วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2551

Check & Do

กระบวนการป้องกันโรค ตามทฤษฎีมีด้วยกัน 3 ระดับ คือ การป้องกันปฐมภูมิ(Primary Prevention) , การป้องกันทุติยภูมิ(Secondary Prevention) , การป้องกันตติยภูมิ(Tertiary Prevention) หรือบางตำราอาจเพิ่ม การป้องกันก่อนปฐมภูมิ(Primordial Prevention) อีกระดับก็เป็นไปได้

งาน Health Education หรือ งานสุขศึกษา เป็นงานป้องกันโรคที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นการป้องกันในระดับปฐมภูมิ คือการป้องกันก่อนเกิดโรค ถ้าประชาชนมีความรู้ด้านสุขภาพดี ก็ย่อมลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้ดี

ปัญหาคือ งานสุขศึกษา ของหน่วยงานด้านสาธารณสุข มักไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้บริหาร และแม้กระทั่ง ผู้รับผิดชอบงานเอง ที่มักเกี่ยงกันว่าเป็นหน้าที่ใครในการให้สุขศึกษา ที่อาการหนักไปกว่านั้นคือ เข้าใจว่า งานประชาสัมพันธ์(Public Relation) คือ งานสุขศึกษา ก็เลยมุ่งเน้นไปที่การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ เพราะมันดังดี

ผู้เขียนจึงพยายามใช้คำว่า Health Education แทนคำว่า สุขศึกษา ที่เมื่อพูดถึงก็มักนึกถึง วิชาสุขศึกษา ที่เป็นยาขมสำหรับเด็กนักเรียนตั้งแต่รุ่นคุณปู่ยังเด็กมาจนสมัยปัจจุบัน ใช้ Health Education จะได้เข้าใจกันชัดๆไปเลยว่าเป็น กระบวนการเรียนรู้ทางสุขภาพ ไม่ใช่วิชาเรียนที่ต้อง ท่อง(แต่ไม่ต้องปฏิบัติ) เพื่อเอาคะแนน

งาน Health Education เป็นงานยาก เพราะเป็นงานที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคน ซึ่งแต่ละคน แต่ละชุมชน แต่ละสังคม แต่ละโรค แต่ละกิจกรรม ย่อมไม่สามารถใช้รูปแบบที่เหมือนๆกัน หรือ เหมือนเดิม ไปสอนไปแนะนำให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อนำไปสู่ การป้องกันโรค

ผู้ทำงานด้าน Health Education มักทำไปตาม Routine ที่เคยทำมาแต่ไหนแต่ไร ไม่เคยประเมินว่า สิ่งที่ดำเนินการไปกับประชาชนนั้น มันสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนได้จริงหรือไม่ แค่ไหน

แล้วจะให้ทำอย่างไร

ผมเสนอว่า ให้ทำการ ประเมินหรือตรวจสอบ(Check) เสียก่อนว่า การที่เราจะทำ Health Education กับประชาชนกลุ่มหนึ่งๆที่เรารับผิดชอบ ควรจะใช้รูปแบบใดที่จะสามารถสื่อไปถึงผู้รับได้ Tune ให้ตรงกันก่อน แล้วจึง ทำ(Do)งาน Health Education จึงต้อง C&D (Check & Do) ครับท่าน

First Posted by นพ.บุญชัย ธีระกาญจน์ at Monday, March 24, 2008 at http://plkhealth.blogspot.com/




วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2551

ทฤษฎีพังเหย


เมื่อวันที่ 12-14 มีนาคม 2551 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปประชุมวิชาการ สมาคมนักบริหารสาธารณสุข ครั้งที่ 5 มีประเด็นที่น่าสนใจมากมาย เรื่องหนึ่งเป็นที่ประทับใจมาก คือ


การเสวนาเรื่อง 4 เดือนแรกหลังการถ่ายโอน ซึ่งเป็นการนำผู้เกี่ยวข้องมาเสวนากันในประเด็นการถ่ายโอนสถานีอนามัยไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ท่านนายก อบต.ปากพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช คุณ ธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ พูดในหลายประเด็นที่น่าฟังมาก ท่านทำโน่นทำนี่มากมาย ทั้งเรื่องการเงินและการบุคคล ฟังแล้วดูง่ายไปหมด
(มีคนแอบนินทาให้ผู้เขียนได้ยินว่า คนมีเงินซะอย่าง ทำอะไรก็ไม่น่าเกลียด)
แต่ก็มีคนสงสัยว่าท่านทำไปนั้นมันไม่ผิดกฎหมายหรืออย่างไร ท่านตอบข้อสงสัยว่า
ผมใช้ Phang Hoei Theory ทฤษฎีพังเหย 

ท่านว่า พังเหย เป็นภาษาใต้หมายถึง รูแย้ ที่มีทางออกหลายๆทางไว้หลบหลีกศัตรู

..เขามาช่องนั้น ผมก็หลบออกรูนี้ เขามารูนี้ ผมก็ออกช่องโน้น หารูออกไม่ได้ ผมก็ขุดรูใหม่ ไปจนได้แหละ..
ฟังแล้ว ก็เกิดดวงตาเห็นธรรม ที่อยากฝากไปถึงท่าน เจ้าระเบียบ ทั้งหลายที่ทำให้งานสะดุด งานไม่เดินอยู่ทุกวันนี้ เพราะมัวติดขัดอยู่กับระเบียบ ข้อบังคับ (ไม่รวมเรื่อง มอบอำนาจ อิอิ..) ลอง ทฤษฎีพังเหย ดูบ้างเป็นไร

Note
คุณประยุทธ ดารายิ้มฤทธิ์ สาธารณสุขอำเภอวังทอง บอกว่า แถวคันโช้ง อ.วัดโบสถ์ เรียกรูแย้นี้ว่า รูเปลว

คุณพิพัฒน์ จันทะคุณ สาธารณสุขอำเภอชาติตระการ บอกว่าชาวชาติตระการ เรียก รูผี


คุณวัฒนศักดิ์ ศรรุ่ง ผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอพรหมพิราม มาจากนครสวรรค์ เรียกว่า รูปล่อง



[โพสต์ครั้งแรกที่  Notes on Weblog Gotoknow 15 มีนาคม 2551 22:45]