วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ปีใหม่ เหลียวหลังแลหน้า กับ เทพเจนัส



เมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนได้มีโอกาสไปสวัสดีปีใหม่กับ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายพินัย อนันตพงษ์ (ตำแหน่งในขณะนั้น ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร และ รองอธิบดีกรมการปกครอง ตามลำดับ)

ท่านพินัย อนันตพงษ์ ได้รับการยอมรับว่าเป็น พหูสูต (ผู้มีความรู้เพราะได้สดับตรับฟังหรือศึกษาเล่าเรียนมามาก) คนหนึ่ง หากได้มีโอกาสนั่งฟังท่านพูดคุย คงมีหลายท่านที่เคยได้รับฟังมา ช่วยยืนยันได้ว่าไม่ผิดหวัง

ในครั้งที่เข้าไปสวัสดีปีใหม่ปีนั้น ท่านปรารภให้ฟังเกี่ยวกับเรื่อง เทพเจ้าเจนัส (Janus) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเดือนมกราคม (January) ว่า เทพเจ้าเจนัส เป็นเทพเจ้าที่มี 2 หน้า หันไปในทิศตรงข้าม ถือเป็นคติของการเริ่มต้น วันใหม่ เดือนใหม่ ปีใหม่

[ เจนัส(Janus)เทพแห่งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เทพแห่งทวารทางเข้าออก สงคราม และสันติภาพ เป็นผู้อุปถัมภ์การกำเนิดของสิ่งต่างๆ ถึงแม้จะเป็นเทพที่สำคัญที่สุดองค์หนึ่งในบรรดาเทพทั้งปวงของโรมัน แต่ไม่เป็นที่รู้จักของกรีกเลย

นักเทวดาตำนานเห็นว่า เจนัส(Janus)เป็นโอรสของอพอลโล(Apollo) ถึงแม้จะถือกำเนิดในเทสซารี แต่ช่วงแรกๆ ของชีวิตทรงมาอยู่ในอิตาลี และทรงก่อตั้งเมืองในแม่น้ำไทเบอร์ขึ้น ซึ่งพระองค์ทรงตั้งนามเมืองว่า เจนิคิวลัม(Janiculum) ที่เมืองนี้ พระองค์ได้ร่วมกับเทพแซเทิร์น(Saturn)ผู้ถูกเนรเทศโดยร่วมบัลลังก์กัน ทั้งสองนี้ได้ร่วมกันทำให้ผูคนในอิตาลีที่ป่าเถื่อนนั้นมีอารยรธรรมขึ้น แล้วทรงอวยพรให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง จนกระทั่งยุคสมัยที่ท่านครองอยู่มีกเรียกว่า"ยุคทอง"

เจนัส(Janus)โดยทั่วไปแล้วจะปรากฏพระองค์มีสองพักตร์ หันไปในทิศทางตรงข้ามกัน เหตุด้วยพระองค์ทรงคุ้นเคยกับอดีตและอนาคตพอๆกับปัจจุบัน และเพราะถือว่าพระองค์เป็นเครื่องหมายแห่งตะวัน ที่เกิดทิวาวารเมื่อเริ่มรุ่งราง และปิดวันวารเมื่อยามโรยร่วง

บางรูปปั้นปรากฏพระองค์ด้วยพรพักตร์ที่มีเกศสและมัสสุขาว บางรูปปั้นก็ปรากฏในรูปที่เป็นชายหนุ่ม ขณะที่บางรูปปั้นสร้างให้ทรงมีสามเศียรหรือสี่เศียร
 ]
ปีใหม่ปีนี้ ผู้เขียนอยากเชิญชวนท่านที่บังเอิญมาพบเจอ NOW ให้ทบทวนตามคติความเชื่อดังกล่าว มองไปทางหลังที่ผ่านมา มีสิ่งใดที่ทำดี ควรนำมาพัฒนาต่อไป มีสิ่งใดที่ทำไม่ดี ควรนำมาแก้ไข มองไปข้างหน้า เพื่อวางแผนชีวิตให้ทำแต่สิ่งดีๆ รู้จัก เหลียวหลัง แลหน้า แล้วท่านจะมีแต่ความสำเร็จในชีวิต
สวัสดีปีใหม่ 2551 ครับ


[โพสต์ครั้งแรก ที่ Notes on Weblog Gotoknow 31 Dec 2550 21:34]

วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2550

นี่ก็ สุดโต่ง


เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตาม นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นายแพทย์สถาพร วงษ์เจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต ๒ ไปเฝ้ารับเสด็จ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ บ้านน้ำต๊ะ บ้านน้ำลี อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์

ระหว่างเดินทาง ท่านปลัดกระทรวงได้แนะนำแนวคิดหลายเรื่อง อาทิ เรื่องการปิดไฟเพื่อประหยัดพลังงานว่า อาชญากรรม และ คดีหลายๆคดีที่เกิดขึ้น(ทั้งการโจรกรรม และ คดีทางเพศ / ผู้เขียนตีความตามความเข้าใจของตนเอง) เกิดขึ้นเพราะ ความมืด มืดจากการไม่ยอมเปิดไฟ หรือปิดไฟ เพื่อการประหยัดพลังงาน (อุบัติเหตุทางการจราจร ก็เช่นกัน / ผู้เขียนนึกต่อในใจ) ท่านปลัดแนะนำว่า โรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุข ควรติดแสงสว่างให้เพียงพอเพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน

ผู้เขียน เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะรู้สึกหงุดหงิดมานานกับการประหยัดของหลายหน่วยงาน

เห็นว่า นอกจากความ สุดโต่ง ที่ท่านผู้ตรวจฯ พูดถึงเมื่อตอนเช้าแล้ว นี่ก็ สุดโต่งเหมือนกัน 


[โพสต์ครั้งแรก ที่ Notes on Weblog Gotoknow 3 Dec 2550 17:36]

วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

สุดโต่ง


เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตาม นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นายแพทย์สถาพร วงษ์เจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต ๒ ไปเฝ้ารับเสด็จ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ บ้านน้ำต๊ะ บ้านน้ำลี อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์

ท่านผู้ตรวจสถาพร ได้ปรารภถึง วิธีคิด ในการบริการ ที่พูดกันว่า คนไข้เป็นศูนย์กลาง (Patient Oriented) ประชาชนเป็นศูนย์กลาง หรืออะไรอื่นๆ ที่เป็นศูนย์กลาง ว่า อาจไม่เหมาะสม เพราะทำให้ลืมคิดถึงบุคคลอื่นๆที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น เมื่อเรายึดเอาผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เราก็คำนึงแต่ความพึงพอใจของผู้ป่วย โดยไม่สนใจว่าบรรดา แพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่อื่น จะมีผลกระทบใดบ้าง เรามุ่งเน้นแต่ให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์สูงสุด การคิดเช่นนี้เมื่อท่าน(ผู้ตรวจฯ)เป็นหนุ่ม ก็ดูเหมือนเป็นความคิดที่ดูดี แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ทบทวนแล้วน่าจะมีอะไรที่คลาดเคลื่อนไป

