วันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2553

หมอเป็นใบ้


ที่ตึกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลใหญ่แห่งหนึ่ง ในจังหวัดใหญ่ภาคเหนือตอนล่าง ตึกผู้ป่วยทาสีเขียวๆ

เล่าต่อๆกันมาว่า ที่ตึกแห่งนี้ ให้บริการผู้ป่วยด้วยใจ ทำมานาน ก่อนนโยบายรัฐมนตรี ที่เรียกว่า 3 ดี (เดิม 3S ) เสียอีก

นโยบาย 3 ดี นะ จิ๊บๆ

คนไข้ที่ตึกนี้ส่วนใหญ่จะเป็น คนไข้เก่า คุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่(ที่เก่าเหมือนกัน) บ่อยครั้งที่เอาขนมนมเนยมาฝากหมอ แบบที่เคยได้ยินมาเมื่อสมัยโบราณ บ่งบอกถึง ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง หมอกับคนไข้ ความสัมพันธ์ที่หายไปนาน สามารถกลับมาได้ด้วยความพยายามของทีมงานเจ้าหน้าที่ทุกคน (แต่ไม่รู้ว่าความสัมพันธ์เหล่านี้จะเลือนหายไปอีกหรือไม่ เมื่อมีคนพยายามเข็น พรบ.คุ้มครองผูัเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ออกมา)

วันหนึ่ง คุณลุงผู้ป่วยเก่า ไปใช้บริการที่ตึกผู้ป่วยอื่นในโรงพยาบาลเดียวกัน กลับมาบ่นกับพยาบาลเก่า ที่ตึกเขียวๆ ที่คุ้นเคยว่า วันนี้โชคไม่ดีที่ไปเจอกับ หมอเป็นใบ้

คุณลุงเล่าว่า

หมอที่เพิ่งไปตรวจมานะ เค้าเป็นใบ้ เพราะไม่เห็นพูดจา พอเข้าไปนั่งตรวจ เห็นพลิกแฟ้มประวัติดู เขียนใบสั่ง แล้วก็ชี้ให้ออกไป พยาบาลก็ส่งไปเจาะเลือด พอผลเลือดออก พยาบาลก็เรียกเข้าไปพบหมอคนเดิม ก็ไม่เห็นพูดเห็นจาอะไร ถามอะไรก็เงียบ ไม่ถามอาการ ไม่ว่า ไม่บ่น ไม่เหมือนหมอคนอื่นที่มักจะบ่นจะว่าคนไข้ ที่ปฏิบัติตัวไม่เหมาะสม แล้วก็พยักเพยิดส่งใบสั่งยาให้ออกไปรับยาได้

ลุงถามพยาบาลเก่า คนคุ้นเคยว่า หมอคนนี้เขาเป็นใบ้เหรอ เป็นใบ้แล้วเรียนหมอมาได้ยังไง แล้ววันนี้ผมจะได้คุยกับหมอมั้ย

ร้อนถึง หัวหน้าหมอตึกเขียว ต้องรีบออกมาอธิบายคุณลุงให้เข้าใจ ทำหน้าที่แทน พยาบาลหลังตรวจ (exit nurse)

แต่ไม่รู้ว่า หัวหน้าหมอ เรียก หมอใบ้ ไปชี้แจงทำความเข้าใจหรือเปล่า ว่า

คนไข้ทุกคน พูดได้ ฟังเข้าใจ ไม่ใช่คนใบ้ หมอเข้าใจอะไรผิดอ๊ะเปล่า ถึงใช้ภาษาใบ้กับคนไข้ อิอิ


[โพสต์ครั้งแรกที่ Lanhinlad Lanpanya 14 Aug 2010]

วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

อยากเอาชนะ


ในทุกสังคม บุคคลในสังคมย่อมต้องการการยอมรับจากผู้อื่น การได้รับการยอมรับ คือการมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเด่นเหนือผู้อื่น ซึ่งก็คือ ความสามารถในการเอาชนะผู้อื่นนั่นเอง

การเอาชนะทางกาย เป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมา ตัวใหญ่กว่า กำลังมากกว่า แรงดีกว่า ย่อมเอาชนะ ตัวเล็กกว่า กำลังน้อยกว่า แรงด้อยกว่า

