วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

สุดโต่ง


เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตาม นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นายแพทย์สถาพร วงษ์เจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต ๒ ไปเฝ้ารับเสด็จ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ บ้านน้ำต๊ะ บ้านน้ำลี อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์

ท่านผู้ตรวจสถาพร ได้ปรารภถึง วิธีคิด ในการบริการ ที่พูดกันว่า คนไข้เป็นศูนย์กลาง (Patient Oriented) ประชาชนเป็นศูนย์กลาง หรืออะไรอื่นๆ ที่เป็นศูนย์กลาง ว่า อาจไม่เหมาะสม เพราะทำให้ลืมคิดถึงบุคคลอื่นๆที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น เมื่อเรายึดเอาผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เราก็คำนึงแต่ความพึงพอใจของผู้ป่วย โดยไม่สนใจว่าบรรดา แพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่อื่น จะมีผลกระทบใดบ้าง เรามุ่งเน้นแต่ให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์สูงสุด การคิดเช่นนี้เมื่อท่าน(ผู้ตรวจฯ)เป็นหนุ่ม ก็ดูเหมือนเป็นความคิดที่ดูดี แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ทบทวนแล้วน่าจะมีอะไรที่คลาดเคลื่อนไป

ผู้เขียนเรียนถามท่านผู้ตรวจฯ ว่า หมายความว่า แนวความคิดเหล่านั้นเป็นแนวคิดที่ สุดโต่ง ใช่หรือไม่ ท่านตอบว่า ใช่ สุดโต่ง

นี่อาจเป็นคำตอบของพวกเราผู้ให้บริการ ว่าเราควรจะทบทวนระบบการให้บริการอย่างไร จึงจะเป็น ทางสายกลาง ที่เหมาะสมกับความเป็นจริงของสังคม

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Notes on Weblog Gotoknow 20 Nov 2550 10:55]

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ไม่ (ค่อย) เฮฮาริมสวน(ชมน่าน)


การทำ KM ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก ดูเหมือนจะเครียดๆยังไงพิกล ผมเองนั้นอยากให้เป็นแบบ เฮฮาศาสตร์ (เฮฮาเกินไปจนไม่มี ศาสตร์ รึเปล่า)

เอาจริงเข้ารู้สึกว่าจะไม่ค่อย เฮฮา สักเท่าไร (รึว่าไม่เฮฮาเอาซะเลย) อาจเป็นเพราะเราเคร่งเครียดกันเกินไป ที่ไปติดกับคำว่า การจัดการความรู้ และการต้องทำให้เป็น จังหวัด IT-KM

ความจริงก็งงๆอยู่กับคำว่า IT-KM ว่ามันคืออะไร

เมื่อวานนี้นั่งคุยกับ คุณมนลัด & คุณฉัตรชัยกานต์ (ไม่รู้ว่าทำไมสองคนนี้ต้องไปคู่กันเสมอ เจอเตียวก็ต้องเจอฉัตร เจอฉัตรก็ต้องเจอเตียว มันไงๆชอบกล) คุยกันจนเพลินไปเกือบหกโมงเย็น ได้ข้อสรุปมาว่า ไม่ว่านโยบายท่านนายแพทย์สาธารณสุขจะเป็นอย่างไร เราก็น่าจะคิดภารกิจได้ 4 รูปแบบ คือ

1. IT
2. KM
3. KM เรื่อง IT
4. IT ที่จะนำมาใช้ในงาน KM

แล้วก็มุ่งทำไปใน 4 อย่างนี้ ซึ่งมันก็ครอบคลุมตั้งแต่ หัวจรดหัว (แม่เท้า) อย่างไม่น่าห่วง

ที่เป็นปัญหาคือ ถ้าเราไปกำหนดกฏเกณฑ์ให้มันกลายเป็น ไม่อิสระ ทั้งในกระบวนการ และ แนวความคิด มันก็จะไม่ค่อย เฮฮา