ผู้เขียนเรียนถามท่านผู้ตรวจฯ ว่า หมายความว่า แนวความคิดเหล่านั้นเป็นแนวคิดที่ สุดโต่ง ใช่หรือไม่ ท่านตอบว่า ใช่ สุดโต่ง

นี่อาจเป็นคำตอบของพวกเราผู้ให้บริการ ว่าเราควรจะทบทวนระบบการให้บริการอย่างไร จึงจะเป็น ทางสายกลาง ที่เหมาะสมกับความเป็นจริงของสังคม

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Notes on Weblog Gotoknow 20 Nov 2550 10:55]

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ไม่ (ค่อย) เฮฮาริมสวน(ชมน่าน)


การทำ KM ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก ดูเหมือนจะเครียดๆยังไงพิกล ผมเองนั้นอยากให้เป็นแบบ เฮฮาศาสตร์ (เฮฮาเกินไปจนไม่มี ศาสตร์ รึเปล่า)

เอาจริงเข้ารู้สึกว่าจะไม่ค่อย เฮฮา สักเท่าไร (รึว่าไม่เฮฮาเอาซะเลย) อาจเป็นเพราะเราเคร่งเครียดกันเกินไป ที่ไปติดกับคำว่า การจัดการความรู้ และการต้องทำให้เป็น จังหวัด IT-KM

ความจริงก็งงๆอยู่กับคำว่า IT-KM ว่ามันคืออะไร

เมื่อวานนี้นั่งคุยกับ คุณมนลัด & คุณฉัตรชัยกานต์ (ไม่รู้ว่าทำไมสองคนนี้ต้องไปคู่กันเสมอ เจอเตียวก็ต้องเจอฉัตร เจอฉัตรก็ต้องเจอเตียว มันไงๆชอบกล) คุยกันจนเพลินไปเกือบหกโมงเย็น ได้ข้อสรุปมาว่า ไม่ว่านโยบายท่านนายแพทย์สาธารณสุขจะเป็นอย่างไร เราก็น่าจะคิดภารกิจได้ 4 รูปแบบ คือ

1. IT
2. KM
3. KM เรื่อง IT
4. IT ที่จะนำมาใช้ในงาน KM

แล้วก็มุ่งทำไปใน 4 อย่างนี้ ซึ่งมันก็ครอบคลุมตั้งแต่ หัวจรดหัว (แม่เท้า) อย่างไม่น่าห่วง

ที่เป็นปัญหาคือ ถ้าเราไปกำหนดกฏเกณฑ์ให้มันกลายเป็น ไม่อิสระ ทั้งในกระบวนการ และ แนวความคิด มันก็จะไม่ค่อย เฮฮา

ว่าแต่ เฮฮา มันแปลว่าอะไร

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Notes on Weblog Gotoknow 15 Nov 2550 21:19]

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เฮฮาริมสวน(ชมน่าน)


ด้วยความเครียดจึงคิดออกได้ว่าควรจะมี blog นี้ สมกับที่ชอบบอกกับใครๆให้ทำงานด้วยความเครียด

เมื่อเครียดแล้วมันจะเกี่ยวกับเฮฮา(ศาสตร์)ได้ยังไง ก็เพราะมันเนื่องมาจาก เฮฮาศาสตร์สองแควของอาจารย์หมอสุธีนั่นแหละ เราจึงหลวมตัวไปรับจัดประชุมครั้งที่ 2 ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก ในวันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2550 นัดหมายอย่างดี ปฏิเสธการประชุมอื่นไปหลายรายการ เพื่อวันนี้(จริงๆ)

พอเย์นวันที่ 7 ก็รู้ว่าต้อง เบี้ยวซะแล้ว เพราะได้รับมอบหมายจากเจ้านายให้ไปประชุม ที่กทม.ด้วยเรื่อง ไข้หลี ไม่ไปก็ไม่ได้เพราะมีข้อสอบข้อใหญ่ในการสอบเลื่อนระดับในวันที่ 13 ที่จะถึงนี้

พยายามโทรหา หัวโจกใหญ่ ก็โทรไม่ติด (ได้ข่าวว่าไปกินเกาเหลานอนเกาหลังที่เกาหลี) mail ไปก็ไม่ได้รับคำตอบ จนจะขึ้นเครื่องตอนสามทุ่มกว่าๆ ได้รับ sms ว่าเบอร์ที่พยานามโทรมาทั้งวันสามารถโทรได้แล้ว ก็ลองโทร คราวนี้ติด แต่ท่านไม่รับ เอจะเอาไงดี จะส่งข้อความผ่านทาง blog ไหนๆก็ไม่ค่อยได้ติดตามสถานการณ์ 

เปิด blog ใหม่สำหรับบ่นหน่อยละกัน เปิดเสร็จก็เรียกขึ้นเครื่องพอดี มาถึงโรงแรมถึงมาทรมานกด keyboard เครื่อง pocket PC อยู่นี่ไง

เพียงเพื่ออยากจะบอกชาวเฮาศาสตร์สองแคว ว่า ยังนัดเหมือนเดิม ไปพบกันที่ สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดพิษณุโลก เวลาใกล้ๆเที่ยง ที่ห้องประชุมชั้น 3 ห้องไหนไปชะโงกหาดูเอาเอง ต้องขออภัยจริงๆที่อยู่ต้อนรับไม่ได้ แต่ก็หวังว่าทีมงานคงไม่ปล่อยปะละเลยแขกทั้งหลาย (อย่าให้อายเทศบาลล่ะ)

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Notes on Weblog Gotoknow 8 Nov 2550 23:22]

วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

Children & Development

จากแนวคิดของ Kelman ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ

ผมยังมีความเชื่อว่า พฤติกรรมไม่ใช่สันดาน ( http://buabangbai.blogspot.com/2006/12/blog-post.html )

พฤติกรรมอาจเปลี่ยนไปในทางที่เหมาะสมได้ด้วย

1. การบังคับ

2. การเลียนแบบ

3. การเรียนรู้

ผมจึงยังคงเสนอวิธีการแก้ปัญหาด้านสุขภาพ ด้วยการ ปรับแก้พฤติกรรมตั้งแต่เด็ก ด้วยรูปแบบ การดำเนินการกับเด็กกลุ่มเดิมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะใช้รูปแบบผสมผสาน ทั้งการจัดค่าย การเรียนการสอน การผสมผสานกระบวนการ บังคับ เลียนแบบ เรียนรู้ ผ่านผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ครู โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สังคม ฯลฯ

