามาเลี้ยงในที่ทำงานสักตัว


เอาไว้เช็คเจ้านาย.........แฮ่


หมายเหตุ บทความนี้แทนสุนัขพันธุ์พิตบูลว่า มัน ไม่ใช่ เขา หรือ เค้า 
ต้องกำราบ มัน ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ 





วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ขนมปังในช่อง freeze



ขนมปังดีๆที่กินเหลือ  สามารถเก็บใส่ช่อง freeze ไว้ เมื่อเอาออกมาอุ่น ก็จะได้ขนมปังอร่อยๆเหมือนเดิม
การ freeze เป็นการถนอมอาหารที่นิยมมากในปัจจุบัน

แล้ว คนทำงาน ที่โดน freeze ล่ะ

คนโดน 
freeze ต่างกับขนมปังถูก freeze ตรงที่



ขนมปังถูก freeze เพราะยังดี ยังมีคุณค่า ยังเอาเก็บมากินได้อีก เมื่อ unfreeze ก็ดีเหมือนเก่า


คนโดน freeze ต่างกับขนมปังถูก freeze ตรงที่


คนดิ้นรนหลุดจากการถูก freeze ได้ 






วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ทำบุญร่วมชาติ


" ชาติก่อนเราเพียง คู่เคียง เก็บดอกไม้ร่วมต้น
แต่ว่าเราสองคนไม่สนใจ ใส่บาตรร่วมขัน
ชาตินี้เราสอง เราสองจึงต้องโศกศัลย์
รักกันชอบกัน ไม่ได้กัน บุญเรานั้นไม่มี......"
(ทำบุญร่วมชาติ คำร้อง-ทำนอง สมเศียร พานทอง ขับร้อง ชาย เมืองสิงห์)

นายแพทย์สถาพร วงษ์เจริญ อดีตอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สอนผู้เขียน ขณะท่านดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขว่า การจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดที่สูงขึ้นนั้น อย่าไปเป็นทุกข์วิตกกังวลให้มากไป เพราะ คนรับการแต่งตั้ง กับ คนแต่งตั้ง ต้องทำบุญร่วมกันมา หาไม่แล้วก็จะไม่มีโอกาสได้มาอุ้มชูกัน 

หากยังไม่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้บังคับบัญชาท่านนี้ ก็ต้องรอผู้บังคับบัญชาคนต่อไปที่เราอาจเคยทำบุญร่วมกันมา โอ้ะโอ

ผู้เขียนทราบดีว่าท่านปลอบใจ ให้กำลังใจ แต่ลึกๆก็เชื่อว่าน่าจะมีส่วนจริงอยู่ไม่น้อย ที่แย่คือชาตินี้ก็ไม่ชอบทำบุญกับใคร ชาติหน้ายิ่งคงหาคนมาอุปถัมภ์ค้ำชูยากเข้าไปอีก 

หลายท่านจึงหากลวิธี ๒ ประการ คือ
๑. ทำบุญด่วน
๒. หาคนมีบุญร่วมกับคนแต่งตั้งมาช่วยฝากฝัง

จึงอยากเตือนท่านที่กำลังพยายามอยู่ว่า ทั้งสองกรณี ใช้ได้ เมื่อเจ้าตัวต้องมีโอกาสทำบุญร่วมชาติกันมาบ้าง หาไม่แล้ว 

กรณีที่หนึ่ง หลายต่อหลายท่าน ทำบุญฟรี ไปหวังผลชาติหน้าครับ

กรณีที่สอง ก็ยิ่งเท่ากับไปเพิ่มสมการให้ยุ่งยากขึ้นไปอีก เพราะทั้งคนฝาก คนแต่งตั้ง คนรับการแต่งตั้ง ต้องร่วมทำบุญเกี่ยวดองกันมา ยิ่งฝากหลายคน ก็ยิ่งต้องทำบุญร่วมกันมาทุกคน

ขนาดเก็บดอกไม้ร่วมต้น ยังได้แค่รักกัน ทำใจบ้างเต้อะ








วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

พรานเบ็ด


.....ฉันนั่งตกปลาอยู่ริมตลิ่ง
แปลกใจฉันจริงปลาไม่กินเหยื่อ
นั่งตกอยู่นานจนฉันนึกเบื่อ
ปลาไม่กินเหยื่อน่าแปลกใจ......"
(พรานเบ็ด คำร้อง-ทำนอง ครูล้วน ควันธรรม / มรว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ขับร้อง)

แปลกใจว่า เป็นเพราะใช้เหยื่อไม่น่ากิน หรือ มีเหยื่ออื่นที่น่ากินกว่า
แปลกใจว่า ปลา ต้องจ่ายค่าเหยื่อด้วยเหรอ

สุดท้ายชักสับสน เราเป็น คนตกปลา เป็นปลา หรือว่า เป็นเหยื่อ

งง เว้ย




เยี่ยมๆมองๆ รพ.สต.โป่งหว้า


หมายเหตุ  บันทึกนี้เรียบเรียงใหม่เมื่อ 13 กรกฎาคม 2557 ด้วยพบว่าได้บันทึกไว้ใน Note ควรที่จะมารวบรวมไว้ใน Blog ที่เดียวกัน และเนื่องจากเป็นบันทึกย้อนหลังเกือบ 3 ปี จึงขอแค่เนื้อๆที่ note ไว้เดิม ไม่เสาะหาข้อมูลเพิ่มเติม ผิดพลาดต้องขออภัย