ว่าแต่ เฮฮา มันแปลว่าอะไร

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Notes on Weblog Gotoknow 15 Nov 2550 21:19]

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เฮฮาริมสวน(ชมน่าน)


ด้วยความเครียดจึงคิดออกได้ว่าควรจะมี blog นี้ สมกับที่ชอบบอกกับใครๆให้ทำงานด้วยความเครียด

เมื่อเครียดแล้วมันจะเกี่ยวกับเฮฮา(ศาสตร์)ได้ยังไง ก็เพราะมันเนื่องมาจาก เฮฮาศาสตร์สองแควของอาจารย์หมอสุธีนั่นแหละ เราจึงหลวมตัวไปรับจัดประชุมครั้งที่ 2 ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก ในวันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2550 นัดหมายอย่างดี ปฏิเสธการประชุมอื่นไปหลายรายการ เพื่อวันนี้(จริงๆ)

พอเย์นวันที่ 7 ก็รู้ว่าต้อง เบี้ยวซะแล้ว เพราะได้รับมอบหมายจากเจ้านายให้ไปประชุม ที่กทม.ด้วยเรื่อง ไข้หลี ไม่ไปก็ไม่ได้เพราะมีข้อสอบข้อใหญ่ในการสอบเลื่อนระดับในวันที่ 13 ที่จะถึงนี้

พยายามโทรหา หัวโจกใหญ่ ก็โทรไม่ติด (ได้ข่าวว่าไปกินเกาเหลานอนเกาหลังที่เกาหลี) mail ไปก็ไม่ได้รับคำตอบ จนจะขึ้นเครื่องตอนสามทุ่มกว่าๆ ได้รับ sms ว่าเบอร์ที่พยานามโทรมาทั้งวันสามารถโทรได้แล้ว ก็ลองโทร คราวนี้ติด แต่ท่านไม่รับ เอจะเอาไงดี จะส่งข้อความผ่านทาง blog ไหนๆก็ไม่ค่อยได้ติดตามสถานการณ์ 

เปิด blog ใหม่สำหรับบ่นหน่อยละกัน เปิดเสร็จก็เรียกขึ้นเครื่องพอดี มาถึงโรงแรมถึงมาทรมานกด keyboard เครื่อง pocket PC อยู่นี่ไง

เพียงเพื่ออยากจะบอกชาวเฮาศาสตร์สองแคว ว่า ยังนัดเหมือนเดิม ไปพบกันที่ สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดพิษณุโลก เวลาใกล้ๆเที่ยง ที่ห้องประชุมชั้น 3 ห้องไหนไปชะโงกหาดูเอาเอง ต้องขออภัยจริงๆที่อยู่ต้อนรับไม่ได้ แต่ก็หวังว่าทีมงานคงไม่ปล่อยปะละเลยแขกทั้งหลาย (อย่าให้อายเทศบาลล่ะ)

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Notes on Weblog Gotoknow 8 Nov 2550 23:22]

วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

Children & Development

จากแนวคิดของ Kelman ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ

ผมยังมีความเชื่อว่า พฤติกรรมไม่ใช่สันดาน ( http://buabangbai.blogspot.com/2006/12/blog-post.html )

พฤติกรรมอาจเปลี่ยนไปในทางที่เหมาะสมได้ด้วย

1. การบังคับ

2. การเลียนแบบ

3. การเรียนรู้

ผมจึงยังคงเสนอวิธีการแก้ปัญหาด้านสุขภาพ ด้วยการ ปรับแก้พฤติกรรมตั้งแต่เด็ก ด้วยรูปแบบ การดำเนินการกับเด็กกลุ่มเดิมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะใช้รูปแบบผสมผสาน ทั้งการจัดค่าย การเรียนการสอน การผสมผสานกระบวนการ บังคับ เลียนแบบ เรียนรู้ ผ่านผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ครู โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สังคม ฯลฯ