แต่จะต้องทำอะไร ทำอย่างไร คงต้องไปใช้เวลา ระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อาจมองว่าเป็นการทดลองก็ได้ เพราะเราไม่สามารถทำกับเด็กทั้งหมดได้ แต่ทำได้เท่าไร ก็ดีเท่านั้น ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แล้วก็เจอะเจอปัญหาเดิมๆ ทั้งปีทั้งชาติ ด้วยคำพูดที่ว่า คนไทยก็เป็นอย่างนี้แหละ

ผมเสนอที่จะปรับเปลี่ยนตั้งแต่ อนุบาล ประถม มัธยม ต่อเนื่องกันไปการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างน้อยที่สุด ควรเริ่มที่ ป.1 ต่อเนื่องไปจนถึง ม.6

แต่เนื่องจากระบบโรงเรียนในประเทศเรา แยกชั้น อนุบาล ประถมศึกษา และ มัธยมศึกษา ออกจากกันระบบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวจึงอาจติดตามได้ยาก ยกเว้น การทดลองทำในพื้นที่ห่างไกล ที่มีโรงเรียนประถมศึกษาขยายโอกาส ก็อาจสามารถติดตามได้

หากไม่เช่นนั้น ก็อาจต้องเริ่มในระดับ ม.1 เพื่อสามารถต่อเนื่อง ไปจนถึง ม.6

หรืออันที่จริง เราสามารถปรับทุกระดับชั้นไปพร้อมๆกัน แต่ทำต่อเนื่อง สัก 12-15 ปีนั่นหมายความว่า น้อยที่สุดได้รับการปรับพฤติกรรม 1 ปี (เด็ก ม.6) และ มากที่สุด ที่ได้รับการปรับพฤติกรรมคือ 15 ปี (เริ่มตั้งแต่ อนุบาล)

ช้าๆได้พร้าเล่มงาม Slow But Sure

First Posted by นพ.บุญชัย ธีระกาญจน์ at Tuesday, November 06, 2007 at http://plkhealth.blogspot.com/



วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ท่วมซ้ำซาก


เมื่อวันที่ฝนตกหนักที่พิษณุโลก เมื่อเดือนที่ผ่านมา ที่บ้านผู้เขียนซึ่งไม่เคยพบปัญหาน้ำท่วมมาก่อน กลับต้องประสบปัญหาที่ทำให้สามคนพ่อแม่ลูก (ลูกอีกคนไปอยู่ที่อเมริกา) ต้องมาช่วยกัน ตักน้ำ ออกจากบ้าน(หมายถึงการตักจริงๆ) ตักเท่าไรก็ไม่หมด เพราะระดับน้ำนอกบ้านสูงมาก น้ำไหลเข้าตรงช่องประตู จะหวังพึ่งเทศบาลของ อาจารย์หมอสุธี หรือก็อยู่นอกเขตุ ในที่สุดได้ถุงดินที่ซื้อมาปลูกต้นไม้ช่วยอัดประตูไว้ พอทุเลาไปได้ โชคดีที่ฝนหยุดตกในเวลาไม่นาน น้ำก็ค่อยๆระบายไป จึงตักที่เหลือทิ้งได้จนหมด

หลังจากวันนั้นมา ก็เกิดอาการ ขวัญผวา เมื่อมีฝนตกวันใดก็วิตกกังวลว่าจะเกิดน้ำไหลเข้าบ้านอีก ได้คุณ สมชาย พรหมมณี ช่วยจัดการหากระสอบทรายมาให้ 20 ถุง เพื่อเตรียมอุดรูรั่วรอบบ้าน จนบัดนี้ยังไม่เจอฝนตกหนัก ปัญหาที่ตามมาคือ ไม่รู้จะเอากระสอบทรายไปไว้ที่ไหน เต็มไปหมด หนักก็หนัก เฮ้อ...........

วันนี้ บังเอิญไปสังเกตุร่องระบายน้ำซึ่งปกติจะแห้ง ว่า ทำไมมีน้ำขัง พบว่ามีเลนโคลนจำนวนมาก จึงพยายามค่อยๆตักออก(ไม่ใช่น้อย) พบว่าส่วนใหญ่เป็นใบไม้ (และขี้นกพิราบ) แต่น้ำก็ยังไม่ไหล จึงค่อยๆเอาลวดดึงส่วนในลึกๆออกมา ไม่น่าเชื่อว่าได้ถุงพลาสติกมาสัก 5-6 ใบ พอเอาออกหมด น้ำไหลโจ้กกกก

เพิ่งถึงบางอ้อว่า ที่น้ำท่วมบ้านเมื่อเดือนที่แล้ว เป็นเพราะเหตุนี้เอง ถ้าร่องน้ำระบายได้ดี ก็ไม่น่าจะมีปัญหา

พยายามหาทางแก้ตัว ว่าเป็นเพราะใบไม้แห้งจากบ้านข้างๆ เอาใบไม้มาพินิจพิจารณาดู พบว่าส่วนใหญ่เป็นใบไผ่กับใบมะม่วง (ในละแวกนี้ มีแต่บ้านเรานี่หว่าที่ปลูกไว้) ส่วนถุงพลาสติกมันก็ไม่น่ามาจากบ้านอื่น เพราะบ้านเราอยูู่สุดซอย(ตัน) รั้วรอบขอบชิด ปิดทึบทุกด้านเหลือแต่ประตู

สรุปแล้วก็บ้านเราเองนั่นแหละ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของน้ำท่วมบ้านครั้งนี้ เพราะเราไม่ค่อยเก็บกวาดใบไม้แห้ง ไม่กวาดขยะเศษดินเศษผง(รวมทั้งขี้นกพิราบ)ก่อน แต่ใช้วิธีเอาน้ำล้างลงร่องน้ำทีเดียว คิดว่ามันคงค่อยๆไหลไปกับน้ำ ไม่นึกว่ามันจะสะสมจนกระทั่งเกิดปัญหาขึ้น

ซึ่งก็สอดคล้องกับปัญหาใหญ่ของจังหวัด ที่เกิดภาวะน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก สมบูรณ์ ศรีพัฒนาวัฒน์กำลังสำรวจและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม พบว่าคูคลองส่วนใหญ่ เกิดเศษดินเศษต้นไม้ใบหญ้าอุดกั้น ภาวะตื้นเขิน ทำให้น้ำไม่ไหลสะดวก (ท่านบอกว่า มันไม่ Flow) จึงเร่งตั้งงบประมาณแก้ไขปัญหาอย่างเอาจริงเอาจัง

ถึงตอนนี้ ก็เริ่มเข้าใจ อาจารย์หมอสุธี มากขึ้น(นิดหน่อย) ถึงตอนที่เล่าให้ฟังเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมเขตเทศบาล

จะถือว่าบันทึกนี้เป็นการมา สารภาพผิด ก็ได้นะครับ

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Notes on Weblog Gotoknow 3 Nov 2550 21:20]

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ทุกขภาวะ

  
ชาติใด ไร้รัก สมัครสมาน
จะทำการ สิ่งใด ก็ไร้ผล
แม้ชาติ ย่อยยับ อับจน
บุคคล จะสุข อยู่อย่างไร
(บทพระราชนิพนธ์ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖)

ชาติใด ไร้เหตุ ไร้ผล
ผู้คน ล้วนแล้ว คุณไสย
ท่องบ่น เวทย์มนต์ ร่ำไป
อยู่ได้ ก็ไร้ ซึ่งปัญญา 

สุขะ ภาวะ สี่อย่าง
ดีบ้าง ร้ายบ้าง ตามยถา
ทุกข์กาย ทุกข์ใจ พอเยียวยา
ทุกข์สังคม ทุกข์ปัญญา พามืดมน

[โพสต์ครั้งแรกที่ My Idea Gotoknow 01 พฤศจิกายน 2550 20:00]

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2550

อุจจาระร่วง คลอรีน ออกกำลังกาย ( เกี่ยวกันยังไง ? )


เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๐ ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตาม นายแพทย์สถาพร วงษ์เจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต ๒ ไปประชุมติดตามงานที่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

เมื่อไปถึงแต่เช้า จึงมีโอกาสได้ไปตลาดสดที่มีชื่อว่า ตลาดพาเจริญ เป็นตลาดที่ใหญ่มาก ที่ไม่น่าเชื่อก็คือมีอาหารสดประเภท อาหารทะเล มากมาย

ทราบต่อมาภายหลังจาก นายแพทย์ปัจจุบัน เหมหงษา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก ว่า น้ำแข็งที่ใช้แช่อาหารทะเลสดส่วนใหญ่ไม่ได้ผลิตในอำเภอแม่สอดหรือจังหวัดตาก หากแต่ใส่รถบรรทุกมาจากสมุทรสาคร (หรือสมุทรสงคราม ?) เพื่อมาขนอาหารทะเลสดจากแม่สอดไปส่งออกนอกอีกทีหนึ่ง อาหารทะเลสดนำเข้ามาจากชายฝั่งอันดามันประเทศเมียนมาร์ ซึ่งห่างจากแม่สอดเพียงประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร เป็นสัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่พิเศษ รสชาติดี ราคาไม่แพง

ต่อมาได้ไปเยียมชม ศูนย์อพยพแม่หละ อำเภอท่าสองยาง เป็นศูนย์อพยพที่มีประชากรต่างด้าวอาศัยอยู่ประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน(มากกว่าอำเภอบางอำเภอของพิษณุโลกเสียอีก) ในศูนย์อพยพมีการอนามัยสิ่งแวดล้อมไม่สู้จะดีนัก(แปลว่าไม่ดีนั่นแหละ) ส้วมกับบ่อน้ำใช้อยู่ใกล้ชิดกันมาก เมื่อมีโรคอุจจาระร่วงระบาด เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้เข้าไปดำเนินการควบคุมโรค แนะนำให้เติม คลอรีนฆ่าเชื้อโรคก่อนนำมาใช้

ท่านผู้ตรวจฯ นายแพทย์สถาพร ถามว่า ในฐานะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเราจะแนะนำชาวบ้านอย่างไรว่าจะให้เติมคลอรีนเท่าไรจึงจะเพียงพอ เพราะชาวบ้านไม่เข้าใจเรื่อง ppm (parts per million) ถึงเข้าใจก็คงยากที่จะปฏิบัติได้ เมื่อเห็นท่าทางพวกเราจะอึ้งไปพักใหญ่ ท่านผู้ตรวจฯจึงเล่าให้ฟังว่า เมื่อสมัย นายชวน หลีกภัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เคยตั้งคำถามนี้กับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต้องใช้เวลากันพอสมควรจึงได้คำตอบว่า ให้ ดม ดู หากเริ่มมีกลิ่นฉุนของคลอรีนในน้ำ ก็แสดงว่าเพียงพอที่จะฆ่าเชื้อโรคได้ ท่านผู้ตรวจฯ สอนว่า การทำงานกับชาวบ้านต้องสามารถสื่อให้ชาวบ้านปฏิบัติได้จริง ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ได้ผลตามที่ต้องการ

นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก หันมาตั้งคำถามกับผู้เขียนว่า แล้วการ วิ่งออกกำลังกาย กับพรรคพวก จะทราบได้อย่างไรว่า หัวใจกำลังทำงานพอดีๆ เพราะการนับจังหวะเต้นของชีพจร ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆสำหรับชาวบ้านเหมือนกัน เมื่อเห็นว่าผู้เขียนทำท่าจะมึนงงไปใหญ่โต คุณหมอพิเชฐจึงรีบเฉลยว่า เมื่อหยุดพูดคุยกัน แสดงว่ากำลังดี นี่ก็น่าจะเป็นอีกตัวอย่างในการสื่อกับชาวบ้านเพื่อหวังผล(แต่ไม่รู้ว่า คนชอบวิ่ง จะเห็นด้วยหรือเปล่า)


อุจจาระร่วง คลอรีน ออกกำลังกาย จึงเกี่ยวกันยังงี้แล

หมายเหตุ (เพิ่มเติมเมื่อ 22 กรกฎาคม 2556)
คุณอุ้มอารี บุญพาเกิด โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ บอกว่า ให้วิ่งจน ร้องเพลงไม่เพราะ(ร้องเพลงไม่เป็นเพลง)

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Notes on Weblog Gotoknow 25 Oct 2550 09:16]

วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

พระ(พุทธรูป) ท่านเลือกที่อยู่ของท่านเอง(องค์ที่ ๒)




พระพุทธชินราชจำลอง โรงพยาบาลพรหมพิราม

จากการระลึกเรื่องพระพุทธชินราชจำลอง โรงพยาบาลวังทอง จึงคิดว่าควรบันทึกเรื่อง พระพุทธชินราชจำลอง โรงพยาบาลพรหมพิรามไว้ด้วยเลยเป็นการต่อเนื่อง (แม้ห้วงเวลาของการเกิดเหตุการณ์จะห่างกันถึง ๑๒ ปี)