วันอังคารที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

รพ.สต.โป่งหว้า ต.ห้วยใหญ่
รับผิดชอบ ๕ หมู่ ๔,๕,๖,๘,๑๐ (รพ.สต.ห้วยใหญ่ ๗ หมู่)
ประชากร ๔๔๖๘ คน เงินบำรุง ๔๐๐,๐๐๐ บาท
โทรศัพท์ TOT
Internet CAT ๒๓๖ kb ๕๙๐ บาท

เจ้าหน้าที่ ๕ คน




๑. คุณสุเทพ ศรีเลย นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ อยู่ที่นี่มา ๙ ปี
๒. คุณดวงกมล ศรีจันทร์ จบ วท.บ. สาธารณสุข ราชภัฏเพชรบูรณ์ จบปี ๒๕๕๒ บ้านอยู่บ้านโคก ได้เงินเดือน ๗๔๔๖ บาท ทำงานมา ๗ เดือน ขับมอเตอร์ไซค์จากบ้านใช้เวลา ๑๕ นาที
๓. คุณอนัญญา มะลิลา พยาบาลวิชาชีพ ลูกจ้างโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ เงินเดือน ๑๖๐๐๐ บาท เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย และเงินกันดารระดับ ๒ เดือนละ ๓๐๐๐ บาท
เป็นคนเดียวที่พักอยู่บ้านพักในรพ.สต.
๔. คุณณัฐวดี วิทยานที จบ วท.บ.สาธารณสุข ราชภัฏเพชรบูรณ์ จบปี ๒๕๕๐ เงินเดือน ๙๓๖๐ บาท เงินบำรุงรพ.สต.
๕. คุณหทัยวรรณ ล้ออุทัย ลูกจ้างทำความสะอาด ๖๐๐๐ บาทจบปวช.
แต่วันนี้พบเฉพาะ ๒ คนแรก



งานเด่น
NCD Clinic
เมื่อปี ๒๕๔๖ ย้ายมาใหม่ๆ มีคนไข้แผลเบาหวานวันละ ๒๐ คนจึงคิดทำเรื่องเบาหวาน รพ.พช.มาเปิด PCU แห่งที่ ๖ มาทุกวันจันทร์ที่ ๓ ของเดือน มี แพทย์มาคนเดียว (หมอเกตุ) คนไข้ครั้งละ ๓๐ คน
ได้เป็นตัวแทน CUP ไปนำเสนอวิชาการ รองชนะเลิศ

ปัญหา
คนไข้เบาหวาน ความดันโลหิตสูงมาก
เป็นพื้นที่เดินทางลำบาก(แต่ที่มาก็ไม่ไกลมาก)
ปัญหาสถานการณ์เงินไม่ดี ถ้าไม่ได้ทำเรื่องการ Key ข้อมูล ๑๘ แฟ้ม ได้เงินประมาณ ๑๓๐,๐๐๐ บาท
จากคุณภาพข้อมูล ๔๐,๐๐๐ บาท จากการคัดกรอง DM&HT ๖๐,๐๐๐ - ๑๐๐,๐๐๐ บาท จากคัดกรองมะเร็ง ๔๐,๐๐๐ บาท
ต้องการข้าราชการ เพื่อลดค่าใช้จ่าย

หมายเหตุ ๒ ใช้ Google Maps ค้นหาที่ตั้งของ รพ.สต.โป่งหว้า กว่าจะเจอได้ พาไปผิดหลายที่ ด้วยคนที่ลงตำแหน่งไว้สับสน อาศัยทั้งแผนที่ ดาวเทียม และสุดท้ายต้องขอบคุณ Street view





เยี่ยมๆมองๆ รพ.สต.กงกะยาง



หมายเหตุ ๑ บันทึกนี้เรียบเรียงใหม่เมื่อ 13 กรกฎาคม 2557 ด้วยพบว่าได้บันทึกไว้ใน Note ควรที่จะมารวบรวมไว้ใน Blog ที่เดียวกัน และเนื่องจากเป็นบันทึกย้อนหลังเกือบ 3 ปี จึงขอแค่เนื้อๆที่ note ไว้เดิม ไม่เสาะหาข้อมูลเพิ่มเติม ผิดพลาดต้องขออภัย

วันอังคารที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

วันนี้ตั้งใจเดินทางมาเยี่ยมๆมองๆที่ รพสต.กงกะยาง ด้วยได้รับการกล่าวขานถึง ป้าย ของรพสต.มานาน เมื่อมาถึง พอดีกับผู้อำนวยการรพสต. คุณสมใจ จันทร์เทศ ที่ตาไว เห็นรถผู้เขียนจึงรีบกลับเข้าทันได้อธิบายเรื่องป้าย

รพสต.กงกะยาง ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านโคก อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ รับผิดชอบ ๕ หมู่บ้าน (ส่วนรพ.สต.บ้านโคก รับผิดชอบ ๑๑ หมู่ รวม ๑๖ หมู่



มีที่ดิน ๕ ไร่ เงินบำรุงเหลือ ๒ แสน
จอมปลวกมาก ต้องค่อยๆทลายแล้วเอามาถมที่
ที่ชั้นบน ไม่ได้ใช้งาน เจ้าหน้าที่จึงอาจไม่ค่อยได้อ่าน ที่ติดไว้เองว่า สถานีอนามัยเป็นสมบัติของชุมชน เราทุกคนต้องช่วยกันดูแลและบำรุงรักษา
โทรศัพท์ของ TOT 
Internet ใช้ของ CAT ความเร็ว ๒๓๐ kb ไม่มีสัญญานมือถือ

เจ้าหน้าที่รวม ๕ คน (ใครเป็นใครบ้าง จำไม่ได้แล้ว)




