วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

พระ(พุทธรูป) ท่านเลือกที่อยู่ของท่านเอง(องค์ที่ ๒)




พระพุทธชินราชจำลอง โรงพยาบาลพรหมพิราม

จากการระลึกเรื่องพระพุทธชินราชจำลอง โรงพยาบาลวังทอง จึงคิดว่าควรบันทึกเรื่อง พระพุทธชินราชจำลอง โรงพยาบาลพรหมพิรามไว้ด้วยเลยเป็นการต่อเนื่อง (แม้ห้วงเวลาของการเกิดเหตุการณ์จะห่างกันถึง ๑๒ ปี)


เมื่อผู้เขียนไปรักษาการผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพรหมพิราม เห็นว่ามีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่งตั้งอยู่หลังตึกผู้ป่วยใน รู้สึกว่าแปลกที่พระพุทธรูปประจำโรงพยาบาลต้องไปแอบไว้ด้านหลังโรงพยาบาล อยากย้ายมาไว้ด้านหน้าโรงพยาบาล ได้ปรึกษาเจ้าหน้าที่หลายคน ก็ไม่เห็นด้วย จึงได้แต่รีๆรอๆอยู่ไม่กล้าทำอะไร จนเมื่อใกล้จะหมดภารกิจ คือหาคนมารับหน้าที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้ (พญ. นิภาพร ศรีอุบล) ผู้เขียนอยากทำเป็นกองผ้าป่า ได้ติดต่อ คุณบุญฤทธิ์ แสงนาค นักวิชาการสาธารณสุข ๙ ด้านส่งเสริมพัฒนา ซึ่งใกล้เกษียณให้เป็นผู้ประสาน คุณบุญฤทธิ์ ได้กรุณามอบหมายให้ คุณณฤทธิ์ กันทวรรณ์ นิติกร ดำเนินการ

ในที่สุดได้รับการติดต่อจาก คุณสายพิณ พิศอ่อน เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี ซึ่งทำอยู่งานนิติกรกับคุณณฤทธิ์ ว่า ป้าสุครีพ เนียมสลุด มีเจตจำนงจะบริจาคทั้งองค์พระและศาลาประดิษฐาน ต้องการพบขอรายละเอียด ผู้เขียนจึงได้ไปพบที่บ้าน โดยมีคุณสายพิณ พิศอ่อน คุณณฤทธิ์ กันทวรรณ์ คุณสมชาย พรหมมณี (บ้านป้าสุครีพ อยู่ในซอยเดียวกันกับบ้านคุณสมชาย) ร่วมเดินทางไปด้วย ได้ช่วยกันให้ข้อมูลชี้แจง ป้าสุครีพ จึงเล่าว่าได้ไปดู พระพุทธชินราชจำลอง หน้าตัก ๒๙ นิ้ว ตามที่ผู้เขียนต้องการ มาแล้ว จองไว้เรียบร้อย กลัวคนอื่นจะมาเอาไป อยากให้ผู้เขียนรีบตัดสินใจว่าจะมีเงื่อนไขอะไรหรือไม่ หากป้าต้องการเป็นผู้บริจาคเพียงผู้เดียว เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับหลานๆ

ผู้เขียนได้รีบประสานให้ผู้อำนวยการ คุณหมอนิภาพร มารับเรื่องไปดำเนินการ เวลาผ่านไปโดยผู้เขียนเองก็มิได้ติดตามอีก จนกระทั่งเมื่อมีพิธีฉลององค์พระที่โรงพยาบาลพรหมพิราม ในวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๙ (ทราบภายหลังว่าตรงกับวันเกิดท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่านใหม่ นายแพทย์จักริน สมบูรณ์จันทร์ ) ผู้เขียนบังเอิญลืมสนิท ไม่ได้ไปร่วมงาน แต่ได้ตามไปนมัสการภายหลังเห็นว่า องค์พระเล็กกว่าที่คาดไว้ ถามดูจึงได้คำตอบว่า เป็น พระพุทธชินราชจำลอง หน้าตักกว้าง ๒๕ นิ้ว เนื่องจากแท่นกับศาลาที่สร้าง ไม่เหมาะกับองค์พระ จึงต้องเปลี่ยนจากองค์ที่ป้าสุครีพจองไว้แต่เดิมเป็นองค์ที่เล็กกว่า