เมื่อผู้เขียนไปรักษาการผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพรหมพิราม เห็นว่ามีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่งตั้งอยู่หลังตึกผู้ป่วยใน รู้สึกว่าแปลกที่พระพุทธรูปประจำโรงพยาบาลต้องไปแอบไว้ด้านหลังโรงพยาบาล อยากย้ายมาไว้ด้านหน้าโรงพยาบาล ได้ปรึกษาเจ้าหน้าที่หลายคน ก็ไม่เห็นด้วย จึงได้แต่รีๆรอๆอยู่ไม่กล้าทำอะไร จนเมื่อใกล้จะหมดภารกิจ คือหาคนมารับหน้าที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้ (พญ. นิภาพร ศรีอุบล) ผู้เขียนอยากทำเป็นกองผ้าป่า ได้ติดต่อ คุณบุญฤทธิ์ แสงนาค นักวิชาการสาธารณสุข ๙ ด้านส่งเสริมพัฒนา ซึ่งใกล้เกษียณให้เป็นผู้ประสาน คุณบุญฤทธิ์ ได้กรุณามอบหมายให้ คุณณฤทธิ์ กันทวรรณ์ นิติกร ดำเนินการ

ในที่สุดได้รับการติดต่อจาก คุณสายพิณ พิศอ่อน เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี ซึ่งทำอยู่งานนิติกรกับคุณณฤทธิ์ ว่า ป้าสุครีพ เนียมสลุด มีเจตจำนงจะบริจาคทั้งองค์พระและศาลาประดิษฐาน ต้องการพบขอรายละเอียด ผู้เขียนจึงได้ไปพบที่บ้าน โดยมีคุณสายพิณ พิศอ่อน คุณณฤทธิ์ กันทวรรณ์ คุณสมชาย พรหมมณี (บ้านป้าสุครีพ อยู่ในซอยเดียวกันกับบ้านคุณสมชาย) ร่วมเดินทางไปด้วย ได้ช่วยกันให้ข้อมูลชี้แจง ป้าสุครีพ จึงเล่าว่าได้ไปดู พระพุทธชินราชจำลอง หน้าตัก ๒๙ นิ้ว ตามที่ผู้เขียนต้องการ มาแล้ว จองไว้เรียบร้อย กลัวคนอื่นจะมาเอาไป อยากให้ผู้เขียนรีบตัดสินใจว่าจะมีเงื่อนไขอะไรหรือไม่ หากป้าต้องการเป็นผู้บริจาคเพียงผู้เดียว เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับหลานๆ

ผู้เขียนได้รีบประสานให้ผู้อำนวยการ คุณหมอนิภาพร มารับเรื่องไปดำเนินการ เวลาผ่านไปโดยผู้เขียนเองก็มิได้ติดตามอีก จนกระทั่งเมื่อมีพิธีฉลององค์พระที่โรงพยาบาลพรหมพิราม ในวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๙ (ทราบภายหลังว่าตรงกับวันเกิดท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่านใหม่ นายแพทย์จักริน สมบูรณ์จันทร์ ) ผู้เขียนบังเอิญลืมสนิท ไม่ได้ไปร่วมงาน แต่ได้ตามไปนมัสการภายหลังเห็นว่า องค์พระเล็กกว่าที่คาดไว้ ถามดูจึงได้คำตอบว่า เป็น พระพุทธชินราชจำลอง หน้าตักกว้าง ๒๕ นิ้ว เนื่องจากแท่นกับศาลาที่สร้าง ไม่เหมาะกับองค์พระ จึงต้องเปลี่ยนจากองค์ที่ป้าสุครีพจองไว้แต่เดิมเป็นองค์ที่เล็กกว่า

ผู้เขียนเชื่อว่า พระพุทธชินราชจำลององค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่หน้าโรงพยาบาลพรหมพิรามนี้ ท่านก็เลือกที่อยู่ของท่านเอง อีกเช่นกัน

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Recall Gotoknow 26 กรกฎาคม 2550 15:21]

วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ขนาดในหลวงยังต้องทรงรอถึง ๒๐ ปี



เมื่อวันพุธที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตาม นายแพทย์สถาพร วงษ์เจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต ๒ (ซึ่งเดินทางมาตรวจราชการที่จังหวัดพิษณุโลก) ไปเยี่ยมชม โครงการเขื่อนแควน้อย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้รับฟังบรรยายสรุปถึงความเป็นมาของเขื่อนแควน้อยว่า


สถานที่ตั้ง เส้นรุ้งที่ ๑๗ องศา ๑๑ ลิปดา เหนือ และเส้นแวงที่ ๑๐๐ องศา ๒๕ ลิปดา ตะวันออก ที่บ้านเขาหินลาด ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ลักษณะของเขื่อน ประกอบด้วยเขื่อน ๓ เขื่อนติดต่อกัน คือ


เขื่อนแควน้อย ลักษณะเป็นเขื่อนหินทิ้งดาดหน้าคอนกรีต สูง ๗๕ เมตร ยาว ๖๘๑ เมตร
เขื่อนสันตะเคียน ลักษณะเป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว สูง ๘๐ เมตร ยาว ๑๒๖๐ เมตร
เขื่อนปิดช่องเขาต่ำ ลักษณะเป็นเขื่อนดิน สูง ๒๓ เมตร ยาว ๖๖๗ เมตร

สามารถเก็บกักน้ำได้ ๗๖๙ ล้านลูกบาศก์เมตร มีข้อมูลที่นำเสนอถึงที่มาของโครงการนี้ว่า

วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด เขื่อนนเรศวร บ้านหาดใหญ่ ตำบลพรหมพิราม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ได้พระราชทานพระราชดำริที่สำคัญเกี่ยวกับโครงการเขื่อนแควน้อย โดยสรุป คือ ควรพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำแควน้อย ในเขต อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก โดยเร่งด่วน

วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ได้พระราชทานพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า...ส่วนที่พิษณุโลกนี่ก็มีน้ำไหลลงมาจากข้าง ๆ อีกสายหนึ่งแควน้อยซึ่งจะต้องทำเพื่อเก็บกักน้ำที่มาจากอำเภอชาติตระการ...

วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ณ พื้นที่ป่าชายเลน แปลงปลูกป่า FPT29 และ 29/3 อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริ ให้นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาความเหมาะสมเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างโครงการเขื่อนแควน้อย อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก

วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๖ คณะรัฐมนตรี โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สนองพระราชดำริอนุมัติเปิดโครงการเขื่อนแควน้อย

วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ กรมชลประทาน ประกาศเปิดโครงการเขื่อนแควน้อย

[ข้อมูลประกอบจากเอกสารนำเสนอของ สำนักงานก่อสร้าง ๒ (โครงการแควน้อย) สำนักโครงการขนาดใหญ่ กรมชลประทาน และ http://irrigation.rid.go.th/rid3/krawnoi.htm]

ระหว่างเดินทางกลับจากพื้นที่สร้างเขื่อน และ ระหว่างการเดินทางในวันรุ่งขึ้น ท่านผู้ตรวจฯ ปรารภกับผู้เขียนหลายครั้งว่า การเยี่ยมชม โครงการเขื่อนแควน้อย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งนี้ ได้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์มาก คือ ขนาดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ และมีกระแสรับสั่ง ให้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแควน้อยโดยเร่งด่วน ยังต้องทรงอดทนรอคอยถึง ๒๐ ปี และ ยังต้องทรงเตือนซ้ำ โครงการจึงจะบังเกิดขึ้น

ท่านผู้ตรวจฯ สอนผู้เขียนว่า แล้วเราเป็นใคร ที่คิดว่าจะสั่งงานคนอื่นให้ทำได้ดังใจ

ดังนั้นต้องตั้งใจ ต้องอดทน โดยไม่ย่อท้อ ในการมอบหมายงานผู้เกี่ยวข้อง จึงจะบังเกิดผลสำเร็จได้



[โพสต์ครั้งแรกที่ Notes on Weblog Gotoknow 23 Jul 2550 17:26]

วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

พระ(พุทธรูป) ท่านเลือกที่อยู่ของท่านเอง

พระพุทธชินราชจำลอง โรงพยาบาลวังทอง


เมื่อได้ดำเนินการทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเปิดโรงพยาบาลวังทอง ในวันพฤหัสบดีที่ ๘ กันยายน ๒๕๓๗ สิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการก็คือการเตรียมสถานที่ให้พร้อม สมพระเกียรติ

เกือบท้ายสุด คือได้ตกลงกันว่าโรงพยาบาลจะสร้างศาลาพระ เพื่อเป็นที่เคารพสักการะของคนไข้และเจ้าหน้าที่ แต่ก็ยังไม่สามารถหาพระพุทธรูปมาประดิษฐานได้ เนื่องจากผู้เขียนซึ่งทำหน้าที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในขณะนั้นได้เสนอเงื่อนไขข้อตั้งใจไว้ว่ารูปแบบของพระพุทธรูปจะต้องเป็น พระพุทธชินราชจำลอง เท่านั้น และการสร้างพระพุทธรูปก็ไม่ใช่เรื่องที่จะดำเนินการได้ง่ายๆ (หากไม่มีสตางค์)

ต่อมาได้มีการประสานไว้ให้ผู้เขียน ไปกราบ ท่านเจ้าคุณพระราชรัตนกวี วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (ปัจจุบัน พระธรรมเสนานุวัตร รองเจ้าคณะภาค 5 เจ้าอาวาส วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร) เพื่อยืมพระพุทธชินราชจำลอง ที่มีผู้มาสร้างไว้ แต่ยังมิได้มารับไป มาชั่วคราวเพื่อให้พร้อมในวันรับเสด็จ ซึ่งก็ได้ความเมตตาจากท่านเจ้าคุณเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อถึงวันกำหนดนัด ผู้เขียนรีบไปดูผู้ป่วยในตึกผู้ป่วยในแต่เช้า เพื่อไปกราบนมัสการท่านเจ้าคุณ ขณะดูคนไข้เจ้าประจำรายหนึ่ง ชื่อ ป้าอารีย์ บุญเจริญ (ค่ายสฤษดิ์เสนา ต.วังนกแอ่น อ.วังทอง จ.พิษณุโลก) ป้าอารีย์เป็นคนไข้โรคหอบหืดที่มารักษาตัวเป็นประจำ จึงสนิทสนมกันพอสมควร ป้าอารีย์ถามว่าหมอ จะรีบไปไหน แล้วจึงขอจับมือหมอ (หมอดูขอจับมือหมอตรวจโรค) จับมือหลับตาสักพักป้าอารีย์บอกว่า ได้แน่ ผู้เขียนจึงตอบไปว่า อ๋อ แน่นอน เพราะประสานไว้แล้ว เพียงแต่ขอไปกราบเรียนท่านเจ้าคุณด้วยตนเองเท่านั้น ไม่มีปัญหาอะไร ป้าอารีย์บอกว่า ไม่ใช่ หมายความว่า ได้พระองค์นี้มาประจำอยู่ที่โรงพยาบาลเลย แน่ๆ ผู้เขียนก็ได้แต่หัวเราะด้วยความไม่เชื่อ เพราะตกลงแค่ไปยืม เมื่อไปกราบท่านเจ้าคุณ ก็เรียนท่านว่า ขอยืมไปจนเสร็จกิจ เมื่อสมเด็จพระเทพฯเสด็จแล้ว ก็จะรีบนำมาคืน แล้วก็นำพระมาที่โรงพยาบาลวังทอง

มีเกร็ดเล็กน้อย พอให้ตื่นเต้นตรงนี้ว่า เมื่อพระมาถึง พี่ประสิทธิ์ พขร. เจ้าของรถปิ้กอัพใหม่คันที่ไปรับพระ ได้แอบเล่นสนุกเขียนเลขท้ายรถ เหน็บไว้ที่องค์พระ เมื่อยกพระประดิษฐานที่แท่นเรียบร้อย ก็ทำทีเป็นตื่นเต้นที่หลวงพ่อให้เลขเด็ด ทุกคนในโรงพยาบาลรู้เรื่องดีจึงไม่มีใครเชื่อ แต่คนงานที่จ้างมาทำสวนจากแถวโป่งปะ ไม่รู้ความจึงพากันนำเลขเด็ด (ถ้าจำไม่ผิดเป็นเลข 29-92 นี่แหละ) ไปแทงหวยใต้ดิน ผลปรากฏว่า ไม่น่าเชื่อ ที่หวยออกตามนั้น ทำเอาคนโรงพยาบาลบ่นเสียดายไปตามๆกัน

หลังจากสมเด็จพระเทพฯ เสด็จกลับ ได้วันเดียว ผู้เขียนสั่งให้เตรียมนำพระพุทธรูปไปคืน และในวันที่ ๙ กันยายน นั่นเอง ได้รับโทรศัพท์แจ้งจากท่านเจ้าคุณว่า ไม่ต้องคืนแล้ว ยกให้โรงพยาบาลเลย เป็นที่ประหลาดใจมาก

ทำให้นึกถึงบทความของ ท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลสันป่าตอง จ.เชียงใหม่ (นพ.พิษณุ รักสกุลกานต์) เรื่องการจัดหาพระประจำโรงพยาบาลสันป่าตอง ที่คุณหมอพิษณุและคณะได้ไปหาบูชาพระพุทธรูปในกรุงเทพฯ หาจนทั่วไม่ถูกใจ ในที่สุดได้พระพุทธรูปที่อยู่ในมุมมืด ซึ่งแม้แต่เจ้าของร้านก็นึกไม่ถึง คุณหมอพิษณุ ได้อ้างอิงคนโบราณว่า พระท่านเลือกที่อยู่ของท่านเอง ซึ่งผู้เขียนรู้สึกประทับใจมาก

