วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551

หนูจะมีผัวฝรั่ง


หนองบัวลำภูได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มี เขยฝรั่ง อยู่ไม่น้อย ซึ่งเป็นไปตาม trend ของคนในกลุ่มจังหวัดที่ 6.1 (อุดรธานี หนองคาย เลย หนองบัวลำภู) ที่มี วิสัยทัศน์ (อันเป็นที่สงสัยถึงที่มาอยู่) ว่า แหล่งพำนักแห่งที่สอง ของนักลงทุนและนักท่องเที่ยว (The land of your second home) ดูเหมือนจะยินดีต้อนรับ เขยฝรั่ง เป็นเรื่องเป็นราวเหลือเกิน (นัยว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดที่ชัดเจนที่สุด)

มีหมู่บ้านแห่งหนึ่งในหนองบัว ได้รับการขนานนามว่า หมู่บ้านนานาชาติ เนื่องมาจากมี เขยฝรั่งจากต่างชาติต่างภาษา ฝรั่งเหล่านี้ มาใช้ชีวิตแบบคนไทย เข้าร่วมกิจกรรมตามวัฒนธรรมและประเพณีตามท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ คนหนองบัวเห็นฝรั่งเดินซื้อของในตลาด เห็นฝรั่งตามงานวัด เห็นฝรั่งปะปนอยู่ในสังคมทั่วไป จนเป็นวิถีชีวิตธรรมดา 

อาจารย์ท่านหนึ่งจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหนองบัวลำภูเขต 1 สอบถามเด็กนักเรียนหญิง ในโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ใน หมู่บ้านนานาชาติ ว่า เมื่อเรียนจบแล้วจะไปรียนอะไรต่อ 

ได้รับคำตอบชัดเจนว่า หนูจะไปทำงานที่พัทยา (แปลความได้ว่า หนูจะมีผัวฝรั่ง)

นี่คือค่านิยมของเด็กสาวส่วนหนึ่งในหนองบัวลำภูที่สังคมต้อง concern 

หรือจะปล่อยให้เป็นไป เพราะเห็นว่า สเปก (specification) ของเขยฝรั่งเหล่านั้น ไม่ขัดแย้งกับชายไทยเรา อิ อิ

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Lanhinlad Lanpanya 31 Dec 2008]

วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551

เจ้านายมีหลายเบอร์


โทรศัพท์มือถือ แม้เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่อาจขาดได้

แต่ก็เป็นสิ่งที่ รบกวน ความเป็นส่วนตัวอย่างยิ่ง ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร ก็ตามมารบกวนได้ถึงที่

ที่ร้ายกว่านั้น สำหรับหลายท่าน ก็คือ คนที่บ้าน ชอบ scan ว่า  ใครโทรมาถึงบ้างในแต่ละวัน

ผู้เขียนมีเคล็ดลับแนะนำ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ (ขอยกความดี ให้กับ คุณสะไกร แก้วโสม สาธารณสุขอำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู เจ้าของผลงานครับ)

คือ ให้ท่าน memory ชื่อ กิ๊ก ของท่านเป็นชื่อ เจ้านาย ซะ แล้วก็ใส่เลขกำกับไปตามจำนวนที่ต้องการ

เช่น สมมุติเจ้านายชื่อ สุธี 
ก็ บันทึกชื่อเจ้านายพร้อมเบอร์เป็น สุธี 1
หลังจากนั้นก็เป็นเบอร์กิ๊กทั้งหลายเป็น สุธี 2  ,  สุธี 3  , สุธี 4  

คราวนี้ก็สบาย ไม่ว่า น้องนก น้องหนู น้องแมว โทรมา ก็ขึ้นชื่อเจ้านายหมด  

คนที่บ้านก็ไม่สงสัย เพราะ เจ้านายมีหลายเบอร์ 

ว่าแต่จำรหัสให้ดีๆแล้วกัน เดี๋ยวกิ๊กชนกัน

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Lanhinlad Lanpanya 22 Dec 2008]

วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ลมโตนภู


…….ฝาก ลมโตนภู   ลอยไปสู่เมือง กทม.
เอิ้นใจอ้ายมาสานต่อ        ฮักที่รอกับสาวแพรวา..
(เพลง แพรวาสัญญารัก  ต่าย อรทัย)

มาอยู่ หนองบัวลำภู อาาศปีนี้ หนาวอย่าบอกใคร
วันเสาร์อาทิตย์กลับบ้าน มีคนหนองบัวถามว่า พิษณุโลกหนาวใหม
ตอบอย่างมั่นอกมั่นใจว่า พิษณุโลกไม่หนาว แต่อยู่ที่หนองบัว(นอนคนเดียว)หนาวจริงๆ

ที่หนองบัวหนาวแบบเมืองภูเขา หลายคนบอกว่าปีนี้หนาวกว่าปีก่อนๆ(ยังดีที่ไม่บอกว่า ปีนี้หนาวเพราะผู้เขียน ที่ย้ายมาอยู่ด้วย)