แต่ การเอาชนะทางใจ นั้น ไม่สามารถสู้กันด้วยกำลังในใจ ต้องสู้ด้วยการกระทำ การแสดงออก ซึ่งบ่งบอกถึง พลังใจ

ผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจนึกถึงเรื่องนี้จาก นายแพทย์โสภณ เมฆธน ท่านผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 18 เมื่อคราวมาตรวจราชการและนิเทศงาน จังหวัดอุทัยธานี ประจำปี 2553 รอบแรก เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2553 ท่านบอกว่า

พึงเอาชนะผู้สูงกว่าด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตน

พึงเอาชนะผู้ต่ำกว่าด้วยการให้

พึงเอาชนะผู้เท่าเทียมกันด้วยความเพียร

ผู้เขียนพิจารณาแล้ว เห็นว่า ในองค์กรหนึ่งๆ ย่อมมีทั้ง ผู้สูงกว่า ผู้ต่ำกว่า และ เท่าเทียมกัน

ผู้สูงกว่า อาจไม่สูงกว่าที่ อายุ แต่สูงกว่าด้วยตำแหน่งหน้าที่
ผู้สูงกว่า อาจไม่สูงกว่าที่ตำแหน่งหน้าที่ แต่สูงกว่าที่อายุ
ผู้ต่ำกว่า อาจไม่ต่ำกว่าที่ อายุ แต่ต่ำกว่าด้วยตำแหน่งหน้าที่
ผู้ต่ำกว่า อาจไม่ต่ำกว่าที่ตำแหน่งหน้าที่ แต่ต่ำกว่าที่อายุ

แม้ผู้ต่ำกว่า อาจต่ำกว่าทั้งอายุและตำแหน่งหน้าที่ แต่ก็อาจสูงกว่ากว่า ใน ประสบการณ์
ผู้สูงกว่า อาจไม่สูงกว่าใดๆเลย เพียงสูงกว่าเพราะ ทรัพย์ศฤงคาร

ผู้สูงกว่า ด้านหนึ่ง จึงอาจเป็น ผู้ต่ำกว่า ในอีกด้านหนึ่ง
ผู้ต่ำกว่า ด้านหนึ่ง จึงอาจเป็น ผู้สูงกว่า ในอีกด้านหนึ่ง

ไม่มีใคร สูงกว่าทุกด้าน และไม่มีใคร ต่ำกว่าทุกด้านเช่นกัน หลายอย่างอาจ เท่าเทียมกัน

เราจึงต้องปฏิบัติ ธรรมะ ดังกล่าว ทั้ง 3 สถานะ แม้กับบุคคลเดียวกัน

เมื่อจบแพทย์ใหม่ๆ ผู้เขียนคิดว่า ตนเอง สูงกว่าทุกคน แต่ก็พบในที่สุดว่า เรา ต่ำกว่า คนอื่น ในหลายเรื่อง

เมื่อเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ผู้เขียนคิดว่า ตนเอง สูงกว่าทุกคน แต่ก็พบในที่สุดว่า เรา ต่ำกว่า คนอื่น ในหลายเรื่อง

เมื่อเป็น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้เขียนจึงพบว่า ตนเอง ต่ำกว่าแพทย์ ต่ำกว่าผู้อำนวยการโรงพยาบาล ต่ำกว่าคนงาน ต่ำกว่าคนขับรถ และ ต่ำกว่า คนอื่น ในหลายเรื่อง

ในฐานะผู้ต่ำกว่า เมื่ออ่อนน้อม ก็จงอ่อนน้อมทั้ง กายและใจ คำพูด การปฏิบัติตน

ในฐานะผู้สูงกว่า เมื่อให้ ก็จงให้ด้วยใจ ให้แล้ว ต้องไม่คิดมาก ไม่หวังผลตอบแทน ไม่หวังเข้าไปครอบครองยึดครอง

ในฐานะผู้เท่าเทียมกัน เมื่อเพียรพยายาม ก็ต้องเพียรในเนื้องาน มิใช่ในความเจ้าเล่ห์เพทุบาย

ท่านจึงจะเอาชนะผู้อื่นได้ เป็นการชนะทางใจ




[โพสต์ครั้งแรกที่ Gotoknow Blog Office 02 สิงหาคม 2553 11:54]