จนมาเจอเข้ากับตัวเอง ก็เชื่อว่า พระพุทธชินราชจำลององค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่หน้าโรงพยาบาลวังทองในทุกวันนี้ ท่านก็เลือกที่อยู่ของท่านเองเช่นกัน


[โพสต์ครั้งแรก ที่ Recall Gotoknow 22 ก.ค. 2550 12:12]

วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

อยากจำกลับลืม


บางสิ่งที่อยากจำเรากลับลืม บางสิ่งที่อยากลืมเรากลับจำ
คนเรานี้คิดให้ดีก็น่าขำ อยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ
อดีตที่ผ่านไปไม่กลับมา ช่างเจ็บปวดอุราเรากลับจำ
คนเรานี้คิดให้ดีก็น่าขำ อยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ
ถ้าลืมความหลังได้ ใจจะเปี่ยมสุข ไม่มีความทุกข์คอยปลุกคอยตำ
คนเรานี้คิดให้ดีก็น่าขำ อยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ
ยามอ่านท่องหนังสือเรากลับลืม เรื่องโศกเรื่องเศร้าซึมเรากลับจำ
คนเรานี้คิดให้ดีก็น่าขำ อยากจำกลับลืมอยากลืมกลับจำ
(จาก อยากลืมกลับจำ ของ ฮอทเปปเปอร์)

มีเรื่องจำนวนไม่น้อย ที่เราควรจะจำ แต่ไม่ได้บันทึกไว้ เราจึงลืมเลือนไปเนื่องจากสมองมีหน่วยความจำจำกัด จึงควรต้องรีบบันทึกเอาไว้ ก่อนที่จะลืม

Blog อยากจำกลับลืม (Recall) นี้ จึงเป็นการที่ผู้เขียน พยายามเรียกความจำเก่าๆ ที่เริ่มจะลืมเลือนให้กลับมา และบันทึกไว้ เพื่อการค้นหาในอนาคต (ก่อนที่จะแก่ไปมากกว่านี้ ก่อนที่ Alzheimer จะถามหา)

บางความจำอาจไม่ใช่ความจำของผู้เขียนเอง แต่ก็เป็นเรื่องขององค์กร หรือหน่วยงานที่ผู้เขียนเคยมีความสัมพันธ์ด้วย และเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรจดจำ และยังพอจะสืบค้นจากบุคคลที่ยังมีความจำอยู่ 
(หมายเหตุ  เว้นไว้แต่สิ่งที่  อยากลืมกลับจำ ที่ยิ่งไม่อาจบันทึกให้เจ็บปวดอุรา)

(หมายเหตุ 2 วันนี้เป็นวันครบรอบ 1 ปีที่ผู้เขียนเข้ามาสมัครใช้ Gotoknow จึงขอถือโอกาส ทบทวนความจำด้วยการบันทึก อยากจำกลับลืม หลังจากที่เปิดบล็อกทิ้งไว้นานแล้ว)


[โพสต์ครั้งแรก ที่ Recall Gotoknow 21 กรกฎาคม 2550 21:23]

วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

เมื่อไรจะเลิกถอดรองเท้า


เมื่อไปที่สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลหลายแห่ง แล้วต้อง ถอดรองเท้า เพื่อเข้าไปติดต่อหรือใช้บริการ ทั้งนี้คงเนื่องมาจากเพื่อต้องการลดเวลาในการทำความสะอาดพื้น (ขณะที่เจ้าของสถานที่ มักจะใส่รองเท้าพิเศษของตน)

ผู้เขียนมักจะมีความรู้สึกเสมอว่า เท้าของเราสะอาดกว่าพื้นนั้นมากนัก และมักระแวงว่าอาจสัมผัสเอาเชื้อโรคจากสถานบริการสุขภาพนั้น ๆ ติดกลับบ้านไปด้วย ไม่มากก็น้อย

สถานบริการสุขภาพ ไม่ว่าที่ไหนย่อมมีเชื้อโรคร้ายมากกว่าบ้านเรือนที่อยู่อาศัยทั่วไป และเชื้อโรคเหล่านั้นก็มักจะดุ คือรุนแรงและมีโอกาสดื้อยา มากกว่าเชื้อชนิดเดียวกันทั่ว ๆ ไป

หากเจ้าของสถานบริการสุขภาพ จะได้ทบทวนแนวปฏิบัติเรื่องการทำความสะอาดพื้น กับการถอดรองเท้าเสียใหม่ ก็คงจะดีไม่น้อย

หมายเหตุ
1. กรณีนี้ยกเว้น มิได้หมายถึง เขตปลอดเชื้อ หรือ กึ่งปลอดเชื้อ ที่มีระบบจัดการชัดเจนอยู่แล้ว
2. น่าเป็นห่วงเพิ่มขึ้น เมื่อเป็น ห้องสุขาสาธารณะ ที่บังคับให้ผู้ใช้บริการต้องถอดหรือเปลี่ยนรองเท้าก่อนใช้บริการ

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Gotoknow Blog Office 06 กรกฎาคม 2550 16:23]

คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น


ทำไม คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น

เพราะ เล่นหวย ไม่ต้องใช้ความคิด


แต่เล่นหุ้น ต้องมีกระบวนการคิด การวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจ


จน จึงไม่มีอารมณ์ ไม่มีจิตใจ จะใช้สมองคิดในวิเคราะห์ปัญหา


รวย จึงมีเวลาในการใช้สมองและปัญญา


ต้องแก้ที่จนก่อน เมื่อหายจน จึงจะมีความคิดสร้างสรรตามมา




[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๖ ก.ค. ๒๕๕๐,๑๑:๒๔:๒๖]

[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 13 กรกฎาคม 2550 08:49]



วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ครูโง่เพราะศิษย์


ครูท่านหนึ่ง อธิบายว่า ครูทุกวันนี้โง่หรือฉลาดเพราะลูกศิษย์

ลูกศิษย์ฉลาด เป็นตัวกระตุ้นให้ครูเตรียมการสอนที่ดี

ลูกศิษย์โง่ ครูจึงไม่ต้องเตรียมตัว

ยิ่งแบ่งระดับโรงเรียน แบ่งห้องคิงส์ ห้องควีนส์ ครูที่ได้สอนห้องบ๊วย จึงโง่ตามลูกศิษย์

ห่วงแต่คุณหมอ
วันๆตรวจแต่คนไข้ ปวดหัว ตัวร้อน

รู้อีกที โง่เพราะคนไข้แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๕ ก.ค. ๒๕๕๐,๐๗:๕๕:๐๘]

[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 10 กรกฎาคม 2550 13:38]

สักแต่ว่า...