๑. คุณสมใจ จันทร์เทศ บ้านอยู่ สะเดียง ป่าม่วง
๒. คุณนฤมล คำทิพย์ เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล ลูกจ้างเงินบำรุง เรียนจบ นิเทศศาสตร์บัณฑิต จากม.ราชภัฏเพชรบูรณ์ ได้เงินเดือน ๖๙๙๖ บาท บ้านอยู่บ้านโคก
๓. คุณสายธาร จีจอม นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ จบปี ๒๕๔๙ สาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้บรรจุเป็นข้าราชการเมื่อปี ๒๕๕๓ ทำงานที่นี่มาตั้งแต่จบ บ้านอยู่วังซอง แต่ก็พึงพอใจทำงานที่นี่
๔. นายชาติรวี สมนาม เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน จบวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร พิษณุโลก เมื่อ ปี ๒๕๓๙ อยู่ที่นี่มา ๑๐ ปี มีลูก ๒ คน ส่งลูกไปเรียน ผดุงวิทยา หล่มสัก
๕. คุณอำไพ สิงห์จันทร์ ลูกจ้างเงินบำรุง นอกจากทำความสะอาด ยังช่วยคัดกรองผู้ป่วย เป็นเพื่อนเจ้าหน้าที่ออกเยี่ยมบ้าน (เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะสตรี และคนนอกพื้นที่) บ้านอยู่บ้านโคก

งานเด่น ควบคุม ไข้เลือดออกได้ดี ๓ ปีไม่มี case
มีพยาบาลวิชาชีพจากโรงพยาบาล คุณแมน นักระบำ ลูกจ้างโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ปฏิบัติงานที่ รพ.สต.ห้วยใหญ่ (เดิมอยู่ที่รพ.สต.กงกะยาง) มาช่วยตรวจผู้ป่วยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ทุกวันอังคารครึ่งวันเช้า

ปัญหา ไม่มี
ไม่มีใครพักที่รพ.สต. ไม่อยู่เวร
แต่เห็นกำลังซ่อมบ้าน สอบถามได้ว่าปลวกขึ้น ก็ไม่รู้ว่าทำทำไม
เรื่องป้าย แนะนำให้เลือกระหว่าง ย้ายป้ายกับย้ายรั้ว รับปากว่าจะดำเนินการเมื่อ แล้ง

หมายเหตุ ๒ ใช้ Google Maps ค้นหาที่ตั้งของ รพ.สต.กงกะยาง กว่าจะเจอได้ พาไปผิดหลายที่ ด้วยคนที่ลงตำแหน่งไว้สับสน อาศัยทั้งแผนที่ ดาวเทียม และสุดท้ายต้องขอบคุณ Street view ที่พิสูจน์ได้ว่า ความจำยังพอดีอยู่ และ ยืนยันว่า ป้าย ยังไม่ได้ดำเนินการ คงรอ แล้ง...





วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

น้ำท่วม


สายน้ำที่ตื้นเขิน เต็มไปด้วยวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ

เมื่อ ต้นน้ำ เริ่มขุดลอก หาก กลางน้ำ ปลายน้ำ ยังชะล่าใจ น้ำต้องท่วมแน่นอน

ในกระบวนการทำงานขององค์กร ที่เต็มไปด้วยสารพัดสารพัน สะสมปัญหา เหมือนลำคลองตื้นเขิน 

หากหน่วยเหนือเริ่มสะสาง จัดระบบ หน่วยย่อยยังไม่รู้ร้อนรู้หนาว 

ก็ต้องจมน้ำแน่นอน


วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ตาบอด


คำว่า ความรักทำให้ตาบอด มาจากสำนวนฝรั่งว่า Love is blind

มีความหมายเชิงสำนวนว่า เมื่อเกิดความรัก ย่อมมองไม่เห็นสิ่งอื่นใด ไม่ยอมรับฟังเหตุผลและตรรกใดๆ

คนที่ตนรัก ย่อมทำดี ทำถูก ทั้งสิ้น แม้ทำผิดก็ยอมรับได้

ความเกลียดก็เช่นกัน

ทั้งความรักและความเกลียดทำให้ตาบอด

สังคมที่คนอยู่กันด้วยความรักและความเกลียดจึงเป็นสังคมที่ไร้เหตุผล แบ่งฝักแบ่งฝ่าย

คนที่เรารักไม่เคยทำผิด คนที่เราเกลียดไม่เคยทำถูก

ใครจะเป็นหมอผ่าตัดตาให้สังคม




วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

โหลดใหม่โลด


เคย Down Load file จาก Internet ที่ช้าๆมั้ยครับ

เมื่อรอไปจนเบื่อแสนเบื่อ ในที่สุดก็จะพบข้อความว่า down load ต่อไม่ได้ ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง

หากตัดสินใจกด down load ใหม่ อาจได้เร็วกว่า

ทำงานก็เช่นกัน

เปลี่ยนวิธีทำ หรือ เปลี่ยนตัวคนทำงาน เริ่มต้นที่ศูนย์ใหม่ อาจดีกว่ารออย่างไม่มีความหวัง

แม้อาจจะเสี่ยงว่าอาจเจอเหตุการณ์เช่นเดิม แต่ก็ยังได้ตัดสินใจ

โหลดใหม่โลด


วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ขึ้นเขาลงเขา



ระหว่างเดินออกกำลังกายที่ สวนไผ่ เพชรบูรณ์ เห็นเด็กวิ่งแข่งขัน
ทำให้นึกถึงเมื่อไปเที่ยว น้ำตกแม่พูล ลับแล อุตรดิตถ์
ไม่สามารถวิ่งขึ้นเนินเขา ต้องค่อยๆเดิน ต้องค่อยๆลัดเลาะหาเส้นทางที่พอไปได้ ที่สุดจึงสามารถตามเพื่อนไปจนถึงยอดเนิน
ขาลงเห็นทางสะดวกจึงวิ่งลงจากเนิน ต้องพบกับอัตราเร่งจากแรงโน้มถ่วง กว่าจะหยุดได้ก็เหนื่อยเกือบตาย