ผู้เขียนเชื่อว่า พระพุทธชินราชจำลององค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่หน้าโรงพยาบาลพรหมพิรามนี้ ท่านก็เลือกที่อยู่ของท่านเอง อีกเช่นกัน

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Recall Gotoknow 26 กรกฎาคม 2550 15:21]

วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ขนาดในหลวงยังต้องทรงรอถึง ๒๐ ปี



เมื่อวันพุธที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตาม นายแพทย์สถาพร วงษ์เจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต ๒ (ซึ่งเดินทางมาตรวจราชการที่จังหวัดพิษณุโลก) ไปเยี่ยมชม โครงการเขื่อนแควน้อย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้รับฟังบรรยายสรุปถึงความเป็นมาของเขื่อนแควน้อยว่า


สถานที่ตั้ง เส้นรุ้งที่ ๑๗ องศา ๑๑ ลิปดา เหนือ และเส้นแวงที่ ๑๐๐ องศา ๒๕ ลิปดา ตะวันออก ที่บ้านเขาหินลาด ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ลักษณะของเขื่อน ประกอบด้วยเขื่อน ๓ เขื่อนติดต่อกัน คือ


เขื่อนแควน้อย ลักษณะเป็นเขื่อนหินทิ้งดาดหน้าคอนกรีต สูง ๗๕ เมตร ยาว ๖๘๑ เมตร
เขื่อนสันตะเคียน ลักษณะเป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว สูง ๘๐ เมตร ยาว ๑๒๖๐ เมตร
เขื่อนปิดช่องเขาต่ำ ลักษณะเป็นเขื่อนดิน สูง ๒๓ เมตร ยาว ๖๖๗ เมตร

สามารถเก็บกักน้ำได้ ๗๖๙ ล้านลูกบาศก์เมตร มีข้อมูลที่นำเสนอถึงที่มาของโครงการนี้ว่า

วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด เขื่อนนเรศวร บ้านหาดใหญ่ ตำบลพรหมพิราม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ได้พระราชทานพระราชดำริที่สำคัญเกี่ยวกับโครงการเขื่อนแควน้อย โดยสรุป คือ ควรพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำแควน้อย ในเขต อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก โดยเร่งด่วน

วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ได้พระราชทานพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า...ส่วนที่พิษณุโลกนี่ก็มีน้ำไหลลงมาจากข้าง ๆ อีกสายหนึ่งแควน้อยซึ่งจะต้องทำเพื่อเก็บกักน้ำที่มาจากอำเภอชาติตระการ...

วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ณ พื้นที่ป่าชายเลน แปลงปลูกป่า FPT29 และ 29/3 อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริ ให้นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาความเหมาะสมเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างโครงการเขื่อนแควน้อย อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก

วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๖ คณะรัฐมนตรี โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สนองพระราชดำริอนุมัติเปิดโครงการเขื่อนแควน้อย

วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ กรมชลประทาน ประกาศเปิดโครงการเขื่อนแควน้อย

[ข้อมูลประกอบจากเอกสารนำเสนอของ สำนักงานก่อสร้าง ๒ (โครงการแควน้อย) สำนักโครงการขนาดใหญ่ กรมชลประทาน และ http://irrigation.rid.go.th/rid3/krawnoi.htm]

ระหว่างเดินทางกลับจากพื้นที่สร้างเขื่อน และ ระหว่างการเดินทางในวันรุ่งขึ้น ท่านผู้ตรวจฯ ปรารภกับผู้เขียนหลายครั้งว่า การเยี่ยมชม โครงการเขื่อนแควน้อย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งนี้ ได้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์มาก คือ ขนาดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ และมีกระแสรับสั่ง ให้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแควน้อยโดยเร่งด่วน ยังต้องทรงอดทนรอคอยถึง ๒๐ ปี และ ยังต้องทรงเตือนซ้ำ โครงการจึงจะบังเกิดขึ้น

ท่านผู้ตรวจฯ สอนผู้เขียนว่า แล้วเราเป็นใคร ที่คิดว่าจะสั่งงานคนอื่นให้ทำได้ดังใจ

ดังนั้นต้องตั้งใจ ต้องอดทน โดยไม่ย่อท้อ ในการมอบหมายงานผู้เกี่ยวข้อง จึงจะบังเกิดผลสำเร็จได้



[โพสต์ครั้งแรกที่ Notes on Weblog Gotoknow 23 Jul 2550 17:26]

วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

พระ(พุทธรูป) ท่านเลือกที่อยู่ของท่านเอง

พระพุทธชินราชจำลอง โรงพยาบาลวังทอง


เมื่อได้ดำเนินการทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเปิดโรงพยาบาลวังทอง ในวันพฤหัสบดีที่ ๘ กันยายน ๒๕๓๗ สิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการก็คือการเตรียมสถานที่ให้พร้อม สมพระเกียรติ

เกือบท้ายสุด คือได้ตกลงกันว่าโรงพยาบาลจะสร้างศาลาพระ เพื่อเป็นที่เคารพสักการะของคนไข้และเจ้าหน้าที่ แต่ก็ยังไม่สามารถหาพระพุทธรูปมาประดิษฐานได้ เนื่องจากผู้เขียนซึ่งทำหน้าที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในขณะนั้นได้เสนอเงื่อนไขข้อตั้งใจไว้ว่ารูปแบบของพระพุทธรูปจะต้องเป็น พระพุทธชินราชจำลอง เท่านั้น และการสร้างพระพุทธรูปก็ไม่ใช่เรื่องที่จะดำเนินการได้ง่ายๆ (หากไม่มีสตางค์)

ต่อมาได้มีการประสานไว้ให้ผู้เขียน ไปกราบ ท่านเจ้าคุณพระราชรัตนกวี วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (ปัจจุบัน พระธรรมเสนานุวัตร รองเจ้าคณะภาค 5 เจ้าอาวาส วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร) เพื่อยืมพระพุทธชินราชจำลอง ที่มีผู้มาสร้างไว้ แต่ยังมิได้มารับไป มาชั่วคราวเพื่อให้พร้อมในวันรับเสด็จ ซึ่งก็ได้ความเมตตาจากท่านเจ้าคุณเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อถึงวันกำหนดนัด ผู้เขียนรีบไปดูผู้ป่วยในตึกผู้ป่วยในแต่เช้า เพื่อไปกราบนมัสการท่านเจ้าคุณ ขณะดูคนไข้เจ้าประจำรายหนึ่ง ชื่อ ป้าอารีย์ บุญเจริญ (ค่ายสฤษดิ์เสนา ต.วังนกแอ่น อ.วังทอง จ.พิษณุโลก) ป้าอารีย์เป็นคนไข้โรคหอบหืดที่มารักษาตัวเป็นประจำ จึงสนิทสนมกันพอสมควร ป้าอารีย์ถามว่าหมอ จะรีบไปไหน แล้วจึงขอจับมือหมอ (หมอดูขอจับมือหมอตรวจโรค) จับมือหลับตาสักพักป้าอารีย์บอกว่า ได้แน่ ผู้เขียนจึงตอบไปว่า อ๋อ แน่นอน เพราะประสานไว้แล้ว เพียงแต่ขอไปกราบเรียนท่านเจ้าคุณด้วยตนเองเท่านั้น ไม่มีปัญหาอะไร ป้าอารีย์บอกว่า ไม่ใช่ หมายความว่า ได้พระองค์นี้มาประจำอยู่ที่โรงพยาบาลเลย แน่ๆ ผู้เขียนก็ได้แต่หัวเราะด้วยความไม่เชื่อ เพราะตกลงแค่ไปยืม เมื่อไปกราบท่านเจ้าคุณ ก็เรียนท่านว่า ขอยืมไปจนเสร็จกิจ เมื่อสมเด็จพระเทพฯเสด็จแล้ว ก็จะรีบนำมาคืน แล้วก็นำพระมาที่โรงพยาบาลวังทอง

มีเกร็ดเล็กน้อย พอให้ตื่นเต้นตรงนี้ว่า เมื่อพระมาถึง พี่ประสิทธิ์ พขร. เจ้าของรถปิ้กอัพใหม่คันที่ไปรับพระ ได้แอบเล่นสนุกเขียนเลขท้ายรถ เหน็บไว้ที่องค์พระ เมื่อยกพระประดิษฐานที่แท่นเรียบร้อย ก็ทำทีเป็นตื่นเต้นที่หลวงพ่อให้เลขเด็ด ทุกคนในโรงพยาบาลรู้เรื่องดีจึงไม่มีใครเชื่อ แต่คนงานที่จ้างมาทำสวนจากแถวโป่งปะ ไม่รู้ความจึงพากันนำเลขเด็ด (ถ้าจำไม่ผิดเป็นเลข 29-92 นี่แหละ) ไปแทงหวยใต้ดิน ผลปรากฏว่า ไม่น่าเชื่อ ที่หวยออกตามนั้น ทำเอาคนโรงพยาบาลบ่นเสียดายไปตามๆกัน