สักแต่ว่า... มีความหมายตามพจนานุกรมว่า เพียงแต่ว่า...เท่านั้น

ผู้บริหารหลายท่าน บ่นผู้ปฏิบัติงานว่า สักแต่ว่าทำ คือ เพียงแต่ว่าทำ เท่านั้น

ซึ่งน่าจะแปลชัดๆว่า การทำโดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ นั่นเอง

ระวังจะโดนลูกน้องย้อนให้ ที่ต้อง สักแต่ว่าทำ ก็เพราะท่าน สักแต่ว่าสั่ง นั่นแหละเจ้านาย


[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๕ ก.ค. ๒๕๕๐,๐๗:๔๘:๐๓]
[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 06 กรกฎาคม 2550 12:10]

วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2550

ไฟสุมขอน กับ ไฟไหม้ฟาง


ไฟสุมขอน และ ไฟไหม้ฟาง เป็นสำนวนไทยที่เกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึก

ไฟสุมขอน หมายถึง อารมณ์ร้อนรุ่มที่คุกรุ่นอยู่ในใจ

ไฟไหม้ฟาง หมายถึง อารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างวู่วามสักพักหนึ่งแล้วก็หายไป

แต่หากจะเอามาเปรียบเทียบการทำงาน
การทำงานแบบ ไฟสุมขอน คือ การทำแบบไม่ยอมจบ เรียกว่า ทำแบบเกาะติดกับงาน
ส่วนทำงานแบบไฟไหม้ฟาง คือ การทำแบบวูบเดียว ได้รับคำสั่งอะไรมา ก็ทำให้จบๆไป เป็นคนประเภทสมาธิสั้นนั่นเอง

ที่ซ้ำร้าย หลายคนแถม ทำแบบ ไฟจุกตูด ให้ด้วยต่างหาก


[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๒๖ มี.ค. ๒๕๕๐,๑๓:๒๔:๕๑]
[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 05 กรกฎาคม 2550 14:42]



วันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2550

สุขศึกษา กับ ประชาสัมพันธ์


สุขศึกษา(Health Education) หมายถึง กระบวนการให้ความรู้ด้านสุขภาพ

ประชาสัมพันธ์ (Public Relation) หมายถึง การติดต่อสื่อสารเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันถูกต้องต่อประชาชน

หน่วยงานสาธารณสุข มักเอาคำสองคำนี้มาใช้ร่วมกันเป็น สุขศึกษาประชาสัมพันธ์ เมื่อทำงานไป ก็มักลืมเลือน งานสุขศึกษา เน้นแต่ งานประชาสัมพันธ์ ซึ่งก็เน้นเฉพาะด้าน สื่อมวลชน เป็นส่วนใหญ่

ทั้งที่ ความสำคัญของกระบวนการป้องกันโรค ควบคุมโรค ตลอดจน รักษาโรค อยู่ที่ การให้สุขศึกษา(Health Education)

แต่การให้สุขศึกษา มันไม่ เป็นข่าว มันไม่ดัง

ผู้รับผิดชอบงานทุกงานคงต้องทบทวน บทบาทภารกิจ ให้ชัดเจนว่าทุกงานควรสนใจการให้ความรู้ความเข้าใจในด้านสุขภาพ คือ การให้ความรู้ในการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การควบคุมโรค และ การรักษาโรค ซึ่งก็คือ การให้สุขศึกษา(Health Education) นั่นเอง ท่านจึงจะสามารถ สร้างสุขภาพ และ ซ่อมสุขภาพได้อย่างยั่งยืน

ส่วนผู้รับผิดชอบงานสุขศึกษาประชาสัมพันธ์ หากไม่สามารถทำบทบาทด้านสุขศึกษาได้ ก็น่าจะปรับเปลี่ยนภารกิจเป็น งานประชาสัมพันธ์ เดี่ยวๆ หรือเปลี่ยนชื่อเป็นงานลูกค้าสัมพันธ์เหมือนกับเอกชนให้มันรู้แล้วรู้รอดไป

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Gotoknow Blog Office 11 มกราคม 2550 13:13]

ศีล กับ ธรรม


มีคำถามว่า อะไรสำคัญกว่ากัน ระหว่าง ศีล กับ ธรรม

แทบทุกศาสนา ให้ความสำคัญกับ ศีล หรือข้อห้าม มากกว่า ธรรม หรือข้อควรปฏิบัติ

เพราะ ธรรม ไม่จูงใจให้ปฏิบัติตามได้ง่าย

เพียงแต่ละเว้นข้อห้ามใน ศีล ก็รู้สึกว่าได้ทำความดี

การพยายามใช้แรงจูงใจ เช่น การให้รางวัล จึงทำให้งานสำเร็จยาก ในคนหมู่มาก

การใช้มาตรการลงโทษ อาจทำงานให้สำเร็จได้ง่ายกว่า

เพราะ เมื่อรักษาศีล ธรรมก็จะบังเกิดขึ้น(เป็นอัตโนมัติ)



[โพสต์ครั้งแรก เมื่อ ๑๑ ม.ค. ๒๕๕๐,๐๙:๐๘:๒๘]
[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 11 มกราคม 2550 09:32]


วันพุธที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2550

ลูกค้าคือปีศาจ


ลูกค้าคือปีศาจ เป็นแนวคิดของ ฟุคุดะ ฮิเดโอะ แห่ง มหาวิทยาลัยโยโกฮามา ซึ่งเป็นแนวคิดที่ converse กับแนวคิดเดิมของนักการตลาดที่กล่าวเสมอว่า ลูกค้าคือพระเจ้า

เพราะ ลูกค้าไม่เคยดีกับเราเลย ไม่เคยเข้าใจความรู้สึกเราเลย บริการดีเท่าไรก็ไม่เคยพอใจ มีแต่ความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุด บริการอย่างเดียวกัน วันนี้อาจพอใจ แต่พรุ่งนี้อาจไม่พอใจ นอกจากนั้นยังไม่เคยอภัยให้เรา บริการดีมาตลอด หากพลาดเพียงครั้งเดียว ลูกค้าจะจัดการเราทันที

ไม่เหมือนพระเจ้า ที่ทรงมีเมตตา ทำผิดก็ทรงให้อภัยเสมอ

ลูกค้าจึงไม่ใช่พระเจ้า แต่ ลูกค้าคือปีศาจโดยแท้ 

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า เราจะทำอย่างไรให้ปีศาจพอใจ

ใครมีวิธีดีๆบ้าง กระซิบหน่อย (โดยเฉพาะลูกค้าภายในองค์กร ที่อยู่เหนือเราขึ้นไป) 


[Ref.0010 500110 ลูกค้าคือปีศาจ รังสรรค์ เลิศในสัตย์ ISBN 974-9569-40-7]



[โพสต์ครั้งแรก ที่ Notes on Weblog Gotoknow 10 Jan 2550 15:38]