การทำงานก็เหมือนกัน

หากยากนักก็อย่าเร่งรีบ ฝืนมากไปก็ไม่สำเร็จ ต้องค่อยๆหาช่องทาง เร่งมากแม้ถึงยอดเขาได้ก็อาจหมดแรงที่จะทรงตัว ประคับประคองงานให้อยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง
งานง่ายก็อย่าชล่าใจ ไล่ต้อนเป็นนักมวยเจอหมู โดนน้อคไม่รู้ตัว


วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วินัย VS น้ำใจ


มีคำกล่าวว่า คนไทยเป็นคนมีน้ำใจ และ คนญี่ปุ่นเป็นคนมีวินัย

เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ สึนามิของญี่ปุ่น กับ น้ำท่วมในเมืองไทย

ภาพคนญี่ปุ่นเข้าแถวเรียงคิวรับของแจก กับ คนไทยมะรุมมะตุ้มแย่งรับของแจก รับแล้วรับอีก ไม่เหลือเผื่อแผ่ให้ผู้ร่วมตกทุกข์ได้ยาก

ภาพคนไทยทะเลาะกัน เพื่อทำลายพนังกั้นน้ำให้น้ำท่วมโดยเท่าเทียม

พิสูจน์เห็นชัดเจนว่า  วินัย สำคัญกว่า น้ำใจ





วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554

หงายกะลา



เมื่อวันอังคารที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๔ ทีมสาธารณสุขอำเภอ จังหวัดเพชรบูรณ์ นำโดย คุณวัฒนศักดิ์ จันทร์แปลง สาธารณสุขอำเภอบึงสามพัน ให้โอกาสผู้เขียนร่วมไปศึกษาดูงาน โครงการสนองน้ำพระราชหฤทัยในหลวงทรงห่วงใยสุขภาพประชาชน ที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองอุบลราชธานี

คุณธานินทร์ ไชยานุกูล สาธารณสุขอำเภอเมืองอุบลราชธานี บรรยายสรุปได้ดี มีความชัดเจน เห็นภาพ สามารถนำไปปฏิบัติตามได้ ฟังแล้วสามารถนึกเปรียบเทียบงานของผู้ฟัง และคิดงานต่อยอดได้โดยทันที

ขณะฟังบรรยาย ผู้เขียนจึงเกิดอาการ ซาโตริ ขึ้นกับตัวเอง ที่มักเริ่มแคบเข้าไปทุกที เริ่มไม่ใส่ใจกับความคิดของผู้อื่น เริ่มมองตนเป็นหลัก ทำตนเป็น ชาล้นถ้วย เป็น กบในกะลาครอบ ว่า สมควรต้องปฏิบัติการ หงายกะลา เสียที

อย่างไรที่เรียกว่าหงายกะลา และเมื่อหงายกะลาออกไปแล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่ไปเจอกะลาใหม่ครอบอยู่อีก ผู้เขียนจึงคิดว่าต้องทำอย่างน้อย ๔ ประการด้วยกันคือ ดูงาน อ่านคนดัง ฟังคนอื่น กลืนอัตตา

ดูงาน หมายถึง การศึกษาดูงานหน่วยงานอื่น เป็นการเปิดโลกทัศน์ ให้เห็นว่าคนอื่น หน่วยอื่น ประเทศอื่น เขาอยู่กันอย่างไร เขาทำกันอย่างไร เพื่อจะได้เปรียบเทียบกับตนเอง การศึกษาดูงานไม่จำกัดว่าจะต้องไปดูสิ่งที่ดีกว่า สิ่งที่เท่ากันหรือที่แย่กว่า ก็ให้มุมมองที่แตกต่าง ในสิ่งเลวอาจมีสิ่งดี ในสิ่งดีอาจมีสิ่งดีกว่าที่คาดไม่ถึง

อ่านคนดัง คือ การติดตามอ่านบทความ ข้อคิด ข้อเขียน ตลอดจนชีวประวัติของคนเด่นคนดังในองค์กร ในสังคม ในโลกใบนี้ ว่าคนดังๆเหล่านั้นเขามีวิธีคิด วิธีปฏิบัติอย่างไร ทั้งการปฏิบัติตนและปฏิบัติงาน เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่น โดยไม่ต้องลองถูกลองผิดด้วยตนเอง ยิ่งอ่านคนดังหลากหลาย ก็ยิ่งสามารถประยุกต์แนวทาง และมีทางเลือกในการแก้ไขปัญหาหลากหลายเช่นกัน

ฟังคนอื่น การฟังคนอื่น จะมีประโยชน์ในสองด้าน หนึ่งคือได้รู้จักเป็นนักฟังเสียบ้าง หลายท่านเป็นนักพูด พูดมากก็ไม่มีเวลาคิดไม่มีเวลาทำ อาจกลายเป็นดีแต่พูด เมื่อฟังคนอื่นจะได้มีเวลา คิดตามหรือคิดแย้ง ซึ่งก่อให้เกิดปัญญาทั้งสิ้น หนึ่งคือเป็นการให้โอกาสคนอื่นได้แสดงความคิดเห็น เป็นการให้โอกาสของการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

