วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2552

สถานีอนามัยนิคมพัฒนา


วันพุธที่ 21 มกราคม 2552

วันนี้ได้รับแจ้งด่วนให้ไปร่วมกิจกรรม แจกผ้าห่มพระราชทาน โดยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ที่ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอโนนสัง เมื่อเสร็จภารกิจ เห็นว่าพอมีเวลาจึงแวะไปเยี่ยม สถานีอนามัยนิคมพัฒนา






ผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอ คุณจันทร์สุดา วงษ์นคร รีบจะไปแจ้งเจ้าหน้าที่ที่สอ.ให้เตรียมตัวรับ แต่ก็ไปถึงพร้อมๆกัน พบ เจ้าหน้าที่อยู่เพียงคนเดียว ได้แก่ คุณนิติญา ปินตาศรี พยาบาลวิชาชีพ ซึ่งเพิ่งย้ายมา เพื่อกลับมาอยู่บ้าน (จากแฟ้มข้อมูลน่าจะย้ายมาจากสถานีอนามัยบ้านหนองทุ่ม ตำบลบ้านค้อ อำเภอโนนสัง หากผิดพลาดต้องขออภัย)

สอ.นิคมพัฒนา มีเจ้าหน้าที่ 3 คน คือ คุณเปรมศิริ อินทบาล หัวหน้าสถานีอนามัย คุณจารุณี แ ก้วยอด นักวิชาการสาธารณสุข และ คุณนิติญา ปินตาศรี (ข้อมูล อาจมีความคลาดเคลื่อน ต้องขอตรวจสอบใหม่อีกครั้ง)

คุณนิติญามีความตั้งใจสูงมากที่จะทำงานเพื่อชุมชนบ้านเกิด มีแนวคิดในการพัฒนาและการทำงาน ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่น่าส่งเสริม

ได้พูดคุยซักถามในประเด็นต่างๆพอสมควร น่าเสียดายที่ไม่ได้บันทึกไว้ทั้งหมด เนื่องจากยังไม่มีแนวคิดไว้ล่วงหน้าว่าจะนำมาเขียนบล็อก จึงควรเป็นสอ.ที่ต้องกลับมาแวะเยี่ยมใหม่อีกครั้งหนึ่ง

วันอังคารที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2552

นาย กับ ลูกน้อง


เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้ดู TV ซึ่งก็เป็นไปตามประสา Remote Controlism คือ กดรีโมทไปเรื่อยๆ หยุดดูนั่นนิดนี่หน่อย ตามความน่าสนใจที่สะดุดตา จึงไม่สามารถจำได้ถนัดชัดเจนในการอ้างอิงได้ว่า เป็นรายการอะไร ช่องไหน

รายการที่ดูเป็นการสัมภาษณ์ ผู้บริหารของบริษัท สิงห์คอร์ปอเรชั่น จำกัด คุณปิติ ภิรมย์ภักดี (นัยว่าเป็นผู้บริหารรุ่นที่ 4 ของตระกูล)

คำตอบที่น่าสนใจของคุณปิติ ที่พิธีกรถามว่า ทำอย่างไรในการพัฒนาองค์กรให้อยู่รอดมาได้ และยังสามารถเจริญรุ่งเรือง ครองส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ได้เป็นลำดับหนึ่งอยู่ (ทำนองนี้แหละ) คือ

การเปลี่ยนแนวความคิดจากคำว่า ครับนาย มาเป็น นายครับ

โดยคุณปิติให้คำอธิบายว่า วัฒนธรรมองค์กรประเภท ครับนาย นั้น ลูกน้องไม่ต้องคิดอะไร เพียงแค่ทำตามที่นายคิด นายสั่ง ก็พอ แต่ลูกน้องที่จะกล้าหาญท้วงนาย หรือให้ข้อแนะนำกับนาย ด้วยการเริ่มว่า นายครับ นั้น จะเป็นทีมงานที่มีความริเริ่มในการคิดพัฒนาองค์กร ไม่ยึดติดอยู่กับการเอาใจนายเพียงถ่ายเดียว

(อันที่จริง ผู้เขียนเองไม่ค่อยชอบใช้คำว่า นาย กับ ลูกน้อง ด้วยรู้สึกว่ามันห่างเหินจากการทำงานเป็นทีมอย่างไรอยู่ แต่ก็เพื่อการเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนถึงแนวคิดดังกล่าว)

ลูกน้องที่จะกล้าพูดว่า นายครับ ไม่ได้อยู่ที่ ลูกน้อง แต่อยู่ที่ นาย

จะอย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็มี ลูกน้อง และเป็น นาย

แม้จะ ละเมอ ต้องการลูกน้องประเภท นายครับ มากกว่า ครับนาย

จะอย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็มี นาย และเป็น ลูกน้อง

แต่ก็ยังพอเข้าใจความรู้สึกของ ลูกน้อง อยู่ อิ อิ


[โพสต์ครั้งแรก ที่ นอนละเมอที่หนองบัว 06-01-2009]