วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2552

พี่เลี้ยงนักมวย(ไทย)


เมื่อ 13 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู จัดประชุมสรุปผลลัพธ์การปฏิบัติงาน ประจำปี 2552 ที่โรงแรมณัฐพงษ์แกรนด์

สาระส่วนใหญ่เป็นการสรุปผลงานตาม ตัวชี้วัด ที่หลายท่านฟังแล้วคงจะเบื่อๆอยู่บ้าง มารู้สึกคึกคัก ก็ตอนจะปิดประชุม ในช่วงข้อคิดเห็นจากที่ประชุมนี่แหละ

ผู้เขียนเองก็รู้สึก ปิ๊ง กับแนวคิดที่ คุณสง่า ไชยนา นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลโนนสัง ที่เสนอว่า ผู้รับผิดชอบงานในระดับจังหวัด ควรทำตัวเหมือน พี่เลี้ยง อย่างแท้จริง ในการทำงาน

คุณสง่า จะคิดอย่างไร ไม่รู้
ผู้ร่วมประชุม จะคิดอย่างไร ไม่รู้

แต่ผู้เขียน เห็นภาพหนึ่งแว้บเข้ามา พี่เลี้ยงนักมวย(ไทย)

ทำไมต้องพี้เลี้ยงนักมวย และ ทำไมต้องนักมวยไทย

เพราะ ภาพของพี่เลี้ยงนักมวย(ไทย) สื่อให้เห็นชัดเจนกว่า โค้ช(Coach) 

ภาพของโค้ชคือ ผู้ฝึกสอน ผู้แนะนำ ผู้วางแผนการเล่น ผู้แก้เกมส์ เมื่อเกิดเพลี่ยงพล้ำขณะแข่งขัน

แต่ภาพของพี่เลี้ยงนักมวย(ไทย) เป็นมากกว่า โค้ช

พี่เลี้ยงนักมวย(ไทย) นอกจากจะทำหน้าที่ฝึกสอน แนะนำ วางแผน แก้เกมส์ ยังเป็น เป็นผู้ดูแลนักมวยระหว่างพักยก ทั้งให้น้ำ ทั้งนวด ทั้งกระตุ้น ทั้งให้กำลังใจ บางครั้งถึงขนาด ตบ เรียกสติ เพื่อให้นักมวยมุ่งมั่นไปสู่ เป้าหมาย ให้ได้ 

ผู้รับผิดชอบงานในระดับจังหวัด จึงควรทำตัวเหมือน พี่เลี้ยงนักมวย(ไทย)

ไม่ใช่เพียงคิดว่าเป็นผู้กำกับงาน ประเมินผล นิเทศ ติดตาม

เมื่อผู้ปฏิบัติทำไม่ได้ ไม่สำเร็จตามเป้าหมาย ก็ประเมินว่า ไม่มีศักยภาพ

หากทำตัวเป็น พี่เลี้ยง ก็จะต้องลงไป ให้น้ำ นวด กระตุ้น ให้กำลังใจ (บางครั้งต้อง ตบ เรียกสติ) ยกต่อยก นอกเหนือจากการสอน แนะนำ


ถ้าแพ้ ก็ แพ้ทั้งนักมวยและพี่เลี้ยง

หมายเหตุกติกามวยไทย

ห้ามพี่เลี้ยงใช้วาจาไม่สุภาพหรือทำร้ายนักมวยของตนระหว่างการแข่งขันและภายหลังการแข่งขัน และ

พี่เลี้ยงจะยอมแพ้แทนนักมวยของตนไม่ได้ นะเออ




มาสายเพราะ เลขาฯ


เมื่อมาอยู่ หนองบัวลำภู ใหม่ๆ เวลาจะไปประชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปเป็น ประธานในที่ประชุม เลขาฯ ก็จะบอกให้ รอก่อน รอผู้จัดประชุมแจ้งมาก่อนว่าที่ประชุมพร้อม นั่นคือ

ทำให้ ประธาน เป็นตัวอย่างของการ มาสาย

เมื่อทุกประชุม ประธานมาสาย คนที่มาประชุมสายที่สุด ก็ยังมาก่อนประธาน

การมาสายจึงกลายเป็น วัฒนธรรมองค์กร

คุณอุดร เหม่งปัง หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนายุทธศาสตร์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู บอกผู้เขียนครั้งหนึ่งว่า วัฒนธรรมต้องเป็นสิ่งดีๆเท่านั้นนะอาจารย์ สิ่งไม่ดีไม่เรียกว่า วัฒนธรรม (แต่ท่านอุดร อีกนั่นแหละที่บอกผู้เขียนว่า การมาสาย เป็นวัฒนธรรมองค์กร ) !!!!!

เมื่อไม่แน่ใจก็ต้องพึ่ง พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542

วัฒนธรรม น. สิ่งที่ทำความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ

แล้วการมาสาย เป็น สิ่งที่ทำความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ หรือไม่นะเนี่ย

เมื่อถกกับหลายท่านแล้ว คงมีวิธีแก้อยู่ 3 วิธี

หนึ่ง คือ ไม่ต้องสนใจว่าใครจะมาสายเพียงใด เมื่อเราเป็นประธาน ถึงเวลาก็เริ่มเปิดประชุม ดำเนินการไปเรื่อยๆ จนหมดระเบียบวาระ ผู้มาสายหลายคนอาจมาทัน ปิดประชุม บ้างหรอกน่า
(ภก.ศิริชัย ระบาเลิศ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคฯ แนะนำว่า ให้จัดระเบียบวาระเพื่อพิจารณา ไว้ช่วงแรกๆนี่แหละดี โดยเฉพาะ การจัดสรรงบประมาณ ว่าแต่ ท่านศิริชัย เองจะมาทันหรือเปล่า ไม่รู้)

สอง คือ ไม่ต้องทุกข์ใจกับการมาสาย มาพร้อมเมื่อไร ก็เริ่มประชุมเมื่อนั้น แล้วทดเวลา เลิกประชุมออกไปเท่าที่กำหนดไว้แต่แรก มาด้วยกันไปด้วยกันเลือดสุพรรณเอย (คุณธงไทย วรรณคีรี สาธารณสุขอำเภอนากลาง บอกว่าเป็นวิธีที่น่าสนใจ)

สาม คือ ไปประชุมตามที่ เลขาฯ สั่งนั่นแหละดี สายคนเดียว โก้ออก

อ๊ะ อ๊ะ ละเมอครั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับ การเริ่มประชุมก็ไม่ตรงเวลา แล้วยังชอบ เลิกประชุมสาย นะ

[โพสต์ครั้งแรกที่ นอนละเมอที่หนองบัว 17-08-2009]