หลังจากสมเด็จพระเทพฯ เสด็จกลับ ได้วันเดียว ผู้เขียนสั่งให้เตรียมนำพระพุทธรูปไปคืน และในวันที่ ๙ กันยายน นั่นเอง ได้รับโทรศัพท์แจ้งจากท่านเจ้าคุณว่า ไม่ต้องคืนแล้ว ยกให้โรงพยาบาลเลย เป็นที่ประหลาดใจมาก

ทำให้นึกถึงบทความของ ท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลสันป่าตอง จ.เชียงใหม่ (นพ.พิษณุ รักสกุลกานต์) เรื่องการจัดหาพระประจำโรงพยาบาลสันป่าตอง ที่คุณหมอพิษณุและคณะได้ไปหาบูชาพระพุทธรูปในกรุงเทพฯ หาจนทั่วไม่ถูกใจ ในที่สุดได้พระพุทธรูปที่อยู่ในมุมมืด ซึ่งแม้แต่เจ้าของร้านก็นึกไม่ถึง คุณหมอพิษณุ ได้อ้างอิงคนโบราณว่า พระท่านเลือกที่อยู่ของท่านเอง ซึ่งผู้เขียนรู้สึกประทับใจมาก

จนมาเจอเข้ากับตัวเอง ก็เชื่อว่า พระพุทธชินราชจำลององค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่หน้าโรงพยาบาลวังทองในทุกวันนี้ ท่านก็เลือกที่อยู่ของท่านเองเช่นกัน


[โพสต์ครั้งแรก ที่ Recall Gotoknow 22 ก.ค. 2550 12:12]

วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

อยากจำกลับลืม


บางสิ่งที่อยากจำเรากลับลืม บางสิ่งที่อยากลืมเรากลับจำ
คนเรานี้คิดให้ดีก็น่าขำ อยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ
อดีตที่ผ่านไปไม่กลับมา ช่างเจ็บปวดอุราเรากลับจำ
คนเรานี้คิดให้ดีก็น่าขำ อยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ
ถ้าลืมความหลังได้ ใจจะเปี่ยมสุข ไม่มีความทุกข์คอยปลุกคอยตำ
คนเรานี้คิดให้ดีก็น่าขำ อยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ
ยามอ่านท่องหนังสือเรากลับลืม เรื่องโศกเรื่องเศร้าซึมเรากลับจำ
คนเรานี้คิดให้ดีก็น่าขำ อยากจำกลับลืมอยากลืมกลับจำ
(จาก อยากลืมกลับจำ ของ ฮอทเปปเปอร์)

มีเรื่องจำนวนไม่น้อย ที่เราควรจะจำ แต่ไม่ได้บันทึกไว้ เราจึงลืมเลือนไปเนื่องจากสมองมีหน่วยความจำจำกัด จึงควรต้องรีบบันทึกเอาไว้ ก่อนที่จะลืม

Blog อยากจำกลับลืม (Recall) นี้ จึงเป็นการที่ผู้เขียน พยายามเรียกความจำเก่าๆ ที่เริ่มจะลืมเลือนให้กลับมา และบันทึกไว้ เพื่อการค้นหาในอนาคต (ก่อนที่จะแก่ไปมากกว่านี้ ก่อนที่ Alzheimer จะถามหา)

บางความจำอาจไม่ใช่ความจำของผู้เขียนเอง แต่ก็เป็นเรื่องขององค์กร หรือหน่วยงานที่ผู้เขียนเคยมีความสัมพันธ์ด้วย และเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรจดจำ และยังพอจะสืบค้นจากบุคคลที่ยังมีความจำอยู่ 
(หมายเหตุ  เว้นไว้แต่สิ่งที่  อยากลืมกลับจำ ที่ยิ่งไม่อาจบันทึกให้เจ็บปวดอุรา)

(หมายเหตุ 2 วันนี้เป็นวันครบรอบ 1 ปีที่ผู้เขียนเข้ามาสมัครใช้ Gotoknow จึงขอถือโอกาส ทบทวนความจำด้วยการบันทึก อยากจำกลับลืม หลังจากที่เปิดบล็อกทิ้งไว้นานแล้ว)


[โพสต์ครั้งแรก ที่ Recall Gotoknow 21 กรกฎาคม 2550 21:23]

วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

เมื่อไรจะเลิกถอดรองเท้า


เมื่อไปที่สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลหลายแห่ง แล้วต้อง ถอดรองเท้า เพื่อเข้าไปติดต่อหรือใช้บริการ ทั้งนี้คงเนื่องมาจากเพื่อต้องการลดเวลาในการทำความสะอาดพื้น (ขณะที่เจ้าของสถานที่ มักจะใส่รองเท้าพิเศษของตน)

ผู้เขียนมักจะมีความรู้สึกเสมอว่า เท้าของเราสะอาดกว่าพื้นนั้นมากนัก และมักระแวงว่าอาจสัมผัสเอาเชื้อโรคจากสถานบริการสุขภาพนั้น ๆ ติดกลับบ้านไปด้วย ไม่มากก็น้อย

สถานบริการสุขภาพ ไม่ว่าที่ไหนย่อมมีเชื้อโรคร้ายมากกว่าบ้านเรือนที่อยู่อาศัยทั่วไป และเชื้อโรคเหล่านั้นก็มักจะดุ คือรุนแรงและมีโอกาสดื้อยา มากกว่าเชื้อชนิดเดียวกันทั่ว ๆ ไป

หากเจ้าของสถานบริการสุขภาพ จะได้ทบทวนแนวปฏิบัติเรื่องการทำความสะอาดพื้น กับการถอดรองเท้าเสียใหม่ ก็คงจะดีไม่น้อย

หมายเหตุ
1. กรณีนี้ยกเว้น มิได้หมายถึง เขตปลอดเชื้อ หรือ กึ่งปลอดเชื้อ ที่มีระบบจัดการชัดเจนอยู่แล้ว
2. น่าเป็นห่วงเพิ่มขึ้น เมื่อเป็น ห้องสุขาสาธารณะ ที่บังคับให้ผู้ใช้บริการต้องถอดหรือเปลี่ยนรองเท้าก่อนใช้บริการ

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Gotoknow Blog Office 06 กรกฎาคม 2550 16:23]

คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น


ทำไม คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น

เพราะ เล่นหวย ไม่ต้องใช้ความคิด


แต่เล่นหุ้น ต้องมีกระบวนการคิด การวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจ


จน จึงไม่มีอารมณ์ ไม่มีจิตใจ จะใช้สมองคิดในวิเคราะห์ปัญหา


รวย จึงมีเวลาในการใช้สมองและปัญญา


ต้องแก้ที่จนก่อน เมื่อหายจน จึงจะมีความคิดสร้างสรรตามมา




[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๖ ก.ค. ๒๕๕๐,๑๑:๒๔:๒๖]

[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 13 กรกฎาคม 2550 08:49]



วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ครูโง่เพราะศิษย์


ครูท่านหนึ่ง อธิบายว่า ครูทุกวันนี้โง่หรือฉลาดเพราะลูกศิษย์

ลูกศิษย์ฉลาด เป็นตัวกระตุ้นให้ครูเตรียมการสอนที่ดี

ลูกศิษย์โง่ ครูจึงไม่ต้องเตรียมตัว

ยิ่งแบ่งระดับโรงเรียน แบ่งห้องคิงส์ ห้องควีนส์ ครูที่ได้สอนห้องบ๊วย จึงโง่ตามลูกศิษย์

ห่วงแต่คุณหมอ
วันๆตรวจแต่คนไข้ ปวดหัว ตัวร้อน

รู้อีกที โง่เพราะคนไข้แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๕ ก.ค. ๒๕๕๐,๐๗:๕๕:๐๘]

[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 10 กรกฎาคม 2550 13:38]

สักแต่ว่า...


สักแต่ว่า... มีความหมายตามพจนานุกรมว่า เพียงแต่ว่า...เท่านั้น

ผู้บริหารหลายท่าน บ่นผู้ปฏิบัติงานว่า สักแต่ว่าทำ คือ เพียงแต่ว่าทำ เท่านั้น

ซึ่งน่าจะแปลชัดๆว่า การทำโดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ นั่นเอง

ระวังจะโดนลูกน้องย้อนให้ ที่ต้อง สักแต่ว่าทำ ก็เพราะท่าน สักแต่ว่าสั่ง นั่นแหละเจ้านาย


[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๕ ก.ค. ๒๕๕๐,๐๗:๔๘:๐๓]
[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 06 กรกฎาคม 2550 12:10]