กลืนอัตตา คำว่ากลืนมีความหมายตามพจนานุกรมว่า อดกลั้นไม่สําแดงให้ปรากฏออกมา หลายท่านยึดแต่ความคิดความเห็นของตนเป็นหลัก ดูหมิ่นดูแคลนผู้อื่น ว่าคิดไม่เป็น ทำไม่ถูก มีแต่ตนเท่านั้นที่เป็นจอมขมังเวทย์ สุดยอดในโลกา ท่านเหล่านี้ต้องหัดอดกลั้น แม้จะคิดก็ขอให้อยู่ในใจ อย่าให้สำแดงออกมาให้ปรากฎ ผู้เขียนไม่คาดหวังให้ ลบอัตตา หรือไม่มีอัตตา ขอเพียงแค่กลืนไว้ในลำคอเท่านั้น

ผู้เขียนเชื่อว่าแนวทาง ดูงาน อ่านคนดัง ฟังคนอื่น กลืนอัตตา จะช่วยให้กะลาที่ครอบไว้ก็จะหงายออกได้ และแม้เจอกะลาใหม่ครอบซับซ้อน ก็อาจพลิกหงายได้ทุกครั้งไป


อโหสิกรรม


อโหสิกรรม หมายถึง การเลิกแล้วต่อกัน การไม่เอาโทษกัน การเลิกจองเวรกัน เมื่อต้องการให้ผู้อื่นยกโทษให้ เรียกว่า ขออโหสิกรรม 

โดยทั่วไป มักขออโหสิกรรม ที่ตั้งใจกระทำหรือไม่ตั้งใจกระทำใน ๓ กรรม คือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม 

ปัจจุบันเห็นจะต้องเพิ่มอีกหนึ่งกรรม ได้แก่ ลิขิตกรรม 

กรรมที่เกิดจาก การเขียน การ post ไม่ว่าจะทาง Facebook Twitter Webboard etc
[รูปจาก http://www.benjarong.net/index.php?main_page=product_info&products_id=470]


[โพสต์ครั้งแรกที่ My Idea Gotoknow 06 ตุลาคม 2554 11:45 ]

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เยี่ยมๆมองๆ ที่ รพ.สต.ปานสุขุม

วันอังคารที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๔


เมื่อออกจาก รพ.สต.นายาวยังพอมีเวลาจึงแวะ เยี่ยมๆมองๆ ที่ รพ.สต.ปานสุขุม ที่อยู่ไม่ห่างกันมากนัก
รพ.สต.ปานสุขุม ตั้งอยู่ตำบลเขาค้อ ซึ่งมี สถานบริการสาธารณสุข ๓ แห่ง คือ โรงพยาบาลเขาค้อ รับผิดชอบ ๔ หมู่บ้าน รพ.สต.ปานสุขุม รับผิดชอบ ๘ หมู่บ้าน  และ รพ.สต.ป่าแดง รับผิดชอบ ๒ หมู่บ้าน ก็นับว่าเป็นตำบลที่ค่อนข้างแตกต่างกับตำบลอื่นๆซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งโรงพยาบาล จะไม่มีรพ.สต.
ส่วน อบต.เขาค้อ กลับรับผิดชอบถึง ๓ ตำบล ได้แก่ ต.เขาค้อ(๑๔ หมู่บ้าน)  ต.สะเดาะพง(๕ หมู่บ้าน) และ ต.ริมสีม่วง(๖ หมู่บ้าน) รวม ๒๕ หมู่บ้าน ทำให้ต้องดูแลรพ.สต.รวม ๔ แห่งและอีก ๑ โรงพยาบาลชุมชน จึงน่าจะเป็นปัญหาสำหรับการทำงาน กองทุนสุขภาพตำบล 

พื้นที่รับผิดชอบของ รพ.สต.ปานสุขุม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนเผ่า ทั้ง ม้ง ลีซอ เย้า มูเซอ อาข่า ฟังผอ.รพ.สต.จับใจความได้ว่า ที่นี่เป็น กลุ่มชนเผ่าลีซอ ที่ใหญ่ที่สุด การทำงานจึงค่อนข้างยาก เพราะแต่ละชนเผ่าก็มีวัฒนธรรมที่ต่างกันไป
มี Internet ความเร็ว 1M ใช้ แต่ก็เช่นเดิม คือ ไม่ได้ใช้ระบบ Web Cam เพื่อการสื่อสารกับโรงพยาบาลแม่ข่าย

รพ.สต.ปานสุขุม มีเจ้าหน้าที่รวม ๕ คน แต่วันนี้ได้พบเพียง ๓ คน จึงได้รูปมาโชว์เพียงแค่นี้(แต่เนื่องจาก ทิ้งระยะไว้นานเกินไป ขณะบันทึกนี้จำไม่ได้ว่ารูปใครเป็นรูปใคร ใครทราบช่วย comment เพิ่มเติมหน่อย)


๑.คุณบรรณกร เสือสิงห์ นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการ ทำหน้าที่ ผอ.รพ.สต. คุณบรรณกร เป็นคน บ้านคลอง พิษณุโลก บรรจุครั้งแรกที่ อ.ชาติตระการ แต่ตามภรรยามาอยู่เขาค้อ (คุณอรุณี เสือสิงห์ ปัจจุบันปฏิบัติงานที่ รพ.สต.ป่าแดง)
๒. คุณวรพรรณ มาถึง เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน ตำแหน่งจ้าง ยังไม่ได้บรรจุ
๓. คุณอโนมา อิงทกนก พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการ (เวชปฏิบัติ) ทราบว่าเป็น ภรรยาเป็นผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอเขาค้อ
๔. คุณศุภลักษณ์ ศักดิ์เจริญชัยกุล นักวิชาการสาธารณสุข ตำแหน่งจ้างรพ.เขาค้อ(วันนี้ไม่สบาย จึงไม่ได้คุยด้วย)
๕. คุณวิไล สมอากาศ เป็นประธานอสม.ของรพ.สต.ปานสุขุม  พนักงานทำความสะอาด รวม ทำสวน และช่วยงานบริการผู้ป่วยด้วย