แต่จะต้องทำอะไร ทำอย่างไร คงต้องไปใช้เวลา ระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อาจมองว่าเป็นการทดลองก็ได้ เพราะเราไม่สามารถทำกับเด็กทั้งหมดได้ แต่ทำได้เท่าไร ก็ดีเท่านั้น ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แล้วก็เจอะเจอปัญหาเดิมๆ ทั้งปีทั้งชาติ ด้วยคำพูดที่ว่า คนไทยก็เป็นอย่างนี้แหละ

ผมเสนอที่จะปรับเปลี่ยนตั้งแต่ อนุบาล ประถม มัธยม ต่อเนื่องกันไปการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างน้อยที่สุด ควรเริ่มที่ ป.1 ต่อเนื่องไปจนถึง ม.6

แต่เนื่องจากระบบโรงเรียนในประเทศเรา แยกชั้น อนุบาล ประถมศึกษา และ มัธยมศึกษา ออกจากกันระบบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวจึงอาจติดตามได้ยาก ยกเว้น การทดลองทำในพื้นที่ห่างไกล ที่มีโรงเรียนประถมศึกษาขยายโอกาส ก็อาจสามารถติดตามได้

หากไม่เช่นนั้น ก็อาจต้องเริ่มในระดับ ม.1 เพื่อสามารถต่อเนื่อง ไปจนถึง ม.6

หรืออันที่จริง เราสามารถปรับทุกระดับชั้นไปพร้อมๆกัน แต่ทำต่อเนื่อง สัก 12-15 ปีนั่นหมายความว่า น้อยที่สุดได้รับการปรับพฤติกรรม 1 ปี (เด็ก ม.6) และ มากที่สุด ที่ได้รับการปรับพฤติกรรมคือ 15 ปี (เริ่มตั้งแต่ อนุบาล)

ช้าๆได้พร้าเล่มงาม Slow But Sure

First Posted by นพ.บุญชัย ธีระกาญจน์ at Tuesday, November 06, 2007 at http://plkhealth.blogspot.com/



วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ท่วมซ้ำซาก


เมื่อวันที่ฝนตกหนักที่พิษณุโลก เมื่อเดือนที่ผ่านมา ที่บ้านผู้เขียนซึ่งไม่เคยพบปัญหาน้ำท่วมมาก่อน กลับต้องประสบปัญหาที่ทำให้สามคนพ่อแม่ลูก (ลูกอีกคนไปอยู่ที่อเมริกา) ต้องมาช่วยกัน ตักน้ำ ออกจากบ้าน(หมายถึงการตักจริงๆ) ตักเท่าไรก็ไม่หมด เพราะระดับน้ำนอกบ้านสูงมาก น้ำไหลเข้าตรงช่องประตู จะหวังพึ่งเทศบาลของ อาจารย์หมอสุธี หรือก็อยู่นอกเขตุ ในที่สุดได้ถุงดินที่ซื้อมาปลูกต้นไม้ช่วยอัดประตูไว้ พอทุเลาไปได้ โชคดีที่ฝนหยุดตกในเวลาไม่นาน น้ำก็ค่อยๆระบายไป จึงตักที่เหลือทิ้งได้จนหมด

หลังจากวันนั้นมา ก็เกิดอาการ ขวัญผวา เมื่อมีฝนตกวันใดก็วิตกกังวลว่าจะเกิดน้ำไหลเข้าบ้านอีก ได้คุณ สมชาย พรหมมณี ช่วยจัดการหากระสอบทรายมาให้ 20 ถุง เพื่อเตรียมอุดรูรั่วรอบบ้าน จนบัดนี้ยังไม่เจอฝนตกหนัก ปัญหาที่ตามมาคือ ไม่รู้จะเอากระสอบทรายไปไว้ที่ไหน เต็มไปหมด หนักก็หนัก เฮ้อ...........