นอกจากหนาวเพราะอุณหภูมิที่ลดลงแล้ว ยังหนาวเพราะลมอีกด้วย
ลมที่คนหนองบัวเรียกว่า ลมโตนภู (ลมเดียวกับที่ต่าย อรทัย ฝากให้ไปบอกคนกทม.ในเพลง แพรวาสัญญารัก)

ลมโตนภูที่หนองบัวลำภูพัดแรงมาก เมื่อได้เจอใหม่ๆเข้าใจว่าเป็นลมพายุ

ผู้รู้ที่นี่บอกว่า คำว่า โตน เป็นภาษาอีสาน แปลว่า กระโดด หรือ กระโจน


ลมโตนภู ก็คือ ลมที่กระโจนลงมาจากภูเขา


เมื่อลอง search หาข้อมูลก็พบแต่ เนื้อเพลงข้างต้น เลยลองหาข้อมูลที่เกี่ยวกับลมและภูเขา เข้าใจว่า
(ผิดถูกต้องรอผู้รู้มาท้วงติง นะครับ)


ลมภูเขา(Mountain Wind) คือลมที่พัดลงมาตามทางลาดชันของภูเขาลงสู่หุบเขา เกิดในเวลากลางคืน
เนื่องจากอากาศบนยอดเขาจะเย็นลงเร็วกว่าหุบเขา อากาศเย็นจึงไหลลงสู่หุบเขา

ตรงกันข้าม ในเวลากลางวัน ยอดเขาได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์จึงร้อนกว่าหุบเขา

อากาศเย็นจึงไหลขึ้นยอดเขา เกิดกระแสลมที่เรียกว่า ลมหุบเขา(Valley Wind)

ลมภูเขา จะแรงกว่า ลมหุบเขา และในช่วงฤดูหนาว ลมภูเขาจะแรงกว่าปกติ(ตรงกับที่ผู้เขียนรู้สึกได้ตอนดึกๆ)
(ข้อมูลจาก สารานุกรมไทยฉบับเยาวชนฯ ฉบับที่ 4 http://www.kanchanapisek.or.th)

ลมภูเขาและลมหุบเขา อาจก่อให้เกิดกระแสลมที่ผันผวน เป็นอันตรายต่อเครื่องบินเล็กได้
(ข้อมูลจาก สัมพันธ์ ไทยเครือวัลย์ http://mhsmet.110mb.com/data/TMD_KM/article-0030.doc)

รวมถึงท่านที่จะกางเต๊นท์นอนบนเขา ก็ควรจะดูทิศทางลมให้ดีด้วยครับ 
ลมภูเขา (ภาพจาก http://www.kanchanapisek.or.th)

ลมหุบเขา (ภาพจาก http://www.kanchanapisek.or.th)

ลมโตนภู ก็คือ ลมภูเขา(Mountain Wind)สำหรับสาเหตุของ ลมโตนภู ในมืองหนองบัวที่มักพัดแรงในตอนเช้า ผู้เขียนเข้าใจเองว่า น่าจะเกิดจาก 2 สาเหตุ คือการใช้พลังงานของชาวเมืองที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างมาก และ การที่มีหนองน้ำขนาดใหญ่อยู่กลางเมือง ทำให้อากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว(คล้าย ลมบกลมทะเล)


 หนองบัวยามเย็น

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Lanhinlad Lanpanya 18 Dec 2008]

ทำไมต้องหินลาด



สวัสดีครับทุกท่าน


ยินดีต้อนรับสู่ ลานหินลาด ครับ

เมื่อมาแล้วก็ต้องขอแนะนำตัวต่อเจ้าที่เจ้าทางทุกท่านก่อน ว่าผู้เขียนเป็นใครมาจากไหน แล้วทำไมต้องเป็น ลานหินลาด
ความจริงก็ไม่ใช่คนใหม่ แต่ก็ไม่ใช่คนเก่าที่คุ้นเคย อาจเคยพบปะกันมาบ้างตามกระแสอินเตอร์เน็ต ที่สำคัญน่าจะเป็นคำชักชวนแกมบังคับมาจาก จอมป่วน ให้แวะเวียนมาที่นี่บ้าง(บอกมาหลายเดือน จนเข้าใจว่าแม้จอมป่วนก็ลืมเลือนไปแล้ว ตามประสาผู้มีอายุ)
เหตุบังเอิญทำให้ผู้เขียนต้องเดินทางไปปฏิบัตืราชการที่ จังหวัดหนองบัวลำภู อันเป็นที่มาของชื่อ ลานหินลาด 
หินลาด มาจาก ภูที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดหนองบัวลำภู ชื่อเต็มว่า ภูหินลาดช่อฟ้า 
ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขา ภูพานคำ ตำบลโนนทัน อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นผืนป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ มีลานหินแตก และหินรูปร่างแปลกตาคล้ายช่อฟ้า อันเป็นที่มาของชื่อ หินลาดช่อฟ้า
ในห้วงเวลาหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมือง ภูหินลาดช่อฟ้า เป็นสถานที่พำนักของกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่าเป็น นักปฏิวัติ ผู้แสวงหาแนวทางแก้ไขการกดขี่ทางชนชั้นในสังคม (ผู้เขียนแม้ยังมิได้ไปสัมผัสบรรยากาศ แต่ได้มีโอกาสพบปะ สหายหมอ ที่บรรยายเส้นทางเดินจากหนองบัวลำภูสู่ ลาว เวียดนาม และจีน เพื่อเรียนรู้อุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ อย่านึกว่าความคิดเห็นทางอุดมการณ์เหล่านั้นจะหายไป มันก็เพียงจางลง รอวันที่จะเข้มข้นขึ้น หากสังคมถดถอย สหายเฒ่าท่านนั้นรับปากที่จะนำผู้เขียนไปพบปะกับเหตุการณ์ในอดีต หากเวลาเหมาะสมคงได้ ปัญญา มาแลกเปลี่ยน)