ทั้งนี้รพ.เขาค้อจัด แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicineนพ.วงศกร ออกมาตรวจสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง ทันตแพทย์ และผู้ช่วยทันตแพทย์ (รพ.สต.นี้ ไม่มี unit ทำฟัน)

รพ.เขาค้อ จัดออก คลินิกโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ทุกวันอังคารสุดท้ายของเดือน(โดยทีมสหวิชาชีพ) แต่ไม่ได้จัดระบบให้ยารักษาโรคไว้ที่ รพ.สต.


ปัญหาสำคัญสำหรับรพ.สต.นี้ คือ
๑.งบประมาณ ได้รับการจัดสรรไม่เป็นธรรม การใช้งบท้องถิ่นก็ลำบาก ด้วยเป็น อบต.ที่ต้องดูแล ๓ ตำบล มีรพ.สต.ถึง ๔ แห่ง (+ ๑ รพช.)
๒.ค่าตอบแทน ฉบับที่ ๖ ยังต้องยืมเงินบำรุงจ่ายอยู่
๓.ตำแหน่งไม่ตรงกับสถานที่ทำงาน (เรื่องนี้แม้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ก็มีผล ในแง่ความรู้สึกของผู้ปฏิบัติงาน สมควรที่ผู้รับผิดชอบในสสจ.จะได้ดำเนินการต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการรพ.สต. )
๔.เจ้าหน้าที่บางคนไม่สามารถสื่อสารกับประชาชนได้ดี เนื่องจากภาษาชนเผ่า (ขณะนี้ดีขึ้นเพราะได้ คุณศุภลักษณ์ ซึ่งมีเชื้อสายม้ง มาปฏิบัติงาน)
๕.ต้องการทำงานวิจัย ที่อาจเกี่ยวกับ การวิจัยในมนุษย์ แต่หาคณะกรรมการพิจารณาค่อนข้างยาก(งานพัฒน์คงต้องรับไปทบทวนว่าจะสามารถดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน)

งานเด่นที่ภาคภูมิใจ
๑.รางวัล เกณฑ์มาตรฐาน PCA (Primary Care Award) อันดับ ๑ ของอำเภอเขาค้อ


๒. นวัตกรรม พวงกุญแจสุขภาพ เป็นพวงกุญแจสอดแทรกความรู้


โพสต์ครั้งแรกเมื่อ 

วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เยี่ยมๆมองๆ รพ.สต.นายาว

วันอังคารที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๔

ก็ยังคงไม่สามารถไปอำเภอน้ำหนาวได้เช่นเดิม ด้วยมาร่วมพิธีเปิด การนำเสนอ อำเภอเข้มแข็ง โดยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย ซึงถาวร ที่ โรงแรมอิมพีเรียล ภูแก้ว ฮิลล์ รีสอร์ท เมื่อเสร็จภารกิจภาคเช้าจึงแวะ เยี่ยมๆมองๆ ที่ รพ.สต.นายาว



รพ.สต.นายาว ตั้งอยู่ ตำบลทุ่งสมอ (เป็นอีกที่ตั้งชื่อตามชื่อ บ้าน ไม่ใช้ชื่อตำบล คล้ายๆที่ จ.หนองบัวลำภู ที่บางรพ.สต.มีชื่อเรียกสับสนถึง ๓ ชื่อ แต่ป้ายที่ติดบนหน้ามุขตามแบบการก่อสร้าง ยังคงยืนยันว่าตอนจัดสรรงบประมาณมาก่อสร้างน่าจะเป็น สถานีอนามัยตำบลทุ่งสมอ) จะด้วยเหตุใดก็ตาม แต่ก็ทำให้ปัจจุบัน มีตำบลทุ่งสมอ แต่ไม่มี รพ.สต.ทุ่งสมอ
รพ.สต.นายาว รับผิดชอบ ๑๑ หมู่บ้าน ประชากร ๔๓๑๗ คน ผู้ป่วยวันละประมาณ ๒๕ คน
ห่างจากอำเภอประมาณ ๑๕ กม. ห่างจากทางแยก แค้มป์สนประมาณ ๗ กม.



เป็นรพ.สต.ประเภทเครือข่าย ร่วมกับ รพ.สต.ป่าคา ต.แคมป์สน และ รพ.สต.เหล่าหญ้า ต.แคมป์สน
สภาพโดยทั่วไปของรพ.สต.ดูสะอาด ตบแต่งได้สวยงามพอสมควร ยกเว้นบางจุดที่อาจจะต้องทาสีใหม่ ให้สบายตาขึ้น ดูป้ายด้านหน้าเห็นยังมีความพยายามรักษาป้ายโบราณไว้(บอกว่าสาธารณสุขอำเภอให้เก็บไว้ เมื่อไปดูทำเนียบ จึงเข้าใจได้เมื่อเห็นชื่อ สาธารณสุขอำเภอ มานพ เงินโฉม เคยปฏิบัติงานที่นี่)
รพ.สต.นี้ มี Internet ความเร็วถึง  8 M แต่ก็ไม่ได้ใช้ระบบการเชื่อมโยงกับ โรงพยาบาลเหมือนๆกับรพ.สต.อื่น

มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ๔ คน ดังนี้

๑. คุณสุกัญญา ศรีเลย นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการ ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการ รพ.สต.นายาว 
๒. คุณชินกฤต เมธาสุวภัทร นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการ (คุณชินกฤต เป็นคนพูดเก่ง ส่วน ผอ.สุกัญญา ไม่ค่อยพูด ไม่รู้ว่าเพราะคุณสุกัญญา ไม่ค่อยพูด เลยทำให้ลูกน้องต้องพูดเพิ่มขึ้น หรือเป็นเพราะ คุณชินกฤตพูด จนหัวหน้าไม่ได้พูด....)
๓. คุณจุฑารัตน์ สมสาย เจ้าพนักงานสาธารณสุข ปฏิบัติงาน 
๔. คุณรักจณา จันทร์เปล่ง ลูกจ้างรายวัน


ปัญหาสำคัญสำหรับรพ.สต.นี้ คือ
๑. ขาดพยาบาลวิชาชีพ (ความจริงอยู่ใกล้ รพ.เขาค้อ สาขา แค่ ๖ กม. ซึ่งมีพยาบาลวิชาชีพประจำ จัดเป็นว่าไม่ขาดได้ หากมองเชิงระบบที่ไม่ยึดติดกับความเป็นรพ.สต.มากเกินไป)
๒. น้ำท่วมในฤดูฝน เวลาฝนตกหนัก เนื่องจากมีคลองไหลผ่านด้านหลังรพ.สต. 
๓. มีตู้อบสมุนไพร แต่ไม่ได้ใช้ ( ปัญหานี้ผู้เขียนยกขึ้นมาเป็นปัญหาเอง แนะนำว่าไม่ใช่เรื่องยาก ไม่น่าจะต้องรอคนผ่านการอบรมด้านแพทย์แผนไทย เพราะเพียงแค่ เสียบปลั๊ก ก็น่าจะใช้ได้  แต่ก็แสดงถึงการจัดสรรครุภัณฑ์ ที่อาจไม่เหมาะสม ??? )

งานเด่นที่ภาคภูมิใจ
๑. ผลงานวิจัยเฉพาะตัวของ คุณชินกฤต เรื่องการดูแลผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมได้ และ การดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมได้ คุยประเด็นเรื่องงานวิจัย ได้ข้อคิดที่น่าสนใจ คือ การประกวดระดับจังหัด หากต้องการพัฒนานักวิจัย ควรเชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมาเป็นผู้วิพากษ์ ไม่ใช่ตั้งผู้วิพากษ์ตามตำแหน่งหน้าที่ ต่อมาได้คุยกับสาธารณสุขอำเภอเขาค้อ มานพ เงินโฉม  เมื่อ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๔ เสนอว่า อย่างน้อยต้องมีผู้วิพากษ์ที่เชี่ยวชาญด้าน งานวิจัย สถิติ และ เรื่องในเนื้องาน ของงานวิจัยนั้นๆ ซึ่งผู้เขียนก็ค่อนข้างเห็นด้วย เนื่องจากเคยได้รับบทบาทผู้วิพากษ์ตามตำแหน่งหน้าที่ ก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน อาศัยเป็นคน ดำน้ำเก่ง เลยเอาตัวรอดมาได้ 
๒. ชุมชนดี มีศักยภาพ อสม.ให้ความร่วมมือบริจาคเงินทำรั้ว อบต.สนับสนุนงบประมาณทำถนนภายในรพ.สต.
๓. สถานีอนามัยดีเด่น อันดับ ๓ ระดับจังหวัด ปี พ.ศ.๒๕๔๕ และ พ.ศ.๒๕๔๘ (แปลว่าได้ที่ ๓ ทั้งสองครั้ง)
รพ.สต.ลดโลกร้อนระดับจังหวัด (นับว่าทันสมัยมากที่มีรางวัลประเภทนี้ เพราะอะไรๆเดี๋ยวนี้ก็ ลดโลกร้อน แต่ไม่รู้ว่าเกณฑ์การประกวดจะมีผลกระทบต่องานในระบบสุขภาพมากน้อยแค่ไหน )
๔. นวัตกรรมของรพ.สต. อ้อมกอดพี่ ?? (ไม่แน่ใจว่าจดชื่อมาถูกต้องหรือไม่) เป็นนวัตกรรมที่ใช้ช่วยจับเด็กไม่ให้ดิ้นระหว่างทำแผล  (ไว้ค้นหา sheet ที่ให้มาเจอ จะทบทวนนำเสนอเพิ่มเติมอีกครั้ง)


โพสต์ครั้งแรกเมื่อ 

วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เยี่ยมๆมองๆ รพ.สต.บ้านโคก

วันอังคารที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๔

ออกจากรพ.สต.ดงมูลเหล็ก เดินทางต่ออีกประมาณ ๑๐ นาทีก็ได้ไป เยี่ยมๆมองๆ รพ.สต.บ้านโคก
ตำบลบ้านโคก มีรพ.สต. ๒ แห่ง คือ รพ.สต.บ้านโคก และ รพ.สต.กงกะยาง
รพ.สต.บ้านโคก รับผิดชอบ ๑๑ หมู่บ้าน คนไข้ประมาณ ๖๐-๗๐ คนต่อวัน


รพ.สต.บ้านโคก ซ่อนอยู่หลังตลาด ทางเข้าแคบ(ถ้าไปเองคงหาไม่เจอ น่าจะต้องทำป้ายบอกทางเข้าไว้หน่อย) ขณะที่ไปเยี่ยมกำลังต่อเติม ตกแต่งอาคาร ทำห้องประชุมสำหรับ อสม. ขนาด ประชุมได้ ๑๐๐ คน ดูสวยงาม คาดว่าจะเสร็จเร็วๆนี้ สภาพโดยทั่วไปของรพ.สต. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้องน้ำ สะอาด สวยงาม

