วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

โรงพยาบาลห้วยคต

วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 ผู้เขียนยังคงเดินทางต่อเพื่อแวะเยี่ยมโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดอุทัยธานีให้ครบทุกแห่งตามเป้าหมาย แต่มีเหตุให้ต้องแวะที่ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอห้วยคต เนื่องจากท่านสาธารณสุขอำเภอทวีป ต้องการให้แวะดูอาคารสำนักงานโทรมๆ สักหน่อย

เมื่อออกจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอห้วยคตก็รีบเดินทางไป โรงพยาบาลห้วยคต ที่อยู่ไม่ไกลกัน ที่ต้องรีบเพราะเลยเวลาเที่ยงแล้ว ถึงแม้ ถึงอุทัยไม่ต้องอุทธรณ์ แต่ตอนนี้ท้องเริ่มร้องอุทธรณ์ นัดผู้อำนวยการโรงพยาบาล คุณหมอ วิชาญ แป้นทอง ไว้แล้ว คุณสำรอง พขร.มือหนึ่ง จึงพาอ้อมไปด้านหลังโรงพยาบาล แวะโรงอาหารก่อน เรื่องอื่นค่อยว่ากันทีหลัง

ท่านผู้อำนวยการจัดอาหารให้เป็นพิเศษ เป็นเมนู หมูทอด น้ำพริกผักต้ม และต้มยำเห็ด มีทีมงานโรงพยาบาลมาร่วมรับประทานอาหารหลายคน



หลังจากนั้นจึงขึ้นไปเยี่ยมชมโรงพยาบาล ระหว่างทางสังเกต ว่ามีระบบประปาของโรงพยาบาลที่มีถังเก็บน้ำใส ขนาดใหญ่ แต่บริเวณสนามหญ้าทั่วไปดูแห้งแล้ง เข้าใจว่าอยู่ในช่วงที่ต้องประหยัดน้ำไว้ใช้
โรงพยาบาลห้วยคต เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง มีประชากรในระบบหลักประกันสุขภาพเพียงประมาณ 18000 คน จึงค่อนข้างมีปัญหาในการบริหารจัดการด้านการเงินการคลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคณะกรรมการระดับจังหวัดพิจารณาการจัดสรรงบประมาณแบบ ตามประชากรจริง ด้วยเห็นว่า ช่วยกันเองภายในจังหวัดมานานแล้ว ส่วนกลางก็มองไม่เห็นสักทีว่าเป็นปัญหา ก็เลยทดลองชนิดที่ พอประชุมจัดสรรงบประมาณเสร็จ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลห้วยคตก็เรียกรถ Ambulance มารับกลับโรงพยาบาลทันที

หลังจากนั้น ผู้เขียนได้ติดตามท่านผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ เมฆธน ไปเยี่ยมโรงพยาบาลห้วยคตอีกครั้ง เมื่อวันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 จึงได้มีเวลาพูดคุย รับทราบปัญหามากขึ้น เช่น การจัดตั้ง กองทุนสุขภาพตำบล ที่ยากเย็นเข็ญใจ ทั้งที่ทั้งอำเภอมีเพียง 3 ตำบล ทำให้งบประมาณโดยรวมที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชนก็ยิ่งน้อยลงไปอีก ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการและทีม ก็ยังมีแรงขับ ที่จะทำงานต่างๆให้เคลื่อนไปได้ แม้จะไม่ค่อยมีเงิน ก็ยังพยายามสนับสนุนสถานีอนามัยต่างๆในเขตรับผิดชอบ เช่น การต่อเติมอาคารชั้นล่างของสถานีอนามัย (ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า คนออกแบบคิดอย่างไร ให้สถานีอนามัยทั่วประเทศไทยแบบ ใต้ถุนสูง จน คนเจ็บ คนไข้ เด็ก คนท้อง คนแก่ ต้องปีนบันไดขึ้นไปหาหมอทุกคน หรือมันจริงที่เขาว่ากันว่า เป็นแผนที่จะให้มาหาเงินต่อเติมเอง)

เอาใจช่วยเต็มที่นะครับ (ส่วนเงินค่อยหาช่วยทีหลัง)