เมื่อยังไม่เคยไปสัมผัสสถานที่จริง ด้วยผู้ร่วมงาน ขู่ว่าต้องหา 4 WD จึงจะไปรอด จึงต้องแอบนำภาพเด็ดๆมาจากที่อื่น เพื่อยืนยันบรรยากาศ (แต่สำหรับผู้นิยมจักรยาน อาจสะดวกและได้รสชาติมากกว่า ไม่แน่ว่า จอมป่วน อาจเคยผ่านเส้นทาง หากท่านใดเคยแวะเยี่ยมชม อย่ารีรอที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติม)




( ภาพจาก www.homestaysiam.page.tl )


หมายเหตุ หนองบัวลำภู จังหวัดที่ไม่ค่อยจะมีใครรู้จัก รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นายอารยะ จิตรบรรจง) เล่าว่า เพื่อนฝูงมักทักว่า ไปอยู่ที่ อำนาจเจริญ เป็นอย่างไรบ้าง หัวหน้าส่วนราชการหลายคน คุยกันว่าได้รับคำถามเหมือนๆกัน ทุกวันนี้ผู้เขียนเองก็ยังได้รับคำถามเช่นนี้อยู่เช่นกัน


ด้วย ลานปัญญา เป็นลานใหม่สำหรับผู้เขียน สารภาพว่าใช้ไม่ค่อยจะคล่องนัก ในที่สุดก็ยังหาที่บอกตัวตนไม่ได้ 555


[โพสต์ครั้งแรก ที่ Lanhinlad Lanpanya 18 Dec 2008]




วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551

วิชาการ D D

ผู้เขียนได้มีโอกาสคุยกับ คุณสังคม ศุภรัตนกุล นักวิชาการสาธารณสุข 7  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู หลายครั้ง หลายท่านบอกผู้เขียนว่า คุยกับ สังคม (ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก)ไม่ค่อยรู้เรื่อง  แต่ผู้เขียนกลับเห็นแตกต่าง ที่ได้แนวคิดที่น่าสนใจหลายเรื่อง เมื่อได้แนวคิด ก็ย่อมเกิดแนวทาง 

แนวคิดหนึ่งคือ การรวบรวมผลงานทางวิชาการของข้าราชการในองค์กรไว้เป็นที่เป็นทาง เพื่อเป็นแหล่งสืบค้นทางวิชาการ

ผู้เขียนจึงเห็นแนวทางว่า  ในผลงานวิชาการของข้าราชการ ที่จะจัดทำเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ย่อมมีส่วนที่เป็นองค์ความรู้ (Knowledge) อยู่ไม่น้อย ทั้งความรู้ในเชิงกว้าง ลึก และ ยาว  หากเราลองค้น D D 

การค้น D D จึงประกอบด้วย

D   Dig คือ ต้องมีการพยายาม ขุด ค้นหา องค์ความรู้ จากผลงานทางวิชาการเหล่านั้น เหมือนการขุดหา สินแร่ ที่มีอยู่ในแผ่นดิน สินแร่เหล่านั้นอาจรวมกันอยู่เป็นสายแร่ที่ชัดเจน หรือ กระจัดกระจายทั่วๆไป ทีมขุดค้นต้องใช้ความพยายามที่จะ ขุด แล้ว ร่อน จึงจะได้มาซึ่งสินแร่อันมีค่า

D   Digest เมื่อได้ขุดเอาความรู้มาจากนั้นมาได้แล้ว ต้องทำการ ย่อย ให้ได้ องค์ความรู้ ที่สามารถนำไปใช้ เหมือนสินแร่ที่ได้มา ต้องนำไป ถลุง จนได้แร่ที่บริสุทธิ์ นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

หาจะมีทีมงานสักหนึ่งทีม นำผลงานทางวิชาการที่กองไว้อย่างไร้ค่า นำมา Dig & Digest ให้ได้เนื้อขององค์ความรู้สักหนึ่งบรรทัด เราอาจได้สิ่งที่เป็นประโยชน์อันไม่คาดแก่มวลมนุษย์ 

ทำ D D จะได้สิ่งที่ ดี ดี