รพ.สต.บ้านโคก เพิ่งได้ unit ทำฟัน ใหม่ โดยอบต.บ้านโคก เป็นผู้จัดหาให้ (แสดงถึงความสัมพันธ์ที่ดีของเจ้าหน้าที่กับชุมชน !!!)
รพ.สต.บ้านโคก ใช้ Internet ความเร็ว 6 M  สำหรับ Web Cam ก็เหมือนหลายๆแห่งคือ มีแต่ไม่เคยใช้


มีเจ้าหน้าที่ค่อนข้างมาก (ซึ่งคงเป็นปกติสำหรับเขตอำเภอเมือง เหมือนกันทุกจังหวัด) เนื่องจากไปมาหลายวัน เพิ่งมาบันทึก สับสนชื่อ จึงไม่สามารถ label ชื่อประกอบได้ ดูกันเองแล้วกันว่า ไผเป็นไผ



๑. คุณทับทิม สุนรีย์ นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการ ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการ รพ.สต. ขณะนี้ไปเข้าอบรมหลักสูตร ผู้อำนวยการ รพ.สต.ที่ วสส.พิษณุโลก (ซึ่งผู้เขียนเพิ่งไปเป็นวิทยากรมาเมื่อวันก่อน) 
๒. คุณสุธีธิดา มาเพชร นักการแพทย์แผนไทย (ตำแหน่งจ้าง) เรียนจบ การแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต ม.แม่ฟ้าหลวง (เจ้าตัวยืนยันว่าปริญญาชื่อนี้จริงๆ)
๓. คุณวินัย คำวิเศา เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล (ตำแหน่งจ้าง) เรียนจบ ปวส.คอมพิวเตอร์
๔. คุณกชพงศ์ สว่างจันทร์ เจ้าหน้าที่เวชระเบียน (ตำแหน่งจ้าง) เรียนจบ ปวส.อิเล็กโทรนิกส์
๕. คุณพิมฉวี นาคสำราญ พยาบาลวิชาชีพ (ตำแหน่งจ้าง ตามแผน on top)
๖. คุณกุลธาดา มณีนุษย์ นักวิชาการสาธารณสุข (ตำแหน่งจ้าง) เรียนจบ วท.บ.(สาธารณสุขชุมชน จาก ม.ราชภัฏ เพชรบูรณ์
๗. คุณมาลัยพร วงศ์กาอินทร์ นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการ ทำงานที่นี่มานาน ๑๖ ปี
๘. คุณศศิธร สุขสมบูรณ์ พยาบาลวิฃาฃีพ ชำนาญการ ทำงานมา ๘ ปี
๙. คุณณิชากร เขียวทอง เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข เพิ่งเรียนจบมาทำงานได้ ๓ เดือน ยังไม่ได้รับเงินเดือน เพราะโรงพยาบาลยังไม่ออกคำสั่งจ้าง แต่เจ้าตัวดูไม่ทุกข์ร้อนมาก ด้วยยังเบิกเงินคุณพ่อคุณแม่ใช้ได้ ยังงงๆอยู่ว่าทำไมไม่โอนเงินมาให้รพ.สต.ออกคำสั่งจ้างเอง น่าจะสะดวกกว่า
๑๐. คุณรัตนะพร ติดมา ผู้ช่วยทันตาภิบาล(ตำแหน่งจ้าง) เรียนจบครุศาสตร์(คหกรรม) ทำงานที่นี่มา ๙ ปี เดิมทำหน้าที่เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล
๑๑. คุณพรทิวา ดีแก้ว ผู้ช่วยแพทย์แผนไทย(หมอนวดแผนไทย) หลักสูตร ๓๓๐ ชั่วโมง
๑๒, คุณปวีณา ท่าหลวง ผู้ช่วยแพทย์แผนไทย(หมอนวดแผนไทย) หลักสูตร ๖๐ ชั่วโมง
๑๓. คุณยังใจ ธิมา ลูกจ้างทำความสะอาด

ปัญหาสำคัญสำหรับรพ.สต.นี้ คือ
๑. ต้องคอยติดตามงบประมาณจาก CUP ( คับอีกแล้ว )
    สาธารณสุขอำเภอคงต้องเน้นการประสานงานกับโรงพยาบาลให้มากขึ้น
    ตราบใดที่ ยังใช้เงินเป็นปัจจัย ในการผลักดันการดูแลสุขภาพประชาชน
    (อ่าน วังน้ำวน http://www.gotoknow.org/blog/blogoffice/401944 )
๒. ปัญหาทางเข้ารพ.สต. กำลังประสานเพื่อปรับให้ทางเข้าสะดวก กว้างขวางขึ้น

งานเด่นที่ภาคภูมิใจ
๑. ได้รับรางวัลที่ทำงานน่าอยู่ ปี ๒๕๕๒ ระดับจังหวัด
๒. ชมรมผู้สูงอายุดีเด่น ระดับเขต ปี ๒๕๕๒
๓. นวัตกรรม ซองยาสัญลักษณ์ ใช้ในผู้สูงอายุ
    (แต่เลิกใช้ไป เพราะความไม่สะดวกของผู้ทำเอง และ คนไข้ก็ปรับตัว ไม่มีปัญหากับซองยาที่ใช้อยู่)


โพสต์ครั้งแรกเมื่อ