โพสต์ครั้งแรกเมื่อ 27 เม.ย. 2010 

วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2553

สำนักงานสาธารณสุขอำเภอห้วยคต


วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 หลังจากแวะเยี่ยมโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดอุทัยธานีแล้ว 3 แห่ง
ท่าน ส.วนิดา(ส. เป็นชื่อย่อที่คนในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเรียก นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญด้านส่งเสริมพัฒนา) บอกในการเดินทาง One Day Tour ทั่วอุทัย ว่า ก่อนจะถึงโรงพยาบาลห้วยคต ควรจะแวะดู สำนักงานสาธารณสุขอำเภอห้วยคต สักหน่อย

อำเภอห้วยคต อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 45 กิโลเมตร แยกการปกครองมาจากอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ประกอบด้วย 3 ตำบล 31 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลห้วยคต 10 หมู่บ้าน ตำบลสุขฤทัย 13 หมู่บ้าน ตำบลทองหลาง 8 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 20000 คน มีคำขวัญประจำอำเภอว่า

ห้วยคตป่าใหญ่ รวมใจทุกคน ใจคนงดงาม น้ำพุร้อนพุน้ำใส พระใหญ่ เขาเชือกงาม น้ำตกไซเบอร์

ฟังดูแล้วรู้สึกสะดุดที่ น้ำตกไซเบอร์ เพราะฟังดูแล้วทันสมัยดี เหมือนเป็นน้ำตกในโลกอินเตอร์เน็ทยังไงอยู่ แต่พอซักไซร้ไล่เรียงแล้ว คำว่า ไซเบอร์ เป็นภาษากระเหรี่ยง(แต่ไม่รู้แปลว่าอะไร) มีชื่ออีกชื่อว่า น้ำตกหินลาด

เมื่อได้แวะเยี่ยม ท่านสาธารณสุขอำเภอ ทวีป สมัครการไถ นับเป็นสาธารณสุขอำเภอคนล่าสุด หนุ่มสุด ของอุทัยธานี ยืนรอรับอยู่ บอกว่าค่อยๆขึ้นบันไดนะ แล้วก็อย่าขึ้นไปทีละหลายคน กลัวสำนักงานรับไม่ไหว




เป็นสำนักงานสาธารณสุขอำเภอที่ใช้อาคารสถานีอนามัยเก่า น่าจะมีใครทำข้อมูลไว้จะได้รู้ว่า เป็นสถานีอนามัยรุ่นไหน ปัญหาที่ยิ่งใหญ่คือ ปลวกขึ้นทั้งหลัง จนต้องคอยเตือนผู้มาเยือนว่า อย่าเผลอไปยืนพิงเสาหรือฝา เดี๋ยวพลาดพลั้งไปจะได้ออก เก็บตก หรือ สะเก็ดข่าว

ท่านสาธารณสุขอำเภอแจ้งว่าได้ของบประมาณก่อสร้างทดแทนไปตามโครงการใครเข้มแข็ง เอ้ย ไทยเข้มแข็ง แต่ปรากฏว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ค่อยเข้มแข็ง จนป่านนี้ยังไม่ได้ใช้เงินสักบาทเดียว แต่โดนตราหน้าว่า ทุจริต ไปแล้ว ไม่รู้ว่าอาคารสำนักงานสาธารณสุขอำเภอห้วยคต จะขึ้นต้นตรงปลายคดสมชื่ออำเภอหรือเปล่าก็ไม่รู้

ฟังการนำเสนอของท่านสาธารณสุขอำเภอแล้วก็ให้เป็นงงหน่อย ในระบบการดูแลสถานีอนามัยของจังหวัดอุทัยธานี ที่ยึดเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีสถานีอนามัย 3 แห่ง คือ สถานีอนามัยสุขฤทัย สถานีอนามัยทองหลาง สถานีอนามัยบ้านคลองแห้ง และต้องดูแลสถานีอนามัยของอำเภอบ้านไร่อีก 1 แห่ง คือ สถานีอนามัยบ้านห้วยคตคลองหวาย ตำบลคอกควาย อำเภอบ้านไร่ (ได้ทราบว่ายังมีที่อำเภออื่นที่เป็นลักษณะนี้อีก)

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 ผู้เขียนได้ติดตาม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 18 นายแพทย์โสภณ เมฆธน ตรวจเยี่ยมที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอห้วยคตอีกครั้ง ได้รับการยืนยันจากท่านผู้ตรวจฯ ว่าได้จัดลำดับความสำคัญให้เป็นอันดับหนึ่งของเขต ท่านสาธารณสุขอำเภอก็น่าจะเบาใจได้ ว่าจะได้สำนักงานใหม่ (เมื่อเดือนมีนาคม ได้ทราบข่าวว่า โดนลมพายุพัดหลังคาหายไปหลายแผ่น)