วันนี้ บังเอิญไปสังเกตุร่องระบายน้ำซึ่งปกติจะแห้ง ว่า ทำไมมีน้ำขัง พบว่ามีเลนโคลนจำนวนมาก จึงพยายามค่อยๆตักออก(ไม่ใช่น้อย) พบว่าส่วนใหญ่เป็นใบไม้ (และขี้นกพิราบ) แต่น้ำก็ยังไม่ไหล จึงค่อยๆเอาลวดดึงส่วนในลึกๆออกมา ไม่น่าเชื่อว่าได้ถุงพลาสติกมาสัก 5-6 ใบ พอเอาออกหมด น้ำไหลโจ้กกกก

เพิ่งถึงบางอ้อว่า ที่น้ำท่วมบ้านเมื่อเดือนที่แล้ว เป็นเพราะเหตุนี้เอง ถ้าร่องน้ำระบายได้ดี ก็ไม่น่าจะมีปัญหา

พยายามหาทางแก้ตัว ว่าเป็นเพราะใบไม้แห้งจากบ้านข้างๆ เอาใบไม้มาพินิจพิจารณาดู พบว่าส่วนใหญ่เป็นใบไผ่กับใบมะม่วง (ในละแวกนี้ มีแต่บ้านเรานี่หว่าที่ปลูกไว้) ส่วนถุงพลาสติกมันก็ไม่น่ามาจากบ้านอื่น เพราะบ้านเราอยูู่สุดซอย(ตัน) รั้วรอบขอบชิด ปิดทึบทุกด้านเหลือแต่ประตู

สรุปแล้วก็บ้านเราเองนั่นแหละ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของน้ำท่วมบ้านครั้งนี้ เพราะเราไม่ค่อยเก็บกวาดใบไม้แห้ง ไม่กวาดขยะเศษดินเศษผง(รวมทั้งขี้นกพิราบ)ก่อน แต่ใช้วิธีเอาน้ำล้างลงร่องน้ำทีเดียว คิดว่ามันคงค่อยๆไหลไปกับน้ำ ไม่นึกว่ามันจะสะสมจนกระทั่งเกิดปัญหาขึ้น

ซึ่งก็สอดคล้องกับปัญหาใหญ่ของจังหวัด ที่เกิดภาวะน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก สมบูรณ์ ศรีพัฒนาวัฒน์กำลังสำรวจและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม พบว่าคูคลองส่วนใหญ่ เกิดเศษดินเศษต้นไม้ใบหญ้าอุดกั้น ภาวะตื้นเขิน ทำให้น้ำไม่ไหลสะดวก (ท่านบอกว่า มันไม่ Flow) จึงเร่งตั้งงบประมาณแก้ไขปัญหาอย่างเอาจริงเอาจัง

ถึงตอนนี้ ก็เริ่มเข้าใจ อาจารย์หมอสุธี มากขึ้น(นิดหน่อย) ถึงตอนที่เล่าให้ฟังเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมเขตเทศบาล

จะถือว่าบันทึกนี้เป็นการมา สารภาพผิด ก็ได้นะครับ

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Notes on Weblog Gotoknow 3 Nov 2550 21:20]

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ทุกขภาวะ

  
ชาติใด ไร้รัก สมัครสมาน
จะทำการ สิ่งใด ก็ไร้ผล
แม้ชาติ ย่อยยับ อับจน
บุคคล จะสุข อยู่อย่างไร
(บทพระราชนิพนธ์ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖)

ชาติใด ไร้เหตุ ไร้ผล
ผู้คน ล้วนแล้ว คุณไสย
ท่องบ่น เวทย์มนต์ ร่ำไป
อยู่ได้ ก็ไร้ ซึ่งปัญญา 

สุขะ ภาวะ สี่อย่าง
ดีบ้าง ร้ายบ้าง ตามยถา
ทุกข์กาย ทุกข์ใจ พอเยียวยา
ทุกข์สังคม ทุกข์ปัญญา พามืดมน

[โพสต์ครั้งแรกที่ My Idea Gotoknow 01 พฤศจิกายน 2550 20:00]