จะอย่างไรก็ตาม ก็ขอให้กำลังใจกับทีมงาน ที่ยังยืนยันกับผู้เขียนว่า ใจสู้ ทุกคน


โพสต์ครั้งแรกเมื่อ 15 เม.ย. 2010 

วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553

การกระจายอำนาจ ขอทดลองอยู่ก่อนแต่ง


มีหลายท่านเปรียบเทียบ การกระจายอำนาจบทบาทภารกิจ ของกระทรวงสาธารณสุข ไปให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พระราชบัญญัติกำหนดแผนและกระจาอำนาจฯ พ.ศ.2542 ว่าเป็นเสมือน การแต่งงาน

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ก็คือ หนุ่ม ที่จะไปขอ ลูกสาว สถานีอนามัย(สอ.) ของกระทรวงสาธารณสุข(กสธ.) คนเป็นพ่อเป็นแม่ ก็เลยต้องขอดูตัว ดูทรัพย์สมบัติ ดูการประกอบสัมมาอาชีพ ดูความประพฤติ นิสัยใจคอ และต้องการ คำรับรองว่าจะดูแลลูกสาวเป็นอย่างดี สุดท้าย ก็ขอดูว่าจะจ่ายสินสอดทองหมั้นเท่าไร อย่างไร

ส่วนอปท. ก็ยืนยันว่า จะดูแลเป็นอย่างดี ยกตัวอย่าง ลูกสาวกระทรวงศึกษาธิการ(โรงเรียน) ที่อปท.ขอแต่งมาก่อนหน้านี้ ก็ได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี มีหน้ามีตา สมฐานะ

ต่อรองกันมา 10 ปี จนจะหมดเวลาตามเงื่อนไขพระราชบัญญัติ

จนมี อปท.บางท่านทนไม่ได้ บอกว่า กสธ.ชักจะเล่นตัวมากไปแล้ว
มีการออกคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือการดำเนินงานด้านสาธารณสุข และกำหนดรูปแบบการกระจายอำนาจเงื่อนไขใหม่ 5 รูปแบบ คือ

1. ถ่ายโอนสอ.ไปให้องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) หรือเทศบาล แยกรายสอ.

2. ถ่ายโอน โดยรวมกลุ่มสอ. ไปให้อบจ. มีคณะกรรมการบริหารระดับจังหวัดโดยมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)เป็นประธาน

3. สอ.และโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) หรือโรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) รวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายบริการ ขึ้นต่อคณะกรรมการบริหารระดับจังหวัดโดยมีนายกอบจ.เป็นประธาน

4. รวมกลุ่มสอ. หรือ กลุ่มสอ.และรพช. รวมเป็นเครือข่ายบริการ พัฒนาไปเป็นองค์การมหาชน

5. รูปแบบอื่นๆ ที่สอดคล้องและเป็นไปตามปรัชญากระจายอำนาจตาม พระราชบัญญัติกำหนดแผนและกระจายอำนาจฯ

อปท.บางท่านที่ทนไม่ไหวบอกว่า หากไม่ได้คราวนี้ เห็นทีจะต้อง ปล้ำข่มขืน กันบ้างละ

ภาคประชาชนฟังมานาน ก็เรียกร้องว่า ประชาชนก็เหมือนลูก พ่อกับแม่จะแต่งงานกันก็คุยกันดีๆ ไม่อยากให้เกิดการข่มขืนกันขึ้นมา ประชาชนก็จะกลายเป็นลูกที่ถูกทอดทิ้ง เพราะพ่อแม่ไม่รักกัน

ผู้เขียนได้ยินก็ ตกใจ รู้สึกว่าจะ Go Big ไปกันใหญ่ ใคร่เสนอรูปแบบกลางๆสำหรับ หนุ่มสาว คู่นี้ว่า ทดลองอยู่กันก่อน ดีมั้ย อย่าให้ถึงขนาดปลุกปล้ำกันเลย

ผู้เขียนพักไว้ ไม่วิพากษ์วิจารณ์ความเห็น ควรไม่ควรถ่ายโอน ด้วยเห็นว่าเป็น เรื่องที่ต่างคนต่างคิด ไม่มีผิดไม่มีถูก หรือ ที่สุดอาจเรียกได้ว่าเป็น นานาสังวาส ใยต้องจับองค์กรที่ทำเพื่อประชาชนเหมือนกัน แต่มีแนวคิดที่ต่างกัน มาอยู่ร่วมกันให้ได้

วิธี ทดลองอยู่ก่อนแต่ง เป็นรูปแบบที่ 5 รูปแบบหนึ่ง เป็นรูปแบบประนีประนอม ที่น่าจะพอเป็นไปได้ ที่หน่วยบริการสาธารณสุข ยังคงต้องถ่ายโอนภารกิจไปให้อปท. กสธ.ยังสามารถควบคุมกำกับหน่วยง่านใต้สังกัดได้เช่นเดิม และอปท.ได้รับการกระจายอำนาจตามปรัชญากระจายอำนาจ สามารถบริหารจัดการเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนตามบทบาทภารกิจ สอ.และรพ. ก็ยังคงอยู่ในความหลากหลายได้เช่นเดิม

วิธีการก็คือ ปรับปรุงระบบบริหารจัดการปัจจุบัน ในประเด็น 3 สาระสำคัญได้แก่

1. ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เปลี่ยนการซื้อบริการ จากซื้อบริการกสธ.เป็นจ่ายเงินซื้อบริการไปที่อปท. และให้อปท.ซื้อบริการที่กสธ.ผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)หรือเอกชน ทั้งนี้อปท.สามารถใช้งบประมาณของอปท.เพิ่มเติมในการซื้อบริการได้

2. ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับจังหวัด(อปสจ.)เดิม ที่มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.)เป็นประธาน ปรับให้นายกอบจ.เป็นประธาน จัดองค์ประกอบใหม่ให้ท้องถิ่นและภาคประชาชนมีจำนวนมากขึ้น เป็นการกำหนดให้อปท.เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการสถานพยาบาลชัดเจนขึ้น เป็นไปตามปรัชญาการกระจายอำนาจ

3. ปรับวิธีการซื้อบริการสาธารณสุข จากเดิมเหมาจ่ายผ่าน CUP(Contracting Unit for Primary care) แบบเหมาโหล ไปเป็น ซื้อบริการตามภารกิจกับสสจ. ผ่านสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.)ซึ่งควบคุมกำกับสอ. ด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค การรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิ และผ่านโรงพยาบาล(รพ.)ด้านการรักษาพยาบาลระดับทุติยภูมิ ตติยภูมิ เป็นการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมชัดเจนตามภารกิจ เลิกคิดกันทีที่จะให้หน่วยงานเดียวดูแลทั้ง สร้างสุขภาพ และ ซ่อมสุขภาพ โดยงบประมาณที่จัดสรรอย่างเบี่ยงเบน ทั้งเพื่อเป็นการลดปัญหาความขัดแย้งลึกๆที่ไม่ค่อยมีใครกล้าพูดระหว่าง รพ. ที่มักมองว่า เงินเป็นของตน กับ สอ. ที่รู้สึกเหมือนต้องแบมือขอเงินทำงาน เหมือนลูกที่ไม่มีวันโต



ข้อดีของระบบที่ผู้เขียนเสนอนี้ นอกจากเป็นการกระจายอำนาจ ให้อปท.สามารถให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนได้ตามเจตนารมณ์ แล้ว กสธ.ก็ไม่ต้องอึดอัดกับสปสช.ที่ดูจะบีบเคล้น(Clench) เข้ามาทุกวัน ให้สปสช.ไปบีบอปท. แล้ว อปท.มาบีบกสธ.เอง ซึ่งจะเป็นการบีบแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยมากกว่า ด้วยเป็นการบีบให้ทำงานเพื่อประชาชนในพื้นที่ ที่ผู้ซื้อและผู้ขายมองเป้าหมายชัดเจนร่วมกัน

ทั้งหมดที่เสนอมา ผู้เขียนเรียกว่า ระบบ อยู่ก่อนแต่ง หากได้ผลดี อาจแต่งก็ได้ ไม่แต่งก็ได้ เลิกกันก็ได้ หรือถึงวันนั้น ค่อยถาม ลูก อีกทีว่าจะให้แต่งกันหรือไม่ ก็ไม่สาย


[โพสต์ครั้งแรกที่ Gotoknow Blog Office 02 เมษายน 2553 11:24]